"น้ำท่วม" ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง และทุกครั้งย่อมสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน และสภาพจิตใจทั้งสิ้น ซึ่งหลังจากน้ำลดแล้วก็ยังคงทิ้งร่องรอยความเสียหายให้เราต้องมาตามแก้ไข ทั้งการซ่อมแซม และปรับปรุงที่พักอาศัย เพื่อให้กลับมาน่าอยู่และใช้ได้ดังเดิม วันนี้เรามีวิธีในการซ่อมแซม และตรวจเช็คบ้านหลังน้ำท่วมเบื้องต้นก่อนที่จะเรียกช่างผู้มีประสบการณ์เข้ามาปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดต่อไปมาฝากกันค่ะ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
1. ตรวจสอบระบบไฟฟ้า
สอบถามการไฟฟ้า : ก่อนเข้าสํารวจที่พักอาศัยควรสอบถามการไฟฟ้าในพื้นที่ว่ามีการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่หรือไม่ โดยสอบถามได้ที่ เบอร์ Call Center การไฟฟ้านครหลวง 1130 หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1129 หากมีการจ่ายไฟฟ้าแล้วต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ปิดคัดเอาท์ : ต้องทำการปิดคัดเอาท์ หรือเบรกเกอร์หลักของบ้าน พร้อมทั้งเขียน หรือแขวนป้าย "ห้ามจ่ายไฟ" ที่แผงไฟฟ้าหลักของบ้านป้องกันคนมาปิดคัดเอาท์ หลังจากนั้นถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านออกทั้งหมด หากเต้ารับ สวิตซ์ และหลอดไฟ เปียกน้ำหรือชำรุดเสียหายให้เปลี่ยนใหม่โดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรลงมือทำเองเพราะมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้
2. สำรวจภาพรวมของบ้าน พร้อมจดบันทึกรายการซ่อมแซม
ควรเริ่มต้นจากการสำรวจรอบๆ บริเวณบ้าน หลังจากนั้นจึงเข้าไปสำรวจตัวบ้านภายนอก และจึงค่อยเข้าไปสำรวจภายในบ้านที่ละส่วน ในขณะที่สำรวจแนะนำให้ถ่ายภาพ จดบันทึกรายการซ่อมแซม หรือทำสัญลักษณ์ระบุตำแหน่งลงบนผัง พื้นบ้าน หรือจุดที่ต้องการแก้ไขจะได้ไม่พลาด
สำรวจรอบๆ บริเวณบ้าน : ควรเก็บเศษขยะที่ลอยมาในระหว่างน้ำท่วม หลังจากนั้นให้ลอกท่อหรือตักตะกอนดินออกจากท่อ รวมถึงการทำแนวกำแพงกันดินปิดล้อมพื้นที่เพื่อกั้นกักเก็บดินเดิมเอาไว้ หรือจะใช้การฉีดโฟมซีเมนต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวให้ไหลไปเติมเต็มช่องว่างใต้บ้านแทนก็ได้
ต้นไม้ในสวน : สําหรับต้นไม้ขนาดเล็กที่จมอยู่ใต้น้ำอาจจะต้องปลูกใหม่ ส่วนต้นไม้ขนาดกลางและขนาดใหญ่รากอาจจะไม่แข็งแรงจําเป็นต้องใช้เวลาฟื้นตัว ไม่ควรให้ปุ๋ยในช่วงนี้ และยังไม่ควรอัดดินลงไปเพิ่ม ควรแก้ไขด้วยการหาอุปกรณ์มาค้ำยันลําต้นเอาไว้ แล้วรอจนรากต้นไม้แข็งแรงจึงค่อยนำที่ค้ำยันออก
แต่งตัวให้รัดกุมก่อนเข้าสำรวจ : ควรสวมกางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบพื้นยาง สวมหมวกนิรภัย สวมถุงมือยางกันไฟดูดก่อนเข้าไปสำรวจความเสียหายภายในบ้านทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
3. ตรวจสอบโครงสร้างและงานระบบอาคาร
กําแพงรั้วบ้านที่แช่น้ำเป็นเวลานานอาจเกิดปัญหาดินอ่อนตัว หากพบว่ารั้วมีการเอียงเพียงเล็กน้อย แนะนําให้หาวัสดุมาค้ำยันไว้ก่อน แล้วค่อยติดต่อช่างผู้ชํานาญเข้ามาปรับปรุงแก้ไขในทันที แต่หากรั้วมีความเอียงมากหรือล้มไปแล้ว ให้ดําเนินการสกัดช่วงของกําแพงรั้วที่ล้มออกเพื่อป้องกันการดึงให้กําแพงที่ยังสมบูรณ์เสียหายตามไปด้วย และติดต่อช่างเข้ามาแก้ไขต่อไป รวมไปถึงโครงสร้างเสา คาน พื้น และผนังบ้าน ที่มีรอยแตกร้าวลึก ล้มเอียง ทรุดตัว แนะนำให้ปรึกษาแนวทางการซ่อมแซมกับวิศวกรโยธา หรือทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาดำเนินการ
4. สำรวจวัสดุกรุผิวอาคาร
วัสดุปูพื้นและผนัง : มักจะเกิดปัญหาสีโป่งพองหลุดร่อน เบื่องต้นต้องเช็ดล้างทำความสะอาดเอาตะไคร่น้ำและคราบสกปรกออกให้หมด หลังจากนั้นทาน้ำยาฆ่าเชื้อรา และน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำบนผนังบ้านทั้งภายในและภายนอก แล้วทาสีจริงทับอีกชั้น หากน้ำท่วมถึงระดับฝ้าเพดาน ก็ควรรื้อฝ้าเพดานยิปซั่มทิ้งทั้งหมดไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่เพราะจะเกิดปัญหาเปื่อยและขึ้นราตามมาได้
บานประตู หน้าต่างไม้จริง : มักจะเกิดการบวม บิดโก่งเสียรูป ควรรอให้ความชื้นลดลงหรือรอให้ไม้แห้งก่อน จากนั้นถอดบานประตู หน้าต่างไม้ออก และนำไปไสตัดแต่งแก้ไขการบิดโก่งตัว แล้วทาด้วยน้ำยาเคลือบไม้ เพียงแค่นี้ก็สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้แล้ว
มือจับ ลูกบิด กลอน : ในกรณีที่มือจับ ลูกบิด หรือกลอนล็อคประตูเป็นสนิมจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้แนะนำให้เปลี่ยนใหม่
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงและให้ความสำคัญที่สุดขณะที่ทำการสำรวจและซ่อมแซมบ้านคือ "ความปลอดภัย" สิ่งไหนที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ขอย้ำอีกครั้งว่าควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่าง และของสิ่งไหนที่มันชำรุดแล้วก็ไม่ควรเสียดาย หรือฝืนใช้ต่อไป เพื่อความปลอดภัยและกลับเข้าพักอาศัยในบ้านได้อย่างสบายใจ