ช่วงนี้ถ้าพูดถึงราคาทองก็ต้องเรียกว่า ราคาพุ่งทยานกันเลยทีเดียว เพราะในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ราคาทองคำสูงสุดขึ้นไปแตะ 34,000 บาทเป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้ระหว่างเดือนที่ผ่านมาจะมีปรับขึ้นลงบ้าง แต่ก็ยังถือว่าราคาสูงมากๆ ใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ติดขัดเรื่องเงิน หากมีทองคำเก็บไว้ ก็สามารถเอามาเป็นตัวช่วยยามขัดสนได้นะคะ เพราะทองคำเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง การนำทองคำไปจำนำ เพื่อให้ได้เงินก้อนออกมาใช้จ่ายยามจำเป็น ก็ถือว่าสะดวก และรวดเร็วกว่าการขอสินเชื่อในรูปแบบอื่นๆ และเมื่อหาเงินมาได้ก็สามารถนำไปไถ่ถอนเอาทรัพย์สินที่จำนำไว้กลับคืนมาได้เช่นกันค่ะ ซึ่งปัจจุบันโรงรับจำนำ มีทั้งที่เป็นของรัฐบาล และของเอกชน ให้สามารถเลือกใช้บริการได้หลายที่ แต่ก่อนจะนำทรัพย์สิน หรือทองคำไปจำนำ จะต้องรู้อะไรบ้าง ตามมาเช็กกันที่นี่ก่อนเลย
จำนำทองคืออะไร
การจำนำทอง เป็นกระบวนการทางการเงินที่ผู้คนใช้เพื่อกู้ยืมเงินโดยใช้ทองเป็นทรัพย์สินประกัน กับร้านจำนำที่รับจำนำทอง โดยจะมีการกำหนดระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องไถ่ถอนคืนไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากไม่สามารถชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ร้านรับจำนำอาจจะเอาทองที่ถูกจำนำมาขายเพื่อชำระหนี้แทน
จำนำทองที่ไหนได้บ้าง
โดยปกติแล้วเราสามารถจำนำทองได้ที่สถานธนานุเคราะห์ สถานธนานุบาล ซึ่งเป็นโรงรับจำนำของรัฐ หรือจะเลือกจำนำทองกับโรงรับจำนำเอกชนก็ได้ ซึ่งแต่ละแห่งมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้
โรงรับจำนำของรัฐบาล ถือเป็นโรงรับจำนำที่มีความน่าเชื่อถือ อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็จะให้ราคาต่ำกว่าโรงรับจำนำของเอกชน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- สถานธนานุเคราะห์ เป็นโรงรับจำนำที่ดูแลโดยกรมประชาสงเคราะห์
- สถานธนานุบาล เป็นโรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาล หรือกรุงเทพมหานคร
โรงรับจำนำของเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายเจ้า ที่เปิดให้บริการอยู่ เช่น Easy Money, โรงรับจำนำแคชเอ็กซ์เพรส เป็นต้น ซึ่งโรงรับจำนำเอกชน จะมีข้อดีคือ ให้ราคาสูงกว่าโรงรับจำนำของรัฐ แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตามไปด้วย ซึ่งก่อนเข้าใช้บริการโรงรับจำนำเอกชน เราก็ควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าโรงรับจำนำแห่งนั้นมีความน่าเชื่อถือ และมีประวัติการให้บริการที่ดีด้วยนะคะ
อัตราดอกเบี้ยรับจำนำ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำของรัฐบาลจะต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำเอกชน ตามรายละเอียด ดังนี้
อัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำรัฐบาล (สถานธนานุเคราะห์)
- สำหรับเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน
- สำหรับเงินต้นมากกว่า 5,001 แต่ไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน
- สำหรับเงินต้นมากกว่า 10,001 แต่ไม่เกิน 20,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน
- สำหรับเงินต้นมากกว่า 20,001 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน
อัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำเอกชน
- สำหรับเงินต้น 2,000 บาทแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 2.00% ต่อเดือน
- ส่วนที่เกินจาก 2,000 บาทแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน
หมายเหตุ : โรงรับจำนำเอกชนแต่ละแห่งอาจคิดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไป ควรสอบถามข้อมูลจากโรงรับจำนำที่จะเข้าใช้บริการอีกครั้งก่อนตัดสินใจนะคะ
จำนำทองคำ 1 บาท เสียดอกเบี้ยเดือนละเท่าไหร่ จำนำที่ไหนเสียดอกเบี้ยน้อยกว่า
ตัวอย่างการคำนวณ...กรณีที่ต้องการนำทองคำ 1 บาทไปจำนำ โดยจะเปรียบเทียบดอกเบี้ยต่อเดือน ระหว่างการจำนำโรงรับจำนำรัฐบาล กับโรงรับจำนำเอกชน สมมติให้ได้รับเงินจากการจำนำทองคำครั้งนี้ 30,000 บาทเท่ากัน
| โรงรับจำนำรัฐบาล | โรงรับจำนำเอกชน |
จำนวนเงินที่ได้รับจากการจำนำทองคำ 1 บาท | 30,000 บาท | 30,000 บาท |
วิธีคำนวณดอกเบี้ยต่อเดือน จากยอดเงิน 30,000 บาท | >> 5,000 x 0.25% = 12.50 บาท | >> 2,000 x 2.00% = 40 บาท |
>> 5,000 x 0.75% = 37.50 บาท | >> 28,000 x 1.25% = 350 บาท |
>> 10,000 x 1.00% = 100 บาท | |
>> 10,000 x 1.25% = 125 บาท |
รวมดอกเบี้ยต่อเดือน | 275 บาท | 390 บาท |
เห็นได้ว่าจากการนำทองคำ 1 บาทไปจำนำกับโรงรับจำนำรัฐบาล และโรงรับจำนำเอกชน หากได้เงินต้นเท่ากัน การจำนำที่โรงรับจำนำรัฐบาลจะเสียดอกเบี้ยน้อยกว่าการจำนำกับโรงรับจำนำเอกชนถึง 115 บาทต่อเดือนค่ะ
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงหากเรานำทองคำ 1 บาทเท่ากันไปจำนำในโรงรับจำนำรัฐบาล หรือเอกชน ผู้ประเมินจะมีวิธีการตรวจสอบ และประเมินราคาต่อสิ่งของหนึ่งชิ้นแตกต่างกันไป ซึ่งก็อาจจะทำให้ได้รับเงินมากน้อยแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงการรับจำนำสำหรับโรงรับจำนำบางแห่ง อาจรับจำนำเฉพาะทองคำเท่านั้น หากทรัพย์สินที่เรานำไปจำนำมีส่วนของอัญมณีประกอบด้วย เช่น แหวนทองคำหัวพลอย ผู้ประเมินอาจมีการแกะพลอยออกก่อน ซึ่งจะทำให้เครื่องประดับเสียหายได้ ดังนั้นก่อนที่จะนำทองคำไปจำนำจึงควรสอบถามรายละเอียดขั้นตอนการประเมินให้ดีก่อนตัดสินใจด้วยนะคะ