ความฝันของคนอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง ย่อมปรารถนาบ้านที่มีความสวยสมบูรณ์แบบ ทั้งในแง่ของดีไซน์และการใช้งานที่แข็งแรงคงทน ถ้าจะให้มั่นใจว่าบ้านของเรา สร้างหรือออกแบบมาตรงตามสเปคที่ระบุไว้หรือไม่นั้น ก็ควร "ตรวจรับบ้าน" ก่อนจะโอนค่ะ การตรวจรับบ้านหรือตรวจหาจุดบกพร่องเพื่อให้ทางโครงการแก้ไขก่อนโอนนั้น มีวิธีอย่างไรบ้างไปดูกันค่ะ
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมคือ
- ไฟฉาย
- สายชาร์จโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ทดสอบไฟ
- ขนมปัง (เลี้ยงปลา) ใช้ทดสอบแทนมูลในชักโครก
- กระดาษและปากกา เพื่อจดรายการที่ต้องแก้ไข
- ลูกแก้วหรือลูกปิงปอง เพื่อใช้เช็คระดับความลาดเอียงของพื้น
- กล้องถ่ายรูป เพื่อบันทึกจุดที่ต้องแก้ไขเก็บไว้เป็นหลักฐาน
การตรวจสอบควรดูอย่างถี่ถ้วนทั้งภายนอกและภายใน ตั้งแต่ระบบโครงสร้าง, หลังคา, ผนัง, ฝ้าเพดาน, ระบบน้ำ, ระบบระบายน้ำ, ระบบไฟ, วงกบกรอบบานประตู-หน้าต่าง, งานสีภายนอกภายใน รวมถึงเช็คตรวจสภาพความเรียบร้อยโดยรวมทั้งหมด รายละเอียดในการตรวจสอบจุดต่างๆ มีดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบภายนอกตัวบ้าน
เดินดูสภาพรอบๆ บ้าน ตรวจระดับแนวดิ่ง ฉาก ความลาดเอียงของท่อระบายน้ำ, ท่อประปา, ถังบำบัด, ท่อน้ำทิ้ง, ท่อน้ำดี ว่ามีระยะความลาดเอียงเป็นอย่างไร ระบายน้ำได้ดีหรือไม่
2. ระบบโครงสร้างอาคาร
ตรวจเช็คความลาดเอียงของพื้นว่ามีน้ำขังหรือไม่ รวมถึงรอยร้าวต่างๆ เพราะโครงสร้างถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะบริเวณพื้น คาน เสา และผนัง ไม่ควรมีรอยแตกร้าวหรือเป็นโพรง
3. ระบบผนังและฝ้าเพดาน
ดูบริเวณรอยต่อรอยชนของผนัง ตลอดจนพื้นผิวที่ฉาบเสร็จควรมีความเรียบเนียนเสมอกัน สีที่ทาหลุดร่อนหรือไม่ ตรวจดูรอยแตกรอยร้าวตามผนัง ส่วนฝ้าเพดานสังเกตได้จากความเรียบร้อยในการเข้ามุม หากพบร่องรอยหยดน้ำ แสดงว่ามีการรั่วซึมจากรอยต่อต่างๆ
4. ตรวจสอบระบบช่องเปิด
ตรวจสอบบานประตู-หน้าต่าง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กุญแจ, บานพับ, กลอนประตู ว่าติดตั้งได้แนวระดับที่ถูกต้องหรือไม่ การปิด-เปิดสนิทดีหรือไม่ ทดลองกลอนทุกตัว ดูการยาแนว ตรวจดูความเรียบร้อยของกระจกกับบานประตู หน้าต่างทุกบาน ตลอดจนตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมจากน้ำฝน บริเวณขอบประตูและหน้าต่างหรือไม่
5. ระบบไฟฟ้า
ตรวจสอบสวิตช์ไฟทุกจุดด้วยการทดลองเปิดปิดหลายๆ ครั้ง เช็คปลั๊กไฟโดยนำสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ ลองเสียบดูว่าทุกเต้าเสียบสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ รวมถึงถ้ามีระบบตัดไฟให้ลองทดสอบดูด้วยการหมุนปุ่มทดสอบดู 2-3 ครั้งว่าปุ่มหมุนอยู่ที่ศูนย์หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ให้หมุนไปที่ปุ่มศูนย์ ถ้าไฟดับแสดงว่ามีไฟรั่วในจุดใดจุดหนึ่ง
6. ระบบสุขาภิบาล
เปิดเช็คน้ำจากก๊อกและฝักบัวทุกตัวให้ครบ เพื่อดูว่าน้ำไหลดีหรือไม่ เช็คการหมุนของวาล์ว เช็คหารอยรั่วด้วยการปิดก๊อกน้ำทุกตัว ถ้าวาล์วยังหมุนหรือปั๊มน้ำยังทำงาน แสดงว่ามีการรั่วซึมอย่างแน่นอน จากนั้นเช็คระบบน้ำล้นในสุขภัณฑ์บริเวณอ่างล้างหน้า, อ่างอาบน้ำ, อ่างล้างจาน ทดลองขังน้ำไว้ให้เต็มดูว่าช่องน้ำล้นทำงานหรือไม่ แล้วค่อยปล่อยน้ำออกเพื่อดูว่าน้ำไหลได้สะดวก ถ้าพบอาการปุดๆ แสดงว่าไม่มีท่ออากาศ หรือท่ออากาศตัน รวมถึงทดลองกดชักโครกด้วยการเอาขนมปังที่เตรียมมาเพื่อแทนมูล แล้วกดน้ำทิ้งว่าใช้งานได้ดีไม่มีการอุดตัน
7. วัสดุงานสถาปัตยกรรม
เป็นการตรวจสอบเรื่องคุณภาพของวัสดุที่เกี่ยวกับความสวยงาม เช่น พื้นกระเบื้องชั้นล่าง พื้นลามิเนตชั้นบน ว่าปูได้ระดับหรือไม่ โดยการเอาลูกแก้วมาวางดู ถ้าไม่กลิ้งก็แสดงว่าได้ระดับ และเดินดูว่าพื้นกระเบื้องเดินแล้วสะดุดหรือไม่ พื้นลามิเนตมีเสียงหรือไม่ นอกจากนี้ให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานบันได ด้วยการเดินว่ามีเสียงดังหรือไม่ งานประตู หน้าต่าง และอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทดสอบด้วยการเปิด-ปิดซ้ำๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัสดุต่างๆ มีคุณภาพและความแข็งแรงเพียงพอ
ปัจจุบันผู้ประกอบการบางรายพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อลดความยุ่งยากในการตรวจรับบ้านให้ลูกค้า อย่างเช่น พฤกษา เรียลเอสเตท ที่มีนวัตกรรม "ตรวจรับบ้านอัจฉริยะ (i-Inspection)" เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับบ้านให้กับลูกค้า โดยสามารถบันทึกความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ตรวจสอบได้ง่าย และทำให้ส่งมอบบ้านได้รวดเร็ว ก่อนจะทำการโอนบ้านควรตรวจสอบให้แน่ใจเพื่อจะได้ย้ายเข้าอยู่บ้านใหม่ได้อย่างมีความสุขนะคะ