บัญญัติ 10 ประการในการลงทุนทองคำ

icon icon 3,375
บัญญัติ 10 ประการในการลงทุนทองคำ

บัญญัติ 10 ประการในการลงทุนทองคำ
1. เราชอบลงทุนสไตล์ไหน
ก่อนอื่นเราต้องรู้แนวตัวเองก่อนว่า เราเป็นนักลงทุนสไตล์ไหน คือเป็นนักลงทุนระยะยาว หรือนักลงทุนระยะสั้นแบบซื้อมาขายไปเพื่อกำไรระยะสั้น หรือเป็นนักลงทุนประเภทส่วนผสมของทั้งระยะยาวและระยะสั้น เพราะสไตล์จะเป็นตัวกำหนดปัจจัยต่อเนื่องหลายๆ อย่าง เช่น จะลงทุนเท่าไรดี จะลงทุนเองหรือลงทุนผ่านวิธีอื่นๆ เช่น กองทุนรวม หรือลงทุนในสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ระยะเวลาการลงทุนจะนานแค่ไหน หรือเราจะต้องใช้เวลาในแต่ละวันติดตามสถานการณ์ราคาจริงจังแค่ไหน เป็นต้น
"มีเป้าหมายการลงทุนในระดับหนึ่งว่าจะเป็น Long-Term หรือแค่ Make Money ระยะสั้น (หรือจะแยกเงินเป็น 2 ส่วนสำหรับแต่ละเป้าหมาย) การลงทุนแบบไม่มีเป้าหมายอาจทำให้ท่านเข้า-ออกผิดจังหวะ หรือติดดอยได้ง่ายๆ"
2. เลือกเครื่องมือการลงทุนให้เหมาะสม
การลงทุนในทองคำในบ้านเราทำได้หลักๆ 4 รูปแบบคือ (1) ลงทุนเองทางตรงโดยการซื้อทองคำจากร้านขายทองไม่ว่าจะถือเงินไปซื้อที่ร้าน หรือซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ หรือเหรียญทองคำ (2) ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ เช่น K-Gold ของกสิกรไทย หรือ TMB-Gold ของ TMB (3) ลงทุนในสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ในตลาดประเทศไทยผ่านตลาด TFEX (Thailand Futures Exchange) และ (4) ลงทุนทางอ้อมโดยการซื้อหุ้นในบริษัทที่ทำเหมืองทองคำผ่านตลาดหลักทรัพย์ (ดูรายละเอียดวิธีการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่นี่) ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีข้อดี ข้อเสียต่างกัน เราต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเรา และลักษณะการลงทุนของเราเอง
"ถ้างานประจำเรายุ่งไม่ค่อยมีเวลาก็อาจลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือถ้ามีอาม่าที่เล่นทองคำเก่งก็อาจลงทุนเล่นเองแล้วปรึกษาอาม่า หรือหากชอบเสี่ยงหรือชอบคาดเดาราคาทองคำในอนาคตก็อาจลงทุนใน Gold Futures"

3. อย่าลืมกระจายความเสี่ยง
ตามสำนวนที่หลายๆ คนชอบพูดกันว่า "Don't put all eggs in one basket." ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงเวลาราคาทองลง หรือเวลาที่ราคาผันผวนซึ่งอาจทำให้เราหมดตัวได้ถ้าการลงทุนของเรามีแต่ทองคำ พอร์ทการลงทุนของเราไม่ควรจะเป็นทองคำอย่างเดียว หรือเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป ควรมองทองคำเป็นเพียง Alternative Investment เท่านั้น เช่น บางคนอาจกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเป็นหลายรูปแบบ (Diversification) และทองคำเป็นส่วนหนึ่ง เช่น ทองคำแท่ง 20% กองทุน 20% หุ้น 20% พันธบัตร 30% ฝากธนาคาร 10% เป็นต้น
"Don't put all eggs in one basket." 
4. ศึกษา และลงทุนด้วยเงินน้อยๆ ก่อน
ก่อนเริ่มลงทุน ควรศึกษาและทำความเข้าใจกับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทองคำให้ดีก่อน เช่น มีค่าใช้จ่ายต้นทุนอะไรบ้าง อะไรที่อาจเป็นปัจจัย และมีผลกระทบกับราคาทอง และควรเริ่มต้นลงทุนด้วยพอร์ตลงทุนเล็กๆ ก่อน เพื่อฝึกทักษะความเข้าใจ และเก็บสะสมประสบการณ์ก่อนที่จะกระโจนลงเต็มตัว หรือเริ่มลงทุนในจำนวนที่สูง การลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อย่างหนึ่งซึ่งบางทีราคาเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางทีความรู้ หรือการศึกษาอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ประสบการณ์และความเก๋าเคยผ่านสถานการณ์ทั้งดี และร้าย รวมถึงการค่อยๆ ทำความเข้าใจพฤติกรรมของตลาด ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นทีเดียว
"ก่อนที่จะลงทุนเป็นจำนวนเยอะๆ ควรศึกษา และเก็บประสบการณ์มองพฤติกรรมตลาดในระดับหนึ่ง และช่วงเวลาหนึ่งก่อน เพราะบางทีการลงทุนในทองคำ ประสบการณ์ก็สำคัญไม่แพ้กับความรู้เลย"

5. ลงทุนอย่างมีวินัย
ข้อนี้จะสำคัญมากสำหรับนักลงทุนประเภทระยะสั้นทำกำไร คือเราต้องมีวินัย และมีระดับตัวเลขความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไว้ในใจเหมือนกัน และเมื่อถึงจุด Trigger Point ตรงนั้น เราอาจต้องตัดขาดทุน หรือขายทำกำไรในระดับนั้นทันทีเพื่อไม่ให้เราโดนลากยาวไปกว่านั้น หรือเกิดอาการติดดอย บางคนอาจตั้งกฎไว้เลยว่าไม่อยากได้กำไรมากๆ แต่ขอแค่กำไรนิดๆ หน่อยๆ ตอดนิดตอดหน่อยไปเรื่อยๆ แต่กำไรไปตลอดก็พอ นอกจากนี้กฎหลักอีกอย่างที่เราควรจำไว้ก็คือ ไม่มีใครสามารถบอกหรือแนะนำเราหรอกได้ว่าตอนนี้ราคาสูงสุดแล้วให้ขาย หรือตอนนี้ต่ำสุดแล้วให้ซื้อ ดังนั้น มีวินัยและตั้ง Trigger Point ที่ตัวเองรับได้ ดีที่สุดครับ
"ควรมีวินัยเหมือนนักกีฬาฟุตบอล แต่อย่าคิดแบบกีฬาฟุตบอลที่ว่าแพ้ 1-0 ก็เหมือนแพ้ 3-0 เพราะแพ้เหมือนกัน เพราะในการลงทุนทองคำขาดทุนแค่ 100 ไม่เหมือนกับการขาดทุน 300 นะครับ"
6. ทองคำแท่ง VS ทองคำรูปพรรณ
เราสามารถเลือกซื้อได้ทั้งสองแบบ แต่ทองคำสองประเภทนี้ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันขึ้นอยู่กับความประสงค์ของคนซื้อ ถ้าเป็นทองคำแท่งก็จะมีข้อดีคือ ไม่เสียค่ากำเหน็จในการซื้อขายจึงอาจมีราคาโดยรวมถูกกว่าทองคำรูปพรรณนิดหน่อย (ในน้ำหนักที่เท่ากัน) แต่มีข้อเสียคือ สวมใส่ไม่ได้ต้องเก็บรักษาไว้เฉยๆ และอาจต้องมีต้นทุนค่าเก็บรักษา เช่น เสียเงินฝากในตู้นิรภัยกับธนาคาร ส่วนทองคำรูปพรรณก็จะมีข้อดีคือ ใช้เงินเริ่มต้นไม่มากก็ซื้อได้ และใส่เป็นเครื่องประดับแสดงฐานะได้ในบางโอกาส แต่ก็มีข้อเสียคือ เสียค่ากำเหน็จในการซื้อขาย และอาจโดนกดราคาเมื่อขายคืน หรือขายคืนกับคนละร้านที่เราซื้อมา
"ศึกษาต้นทุนของตัวเองให้ดี และถามตัวเองว่าอยากให้ทองคำทำหน้าที่อะไรให้เรา จากนั้นก็เลือกให้เหมาะสมระหว่างทองคำแท่ง และทองคำรูปพรรณ"

7. ลงทุนด้วยเงินเย็นเท่านั้น
ถ้าจะให้ปลอดภัย เราควรจะลงทุนด้วย 'เงินเย็น' เท่านั้น ไม่ควรจะกู้เงินมาลงทุน เพราะราคาทองผันผวนง่าย และหากกู้มาแล้ว ทองคำที่ซื้อไว้ดันขาดทุน จะทำให้เรามีภาระสองทาง คือทั้งผลขาดทุน และเสียดอกเบี้ย ในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น บางคนอาจใช้วิธีกู้เงินเพื่อมาลงทุนได้ (เช่นซื้อแล้วปล่อยเช่าโดยเอาค่าเช่ามาจ่ายหนี้เงินกู้) ซึ่งสามารถทำได้ในระดับที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการกู้เงินมาลงทุนทองคำ เพราะโดยธรรมชาติของอสังหาริมทรัพย์นั้น ราคามีแนวโน้มจะขึ้นมากกว่าลง (หรืออย่างน้อยก็ทรงตัวหรือขาดทุนนิดหน่อย) และบางทีเรากำหนดราคาขายต่อเองได้ ในขณะที่ทองคำนั้น ราคาหวือหวากว่ามาก และต้องขายตามราคาตลาดโลกเท่านั้น
"เพื่อความปลอดภัยของเงินในกระเป๋าท่านเอง และความมั่นคงของครอบครัว ลงทุนในทองคำด้วย 'เงินเย็น' เท่านั้น ไม่ควรจะกู้เงินมาลงทุนเด็ดขาด"
8. จับตาดูค่าเงิน US Dollars และราคาน้ำมันโลกเป็นประจำ
จากสถิติที่ผ่านมา ราคาทองคำมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงิน US Dollars เพราะทองคำซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง ราคาทองคำก็มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เพราะนักลงทุนโยกเงินจากเงินดอลลาร์สหรัฐไปที่ทองคำ และเมื่อไรที่ค่าเงินดอลลาร์เพิ่มค่าขึ้น ราคาทองก็มักจะปรับตัวลดลง และนอกจากนี้ ราคาทองคำก็มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันโลก เมื่อราคาน้ำมันโลกลดลง ราคาทองคำก็มักจะปรับตัวลดลงตาม และเมื่อใดที่น้ำมันโลกราคาเพิ่มขึ้น ราคาทองก็มักจะปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน อย่างไรก็ดี อันนี้ไม่ใช่สูตรตายตัว และเป็นเพียงการคาดการณ์ในลักษณะของแนวโน้มจากสถิติราคาทองคำ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันโลกในอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น (ดูปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อราคาทองเพิ่มเติม "ทองจะขึ้นจะลง ดูยังไง?")
"จากสถิติที่ผ่านมาแนวโน้มคือ ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามกับค่าเงิน US Dollars และจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันโลก"

9. สคบ. อาจช่วยท่านได้ถ้าเจอร้านทองตุกติก
ตามกฎหมาย สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่) ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าท่านไปเจอร้านทองที่ขายทองรูปพรรณแล้วมีฉลากไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ติดประกาศบางอย่างภายในร้าน เช่น ทองรูปพรรณจากต่างประเทศ แต่ไม่ยอมระบุชื่อประเทศที่ผลิต หรือในร้านไม่ติดประกาศราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณขั้นต่ำ ให้ระวังไว้ว่าร้านนั้นอาจไม่ตรงไปตรงมา นอกจากนี้ เวลาซื้อทองควรพิถีพิถันในเรื่องการชั่งน้ำหนักด้วย เพราะอาจเป็นช่องทางให้ร้านทองที่ไม่ดีโกงท่านได้ ซึ่งถ้าเจอเหตุการณ์เหล่านี้ ลองติดต่อหรือแจ้งไปที่สายด่วน สคบ. ได้ที่โทร. 1166
"ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ สคบ. ควบคุมฉลาก ถ้าเจอร้านทองที่อาจตุกติกไม่ตรงไปตรงมา แจ้งสายด่วน สคบ. ได้ที่ 1166"
10. ซื้อกับร้านที่สะดวกและคุ้นเคยก็จะดี
ถ้าเราลงทุนด้วยตัวเอง หากมีร้านทองที่คุ้นเคย หรือที่ซื้อขายได้สะดวกรวดเร็ว และเงื่อนไขน้อยก็จะดี เพราะบางทีเราอาจต้องซื้อเร็วขายเร็วเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่เราควรต้องรู้ด้วย เช่น ร้านทองบางร้านจะรับซื้อเฉพาะทองคำร้านตัวเองเท่านั้น หรือบางทีร้านทองในเยาวราชก็จะไม่รับซื้อทองคำที่มาจากร้านในต่างจังหวัด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยพวกนี้ เราคงต้องสอบถาม หรือศึกษาให้ดีก่อนที่จะซื้อกับร้านใดร้านหนึ่ง
"ซื้อง่ายขายคล่องด้วยต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดคือสิ่งที่เราควรสอบถามก่อนซื้อ หรือก่อนขายจากร้านทองแต่ละร้าน"
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Economy Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Economy Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)