วิธีล้างแอร์แบบง่ายๆ เบื้องต้น..ทำเองได้ ไม่ต้องใช้เครื่องมือช่าง ประหยัดไฟจริง
ถึงเวลาล้างแอร์แล้วหรือยัง?...อากาศร้อนๆ แบบนี้การอยู่บ้านนอนเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำชื่นใจคงเป็นการคลายร้อนได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อใช้ไปนานๆ แอร์อันเป็นที่รักของเราก็จะเริ่มไม่ค่อยเย็นเหมือนเช่นเคยซะแล้ว นั้นก็เป็นเพราะมีสิ่งปรกและฝุ่นละอองเข้าไปอุดตันทำให้แอร์ไม่สามารถระบายความเย็นออกมาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้แอร์ต้องทำงานงานหนักมากขึ้นใช้กำลังไฟสูงขึ้น และค่าไฟที่ตามมาก็แพงขึ้นด้วยเช่นกัน แต่การจะเรียกช่างมาล้างแอร์แต่ละทีก็ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องตามมา ยิ่งหน้าร้อนแบบนี้ช่างแอร์ดีๆ งานเยอะงานแน่น กว่าจะได้คิวล้างบางที่ต้องรอไปอีกหลายวัน
ดังนั้นวันนี้เรามีวิธีล้างแอร์เบื่องต้นแบบง่ายๆ ที่คุณพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่างก็สามารถทำเองได้ เพียงแค่มีฟ็อกกี้ และโฟมสำหรับล้างแอร์เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
แต่ก่อนอื่นเราไปทำความเข้าใจเบื่องต้นเกี่ยวกับแอร์หรือเครื่องปรับอากาศกันก่อน สำหรับแอร์จะมีหลักๆ ด้วยกัน 2 ส่วนคือ
1. คอยล์เย็น คือ ตัวเครื่องปรับอากาศส่วนที่อยู่ภายในห้องของเราเพื่อทำความเย็นนั้นเอง
2. คอยล์ร้อน คือ ตัวเครื่องที่อยู่นอกห้องหรือส่วนมากจะอยู่ภายนอกอาคาร หรือบางบ้านก็วางไว้ที่ระเบียงเพื่อทำหน้าที่คอยระบายความร้อน
ขั้นตอนและวิธีการล้างแอร์
ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือการตัดไฟที่เบรคเกอร์แอร์ โดยการปิดสวิตช์เบรกเกอร์ลงให้อยู่ในสถานะ OFF
จากนั้นทำการเช็คให้แน่ใจอีกทีด้วยการเปิดแอร์ ถ้าแอร์เปิดไม่ติดแสดงว่าปลอดภัยเตรียมลงมือล้างแอร์ได้เลย
จากนั้นเปิดหน้ากากแอร์หรือฝาครอบด้านหน้าออก โดยการยกขึ้นด้านบน สำหรับบางเครื่องที่สามารถถอดออกได้ก็ให้ถอดออกมาล้างด้วยก็ดี
เมื่อเปิดขึ้นจะเห็นว่ามีฝุ่นเกาะอยู่ที่แผ่นฟิลเตอร์หรือแผ่นกรองอากาศเป็นจำนวนมาก โดยใน 1 เครื่องจะมี 2 แผ่นซ้ายและขวา
ให้ถอดแผ่นฟิลเตอร์นำไปล้างด้วยน้ำเปล่าธรรมดาหรือน้ำสะอาด
การล้างก็ง่ายๆ ใช้สายยางที่มีอยู่ภายในบ้านฉีดทำความสะอาด
หลังจากล้างเสร็จแล้วก็เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง หากใครมีไขควงที่บ้านก็ให้ไขน็อตเพื่อถอดหน้ากากไปล้างเพื่อที่จะได้ทำงานสะดวกขึ้น แต่หากไม่สะดวกหรือรู้สึกว่ายุ่งยากเกินไปจะไม่ถอดก็ได้ ใช้เป็นผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดแทน
ขั้นตอนต่อมานำฟ็อกกี้ใส่น้ำเปล่าฉีดทำความสะอาดเบื้องต้นให้ทั่วบริเวณแผงรังผึ้ง
หลังจากนั้นฉีดโฟมสำหรับล้างแอร์ให้ทั่วแผงรังผึ้ง ก่อนฉีดควรเขย่าขวดก่อนเล็กน้อย โดยเว้นระยะห่างระหว่างแผงรังผึ้งกับกระป๋องฉีดประมาณ 30 มม.
ทิ้งไว้ประมาณ 15 - 20 นาที เพื่อให้โฟมกำจัดสิ่งสกปรก และรอจนฟองโฟมหายไป หลังจากนั้นให้นำฟ็อกกี้มาฉีดทำความสะอาดซ้ำอีกครั้งเพื่อความสะอาดยิ่งขึ้น
หลังจากล้างเสร็จแล้วให้นำแผงฟิลเตอร์กลับมาใส่ไว้ที่เดิม และปิดฝากครอบลงเช่นเดิม
ล้างคอยล์เย็นเสร็จแล้วเราก็มาต่อกันที่คอยล์ร้อน โดยหากคอยล์ร้อนใครตั้งอยู่ที่ระเบียงหรือไม่สูงมากก็แนะนำให้ฉีดทำความสะอาดบริเวณด้านหลัง หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเพื่อขจัดฝุ่นและสิ่งสกปรติออกไป เพื่อให้คอยล์ร้อนสามารถระบายความร้อนได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่แนะนำให้ฉีดเข้าไปลึกถึงด้านในใบพัดนะคะ เพราะในนั้นจะมีมอเตอร์หรือแผงวงจรไฟฟ้าอยู่อาจทำให้เกิดความเสียหายได้
แต่ก็ต้องบอกว่าการล้างแบบนี้เหมาะสำหรับแอร์ที่ไม่สกปรกมากเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับแอร์ที่สกปรกมากจนเกิดการอุดตันได้ ซึ่งวิธีนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ สะดวกรวดเร็วใช้เวลาไม่นาน สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ แต่ข้อเสียก็คือล้างสิ่งสกปรกได้เพียงบางส่วนเท่านั้นจะไม่สะอาดเท่ากับการมีช่างมาล้างให้ แต่หากลองล้างเบื้องต้นแล้วแต่แอร์ก็ยังไม่เย็นขึ้น แนะนำให้เรียกช่างมาตรวจดูจะดีกว่าเพราะนั้นหมายความว่าแอร์อาจจะสกปรกมากจนต้องถอดมาล้างอย่างจริงจัง หรือน้ำยาแอร์อาจจะหมด
มีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกนิดหากอยากให้แอร์ที่บ้านเย็นฉ่ำและไม่กินไฟ ควรหมั่นทำความสะอาดแผ่นฟิลเตอร์เป็นประจำ อย่างน้อย 2 เดือนถอดมาล้าง 1 ครั้ง และควรล้างอย่างละเอียดเหมือนที่ช่างล้างอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้แอร์ระบายความเย็นได้อย่าเต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถี่ในการเปิดใช้งาน ยิ่งบ้านไหนที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมวหรือเลี้ยงสัตว์ไว้ภายในบ้านยิ่งต้องล้างบ่อยขึ้นเพราะขนสัตว์จะเข้าไปสะสมอยู่ที่แผ่นฟิลเตอร์ และใบพัดของแอร์ทำให้แอร์สกปรกเร็วขึ้น ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีหมั่นล้างแอร์เป็นประจำกันนะคะ
Credit : ภาพจาก Youtube channel พ่อบ้านจอมยุ่ง