บ้านคือที่สุดของสินทรัพย์ที่ทุกคนอยากมีไว้ครอบครอง น้องๆ รุ่นใหม่หลายคนมีความตั้งใจอยากซื้อบ้านเป็นของตัวเองให้ได้ก่อนอายุ 30+ ถือเป็นความตั้งใจดีที่น่าส่งเสริม คิดได้ก่อนก็เริ่มได้เร็ว คนที่เริ่มกู้ซื้อบ้านเร็วก็จะมีระยะเวลาในการผ่อนส่งค่างวดได้นานกว่า (สูงสุด 30 ปี) ทำให้ภาระค่างวดรายเดือนไม่หนักมาก แถมถ้าซื้อประกันชีวิตคุ้มครองการส่งค่างวดบ้าน เบี้ยประกันก็จะมีราคาที่ถูกกว่าคนที่กู้ซื้อบ้านตอนอายุเยอะ CheckRaKa.com ส่งเสริมความคิดดีๆ ขอร่วมแชร์ขั้นตอนที่จะทำให้คุณกลายเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้ก่อนอายุ 30+ ค่ะ
1. เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมาย และประเมินตัวเอง
ตั้งเป้าหมาย ด้วยการหาข้อมูล ราคาบ้านคร่าวๆ ในแบบที่เราอยากได้ โดยเลือกวิเคราะห์ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกและความต้องการของเรา เช่น อยากได้บ้านแบบไหน บ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม ซึ่งถ้าเป็นทาวน์โฮม ราคาก็มักจะถูกกว่าบ้านเดี่ยว ทำเลที่เราต้องการก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ใกล้ที่ทำงานหรือเดินทางได้สะดวก พอทราบว่าเราต้องการเลือกซื้อบ้านแบบไหนแล้ว เราก็จะพอทราบราคาบ้านคร่าวๆ ทำให้รู้เป้าหมายและทราบจำนวนเงินก้อนคร่าวๆ ที่เราต้องเก็บเพื่อใช้ดาวน์บ้าน ซึ่งเป็นเงินก้อนประมาณ 10-20% ของราคาบ้าน อย่างใครที่อยากซื้อบ้านราคา 1 ล้าน ก็ควรเก็บเงินดาวน์ให้ได้ที่ 1-2 แสนบาท เงินจำนวนนี้ยิ่งเก็บได้มากก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยลดภาระในการผ่อน และเพิ่มโอกาสในการยื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคารค่ะ
ประเมินตัวเอง นอกจากเก็บเงินก้อนในการดาวน์บ้านให้ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้แล้ว การยื่นกู้เพื่อขอซื้อบ้านกับทางธนาคารให้ผ่านนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยในการพิจารณา ซึ่งส่วนนึงก็คือคุณสมบัติ และระดับรายได้ประจำของผู้ยื่นกู้ ดังนั้น ณ วันที่ต้องการยื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร เราจึงต้องประเมินตัวเองว่าเราสามารถซื้อบ้านได้ในระดับราคาแค่ไหน และผ่อนได้เท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งเบื้องต้นธนาคารจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามนี้ค่ะ
✔️ธนาคารให้วงเงินกู้ 15-40 เท่าของรายได้ เช่น รายได้ 15,000 บาท จะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ที่วงเงิน 6-8 แสนบาท
✔️ค่างวดที่ทางธนาคารกำหนดให้ชำระต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 25-30% ของรายได้ เช่น รายได้ 20,000 บาท ธนาคารจะประเมินว่าคุณมีความสามารถในการส่งค่างวดต่อเดือนที่ 5,000 - 6,000 บาท
✔️ธนาคารมักจะอนุมัติวงเงินเงินกู้ประมาณ 70-80% ของราคาประเมินบ้านที่เราจะกู้ซื้อ
✔️ระยะเวลาการให้กู้สูงสุดอยู่ที่ 30 ปี ยิ่งกู้นานค่างวดที่จ่ายรายเดือนก็จะถูกกว่าการกู้ระยะสั้น แต่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยสูงไปด้วย
✔️อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับจำนวนปีที่ขอกู้แล้ว ต้องไม่เกิน 70 ปี
✔️ถ้าขอยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารไม่ผ่านเพราะรายได้ไม่สูงพอกับวงเงินที่ต้องการกู้ เราสามารถหาผู้ยื่นกู้ร่วม ซึ่งควรเป็นคู่สมรส บิดามารดา บุตร หรือพี่น้องร่วมสายเลือดที่มีนามสกุลเดียวกัน
2. วิเคราะห์รายรับ-รายจ่าย และเก็บเงินให้ได้ทุกเดือน
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะทำให้ตัวเราทราบว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับ-รายจ่ายที่แท้จริงเท่าไหร่ ส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นก็จะได้ตัดทิ้งหรือใช้ให้น้อยลง ทำให้เรามีวินัยในการใช้เงินและที่สำคัญเราจะรู้ถึงจำนวนเงินที่สามารถเก็บได้จริงในแต่ละเดือน เงินตัวนี้มาจากเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายจำเป็น จะเป็นประโยชน์มากต่อการวางแผนเก็บเงินและลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินค่ะ
สูตรพื้นฐานการออม วิธีออมเงินที่ถูกต้อง | วิธีออมเงินที่ผิด |
รายได้ - เก็บเงินออม = ค่าใช้จ่าย | รายได้ - เอาไปใช้จ่าย = เงินออม |
3. จริงจังกับการเก็บออมโดยแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนเพื่อเก็บและลงทุน
เมื่อทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำ จนรู้ถึงจำนวนเงินของภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและจำนวนเงินที่เราจะเก็บได้จริงแล้ว การจะบรรลุเป้าหมายเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านให้ได้ก่อน 30+ นั้น น้องๆ ควรจะมุ่งมั่นเก็บเงินควบคู่ไปกับการลงทุนสร้างผลตอบแทนเพื่อเป้าหมายทำให้เงินโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3% ต่อปี) เพราะการเลือกเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารได้ดอกเบี้ยต่ำ การฝากธนาคารอย่างเดียวจึงทำให้เงินออมของเรามีค่าน้อยลงเรื่อยๆ
ปีแรกตั้งใจเก็บเงินให้ได้เป็นก้อนเพื่อนำเงินไปลงทุน โดยให้น้องแบ่งเงินจากรายได้ประจำออกเป็นสองส่วน เช่น กรณีที่น้องเพิ่งเริ่มทำงานเงินเดือนสตาร์ท 15,000 บาท หักประกันสังคม 750 บาท คงเหลือ 14,250 บาท อยู่อาศัยกับที่บ้าน ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายอะไรก็น่าจะสามารถเก็บเงินได้เต็มที่ ให้น้องแบ่งเงินเป็นสองก้อนเท่าๆ กัน (ปรับสัดส่วนของการแบ่งเงินใช้จ่ายกับเงินออม ตามความจำเป็นของภาระค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล)
✔️แบ่งก้อนแรก 50% หรือ 7,125 บาท สำหรับจ่ายค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน
✔️แบ่งก้อนที่สอง 50% หรือ 7,125 บาท สำหรับเป็นเงินเก็บ ปีแรกให้ตั้งใจเก็บเงินอย่างเดียว 7,125 x 12 เดือน เท่ากับปีแรกสามารถเก็บได้ 85,500 บาท
✔️ในปีแรกของการทำงานเมื่อเก็บเงินก้อนแรกได้ 85,500 บาท ให้นำไปสมทบกับเงินโบนัสปลายปีที่ได้ (ถ้ามี) แล้วนำไปเลือกลงทุนในรูปแบบต่างๆ 2-3 ประเภท เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่น แบ่งนำไปฝากประจำแบบไม่เสียภาษี ซื้อพันธบัตร หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารทุน แต่อย่าเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพียงอย่างเดียวเพราะอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย
ปีที่ 2 เป็นต้นไป เก็บเงินแบบเดิมแต่แบ่งสัดส่วนของการออมเพื่อจุดมุ่งหมายต่างๆ ให้ชัดเจน ด้วยการแบ่งเงินออมไปลงทุน ตามรูปแบบต่างๆ ที่เราเลือก โดยทุกครั้งที่เงินเดือนขึ้นหรือได้โบนัสให้สมทบนำเงินเงินส่วนต่างตรงนี้ไปลงทุนเพิ่ม
ตารางตัวอย่างการแบ่งรายได้ออกเป็นสัดส่วนเพื่อเก็บเงินและลงทุน แบ่งเงิน 50% | สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (เช่น ค่ากิน, ค่าเดินทาง, ค่ามือถือ) | เลือกฝากออมทรัพย์ปกติ เพราะต้องการสภาพคล่อง |
แบ่งเงิน 10% | เงินเก็บฉุกเฉิน ให้สามารถจ่าย ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่รับผิดชอบ ได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เผื่อกรณีขาดรายได้ เช่น ตกงาน) | ฝากประจำหรือเปิดบัญชีออนไลน์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง เมื่อเก็บได้ครบตามเป้าหมาย ให้โยกสัดส่วนเงินเก็บนี้ ไปลงทุนเพิ่มตามเป้าหมายที่ตั้งใจแทน |
แบ่งเงิน 20% | เงินเก็บตามเป้าหมายที่ตั้งใจ (ใช้ดาวน์บ้านในอีก 7-8 ปีข้างหน้า) | เลือกลงทุนแบบระยะสั้นถึงกลาง - ฝากประจำแบบปลอดภาษี ครบปีที่ฝากก็ให้เอาไปลงทุนต่อ
- ซื้อพันธบัตร หรือสลากออมสิน ครบกำหนดก็ซื้อต่อไปเรื่อยๆ
- ลงทุนในกองทุนรวมรูปแบบต่างๆ
- เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ให้ทยอยซื้อกองทุน LTF
ให้ครบตามเกณฑ์ที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ (เก็บไปจนถึงปีที่เราต้องการซื้อบ้าน กรณีตัวอย่างคือใช้ตอนอายุ 30 ปี) |
แบ่งเงิน 20% | เงินเก็บเพื่อลงทุน (ศึกษาเพิ่มเติม, ให้เงินทำงานแข่งกับอัตราเงินเฟ้อ) | เลือกลงทุนแบบระยะยาว 2-3 รูปแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง - ออมในหุ้น เลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดี (ไม่ควรลงทุนในระยะสั้น)
ให้ลงทุนแบบระยะยาวด้วยการใช้เงินจำนวนเท่าๆ กัน ทยอยซื้อหุ้นสะสมเพิ่มในทุกเดือน - ซื้อกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนอสังหา
- เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ให้ซื้อกองทุน LTF, RMF
ตามจำนวนที่จะนำมาลดหย่อนภาษี - ทำประกันชีวิตในรูปแบบเงินออมสะสมทรัพย์ ระยะยาว 20 ปี
หรือแบบคืนเงินเป็นบำนาญ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ (เลือกลงทุนตามความต้องการ ในความเสี่ยงที่เรารับได้) |
4. หาทางเพิ่มรายได้ให้มีมากกว่าช่องทางเดียว
ข้อนี้อาจจะต้องดูถึงปัจจัยความจำเป็นต่างๆ ของตัวน้องๆ นะคะ เช่น หากทำงานประจำที่มีหยุดเสาร์-อาทิตย์ น้องๆ ก็อาจรับจ๊อบเสริมทำงานเพิ่มในวันหยุด หรือหารายได้พิเศษจากการขายของออนไลน์ เลือกทำในเวลาว่างให้ไม่กระทบกับเวลาทำงานประจำนะคะ ไม่อย่างนั้นแทนที่จะมีรายได้เสริมเพิ่มอีกทางจะกลายเป็นรายได้หลักหลุดหายไปแทน เมื่อมีรายได้เพิ่มน้องๆ ก็ควรจะนำเงินที่ได้ตรงนี้ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่ม นอกเหนือจากเก็บและลงทุนจากเงินเดือนประจำเพียงอย่างเดียว
5. เพิ่มทักษะ แบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่งไว้ลงทุนเพิ่มความรู้
อย่าหยุดหาความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือลงเรียนในหลักสูตรเพิ่มทักษะความสามารถในรูปแบบต่างๆ เพราะความรู้จะช่วยอัพเกรดผลตอบแทนให้เราเหมือนเป็นทางลัดที่จะทำให้เงินเติบโตเพิ่มขึ้นอีกทาง ใส่ใจเพิ่มความสามารถในการหาเงินจะช่วยทำให้เรามีความสามารถในการเก็บเงินได้สูงขึ้นค่ะ
6. อย่าสร้างภาระหนี้สิน แต่จงสร้างเครดิตทางการเงิน
พอเงินเก็บเริ่มเพิ่มพูนเป็นก้อน ทีนี้กิเลศและความอยากได้ก็จะเริ่มมา ซึ่งจุดนี้เราต้องล็อคเป้าหมายให้มั่น อย่าลืมว่าเราเก็บเงินเพื่ออะไร พยายามห้ามใจอย่าก่อหนี้ก้อนใหญ่อย่างการซื้อรถก่อน (ยกเว้นถ้าซื้อแล้วทำให้เกิดรายได้เพิ่ม) เพราะนอกจากค่าผ่อนรายเดือนขั้นต่ำ 3-5 ปีแล้ว ค่าบำรุงรักษารถยนต์ก็เป็นรายจ่ายที่มีมาตลอด และแน่นอนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเก็บเงินและการทำเรื่องขอยื่นกู้ซื้อบ้านเป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าเราจะไม่สนับสนุนให้มีหนี้ก้อนใหญ่อย่างซื้อรถ แต่การสมัครบัตรเครดิตสัก 1-2 ใบ โดยไม่ใช้จ่ายเกินตัว และชำระเต็มจำนวนทุกเดือนก็ถือเป็นการสร้างเครดิตทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้การอนุมัติกู้ซื้อบ้านจากธนาคารง่ายขึ้น เพราะธนาคารจะสามารถเช็คประวัติและดูวินัยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของเราได้ง่ายขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ไม่มี TRACK RECORD ทางด้านเครดิตเลย
7. มองหาสินเชื่อบ้านที่น่าสนใจและเรารับได้
หลักเกณฑ์คร่าวๆ ที่ต้องดู เช่น
✔️ขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง และมีความมั่นคง รวมถึงให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำที่ดี และอำนวยความสะดวกในการยื่นกู้และชำระค่างวดรายเดือน
✔️เลือกกู้กับสถาบันการเงินที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด โดยควรเลือกเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะยาว ไม่ใช่แค่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ แค่ในปีแรกเท่านั้น
✔️ควรกู้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือแบบลอยตัว โดยพิจารณาเปรียบเทียบจาก "อัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ" และ "แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหรือนโยบายสินเชื่อของสถาบันการเงินในระยะยาว" ที่ไหนให้ข้อเสนอระยะยาวที่ดีหรือให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ควรตัดสินใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็จะส่งผลทำให้เงินค่างวดรายเดือนที่เราต้องผ่อนชำระต่ำตามไปด้วย
✔️วงเงิน และระยะเวลาการกู้ แต่ละธนาคารอาจจะอนุมัติวงเงินกู้ หรือให้ระยะเวลาการกู้ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่องเงินค่างวดรายเดือน น้องๆ จึงควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย
✔️ต้องเสียค่าใช้จ่ายยังไรบ้างในการกู้เงิน เช่น ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน, ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้, ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด หากต้องการปิดบัญชีและไถ่ถอนจำนองออกไปภายในระยะเวลา 3 ปีแรกของการกู้เงิน ซึ่งแต่ละแห่งก็จะคิดค่าธรรมเนียมมากน้อยแตกต่างกัน หรือบางสถาบันก็อาจจะมีโปรโมชั่นยกเว้นหรือไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมบางตัว
หากน้องๆ ทำตามขั้นตอนการเก็บเงินและลงทุนอย่างที่พี่ๆ CheckRaKa แนะนำ พออายุครบ 30+ ก็จะมีเงินก้อนอยู่ในมือเพียงพอที่จะเลือกดาวน์บ้านได้ในระดับที่ต้องการ (ต้องดูระดับรายได้และฐานเงินเดือน ณ ตอนตัดสินใจซื้อบ้านประกอบด้วยว่าต้องใช้เงินดาวน์เท่าไหร่) เห็นมั้ยคะว่าการมีบ้านก่อนอายุ 30+ นั้นสามารถเป็นจริงได้ และไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากเกินไป ถ้ารู้จักวางแผนการใช้จ่าย เก็บออมเงินไว้เพื่ออนาคตและที่สำคัญต้องรู้จักนำเงินออมไปต่อยอดด้วยการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เงินโตแซงอัตราเงินเฟ้อที่ไม่หยุดนิ่งด้วยค่ะ