คลินิกบ้านไม้ไผ่ พื้นที่ธรรมชาติที่คุณหมออยากให้ผู้ป่วยรับความรู้สึกสงบสบาย
พอเห็นแล้วก็รู้สึกหลงรักขึ้นมาทันที หลายๆ คนคงอยากมีบ้านแบบนี้บ้างใช่มั้ยละค่ะ Checkraka.com เลยขอแชร์บทความดีๆ จาก
www.baanlaesuan.com มาให้ได้ชมกัน บ้านไม้ไผ่หลังนี้เป็นบ้านพักและคลินิกของคุณหมอนพ-นพรัตน์ บิดจันทึก และคุณพิ้งค์-กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ ภรรยาสาว ที่ตั้งใจเปิดคลินิกในคอนเซ็ปต์ธรรมชาติบำบัด อยากให้ผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาได้รับความรู้สึกสงบสบาย ทั้งแสง ลม ต้นไม้ และอยากให้ผู้ป่วยหรือญาติที่มาไม่รู้สึกเกร็งเหมือนเวลาไปโรงพยาบาลทั่วไป
คุณพิ้งค์เล่าว่า "เราตระเวนหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามที่เราต้องการ ประจวบกับคุณแม่ของพิ้งค์เคยซื้อที่ดินที่ปากช่องเก็บไว้ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่ารกร้าง ก่อนจะช่วยกันถางป่า ปูหญ้าใหม่และปลูกต้นไม้ไว้ เพื่อจัดงานแต่งงาน เราจึงผูกพันกับที่แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น เราสองคนก็เลยตัดสินใจปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย และย้ายคลินิกในเมืองมาสร้างไว้ใกล้ๆ กัน"
คุณหมอนพเล่าว่า "พิ้งค์เขาชอบบ้านวินเทจสไตล์อังกฤษ ส่วนผมจะชอบทรงกล่องสี่เหลี่ยม มีช่องแสงเยอะๆ ซึ่งในตอนแรกที่คุยกันว่าจะออกแบบมารูปแบบไหนเราก็ค้นข้อมูลจากนิตยสาร เว็บไซต์ จนมาได้ทำความรู้จักกับพระที่เป็นคนไข้ ซึ่งท่านเป็นสถาปนิกที่เน้นการพัฒนา โดยนำไม้ไผ่มาทำบ้าน ทำกุฏิ ทำศาลา ผมก็เลยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับบ้านที่ท่านออกแบบไว้ ซึ่งผมกับพิ้งค์ชอบทันที หลังจากนั้นก็ไปเรียนรู้การสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่อยู่เกือบสองปี จนค่อนข้างมั่นใจว่า การสร้างบ้านไม้ไผ่นั้นสามารถอยู่ได้นาน แข็งแรง และปลอดภัย"
เมื่อพื้นที่อุดมด้วยธรรมชาติอันสมบูรณ์เอื้ออำนวยแน่นอนว่าวัสดุที่เจ้าของเลือกใช้ในการก่อสร้างจึงเป็นวัสดุธรรมชาติ โดยเลือกใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลัก ด้วยความพิเศษของไม้ไผ่ที่ทั้งหาง่าย ราคาไม่แพง แถมยังกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เจ้าของบ้านหลงรัก
ไผ่ที่เลือกใช้คละกันหลายชนิด อย่างโครงสร้างเสา คาน เลือกใช้ไผ่ตงและไผ่ซางหม่นที่มีลำขนาดใหญ่ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อย่างหลังคา ฝ้า ผนัง เลือกใช้ไผ่เลี้ยง ซึ่งมีลักษณะลำเล็กกว่าไผ่ตงและไผ่ซางหม่น บวกกับการผสมผสานวัสดุสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีปัจจุบันเสน่ห์ของบ้านหลังนี้ไม่ได้มีเพียงวัสดุที่เลือกใช้ แต่ยังรวมถึงฟังก์ชันและพื้นที่การใช้งาน โดยยกพื้นสูงขึ้นเล็กน้อยตามแนวพื้นที่ และเพื่อลดปัญหาความชื้นจากดินในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อากาศถ่ายเท พร้อมกับมีหลังคาทรงจั่ว ชายคายื่นยาวตามสไตล์บ้านไทย หากแต่ไม่ธรรมดาด้วยการดีไซน์ผนังกรุไม้ไผ่เป็นระแนงทั้งแนวตั้งและแนวนอนสลับกับหน้าต่างและช่องแสงคละกันไป ทำหน้าที่คอยรับลม สร้างให้บ้านมีสภาวะน่าอยู่
สิ่งแรกที่คุณพิ้งค์คิดคือ บ้านไม้ไผ่มันดูไม่มั่นคง ไม่เหมือนบ้านปูนที่เราเคยอยู่มาพอเริ่มก่อสร้าง วางคาน และขึ้นโครง ก็แอบลุ้นว่าจะรอดไหม ทำไปแล้วก็กังวลต่างๆ นานา เพราะคนรอบข้างไม่มีใครสนับสนุนเลย พระอาจารย์ท่านก็ให้กำลังใจแต่พอบ้านหลังนี้สร้างเสร็จก็ทำให้เรายิ่งมั่นใจมากขึ้น
ทั้งคู่ต้องการพื้นที่ภายนอกพอๆ กับพื้นที่ภายใน บ้านหลังนี้จึงมีชานโล่ง มีระเบียงบนชั้น 2 และสนามหญ้ากว้างขวาง ในขณะที่ภายในออกแบบพื้นที่แบบเชื่อมต่อถึงกันหมด เริ่มจากโถงกลางที่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่มีเพดานสูงและมีชั้นลอยเท่ๆอยู่มุมหนึ่งของบ้าน ส่งผลให้บ้านดูโปร่งโล่งตามคอนเซ็ปต์ต่อเนื่องกันเป็นครัวดีไซน์เรียบง่าย ดูลื่นไหลไปกับพื้นที่ส่วนอื่นๆสามารถทำกับข้าวไปคุยไปหรือเดินไปล้อมวงกินข้าวในมุมรับประทานอาหารได้ไม่ยาก ต่อเนื่องไปยังห้องนอน ที่เจ้าของบ้านออกแบบให้อยู่บริเวณชั้นล่างเพื่อให้ง่ายต่อการอยู่อาศัย โดยแบ่งแยกห้องนอนเป็นสัดส่วนตกแต่งตามการใช้งาน จัดวางเพียงเตียงนอนและเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้นพร้อมประตูทางเชื่อมที่สามารถเดินออกไปยังระเบียงหลังบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว
คุณพิ้งค์เล่าต่อว่า "คนส่วนใหญ่อยากมีบ้านต่างจังหวัด อยู่กับธรรมชาติแต่ด้วยข้อจำกัดของหน้าที่การงานที่ต้องอยู่กรุงเทพฯ ทำให้หลายคนต้องรอจนถึงวัยเกษียณ แต่เราไม่อยากรอจนจึงอายุ 60 ปี แล้วถึงได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ เราจึงทดลองดูว่าหากย้ายมาทำงานที่นี่จะอยู่ได้ไหมซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะทั้งเสี่ยง ลึก ไกล แต่หากเรากล้าที่จะเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนความคิด ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้"
"ทุกวันนี้ถามว่าคิดถึงชีวิตที่กรุงเทพฯไหม ก็มีบ้างส่วนพิ้งค์แรกๆ เขาก็จะดูเหงาๆ ไม่ต้องพูดผมก็รู้ว่าเขาคิดถึงพ่อแม่ คิดถึงเพื่อนๆ เพราะเขาใช้ชีวิตที่นั่นมาตั้งแต่เด็กจนโต แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นทุกวันนี้คือ ทุกครั้งที่กลับกรุงเทพฯ พอไปแล้วมันวุ่นวาย รถติด กลับทำให้เขารู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงบรรยากาศที่นี่ และอยากรีบกลับมาบ้านหลังนี้ทุกที" คุณหมอนพกล่าว
ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก
www.baanlaesuan.com