"ตู้เย็น" เป็นไอเทมสำคัญประจำห้องครัวของทุกบ้านหรือทุกคอนโด ยุคนี้ไม่มีตู้เย็นเหมือนขาดใจ เพราะคุณจะไม่มีน้ำเย็นๆ ดื่ม ไม่มีเนื้อหรือผักสดๆ เอาไว้ทำอาหาร ความสะดวกสบายในชีวิตคุณจะลดลงไป 50% เลยทีเดียว
ตู้เย็นเก่าๆ มักมีปัญหาตู้เย็นไม่ตัด ทำให้กินไฟ แถมไม่มีช่องวางของที่ออกแบบมาหลากหลายเท่ากับตู้เย็นดีไซน์ใหม่ๆ การเลือกซื้อตู้เย็นก็ควรเลือกที่ตอบสนองกับความต้องการ "แช่" ของสมาชิกภายในบ้าน และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเรื่องการประหยัดไฟนั่นเอง เมื่อคุณได้ตู้เย็นใหม่มาแล้ว ก็ควรแบ่งสัดส่วนการแช่ของอาหารแต่ละชนิดให้เหมาะสม ควรเก็บของแต่พอดี ไม่อัดแน่นเบียดเสียดเกินไป แต่จะปล่อยให้ตู้เย็นว่างๆ โล่งๆ เลยแบบนั้นก็ไม่ดีเหมือนกันค่ะ เพราะคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นจะทำงานหนัก ทำให้เสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม เดี๋ยวเราไปดูกันค่ะว่า อาหารแต่ละประเภทนั้นควรเก็บรักษาอย่างไร แช่ช่องไหน มุมไหนของตู้เย็นดีถึงจะเก็บไว้ได้นาน คงความสดใหม่ที่สุด
ตู้เย็นแต่ละยี่ห้อจะดีไซน์ช่องแช่แตกต่างกันออกไป
1. เนื้อสัตว์ - ไม่จำเป็นต้องแช่แข็ง (Freezer)
หลังจากซื้อเนื้อสัตว์มาแล้ว ควรนำมาล้างทำความสะอาดเป็นอันดับแรก จากนั้นหั่นให้ก้อนเนื้อเล็กลงแล้วห่อด้วยพลาสติกหรือฟอยล์ห่ออาหาร นำใส่กล่องเก็บอาหารอีกชั้นหนึ่งแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ไม่จำเป็นต้องแช่ในช่องแช่แข็ง (Freezer) นะคะ เพราะจะทำให้เนื้อกลายเป็นน้ำแข็งจนเกินไป ทำให้เสียคุณค่าทางอาหาร นำไปแช่ช่องใต้ช่องฟรีซหรือช่องธรรมดาได้เลย
2. ชีส + โยเกิร์ต + เนย - ช่องกลางๆ ตู้เย็น
ไม่ควรเก็บชีส, โยเกิร์ต และเนยไว้ในช่องแช่แข็ง เพราะความเย็นระดับติดลบจะทำลายคุณค่าทางอาหารและรสชาติ ควรเก็บไว้บริเวณช่องธรรมดา กลางๆ ตู้เย็น เพราะเป็นจุดที่อุณหภูมิคงที่สม่ำเสมอที่สุด
3. ไข่ไก่+ไข่เป็ด - ช่องกลางๆ ตู้เย็น
ตู้เย็นจะมีช่องเล็กๆ ด้านบนประตูตู้ที่ออกแบบสำหรับวางไข่ไก่ไข่เป็ดโดยเฉพาะ แต่บริเวณนั้นอุณหภูมิไม่ค่อยคงที่ค่ะ เพราะเราเปิด-ปิดประตูตู้เย็นอยู่ตลอด ควรเก็บไข่ทุกฟองไว้ในถาดพลาสติกหรือกล่องกระดาษที่ใส่ไข่มาจากร้านนั่นแหละค่ะ เก็บไว้ช่องแช่กลางๆ หรือ ชั้นล่างๆ ไม่ต่ำกว่าช่องแช่ผัก เพราะเป็นจุดที่อุณหภูมิคงที่มากที่สุด
4. นมพาสเจอร์ไรส์ - ใต้ช่องแช่แข็ง (Freezer)
นมพาสเจอร์ไรส์ที่เป็นกล่องหรือแกลลอน ควรเก็บไว้ในช่องใต้ช่องฟรีซค่ะ เชื่อว่าหลายคนชอบวางขวดนมไว้ที่ช่องแช่ขวดตรงประตูตู้เย็น ที่จริงแล้วตรงนั้นเป็นจุดที่ยังเย็นไม่พอสำหรับนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ที่มีอายุค่อนข้างสั้น อาจจะทำให้นมบูดก่อนเวลาหมดอายุได้
5. เครื่องปรุงอาหาร+เครื่องดื่ม - บริเวณประตูตู้เย็น
เครื่องปรุงอาหารจะมีอายุการใช้งานนานค่ะ แนะนำให้เก็บไว้ชั้นบนสุดของประตูตู้เย็น สำหรับเครื่องดื่มต่างๆ ควรวางไว้ช่องข้างประตูตู้เย็นเช่นเดียวกันค่ะ เนื่องจากเครื่องดื่มต่างๆ เช่น น้ำผลไม้กล่องหรือน้ำอัดลม มีอายุการเก็บรักษาค่อนข้างนานกว่านมพาสเจอร์ไรส์
6. ผัก + ผลไม้ - ลิ้นชักชั้นล่างสุด
เราควรแช่ผักไว้ในช่องที่ค่อนข้างชื้นค่ะ เพราะจะทำให้ผักผลไม้คงความสดและกรอบอยู่เสมอ ช่องที่เหมาะสมที่สุดก็คือลิ้นชักด้านล่างสำหรับแช่ผักนั่นเองค่ะ
7. อาหารที่รับประทานเหลือ - ใต้ช่องแช่แข็ง (Freezer)
อาหารรับประทานเหลือควรเก็บใส่กล่องที่มีฝาปิดเรียบร้อยก่อนนำเข้าตู้เย็น และนำไปไว้ช่องแช่ใต้ช่องฟรีซ ความเย็นบริเวณนั้นจะไม่ทำให้อาหารของเราเย็นจนเป็นน้ำแข็งค่ะ แต่จะเย็นสม่ำเสมอและคงรสชาติความอร่อยของอาหารไว้ได้
8. ถั่ว+แป้ง - ใส่ช่องแช่แข็ง (Freezer)
ถ้าไม่ได้ใช้เป็นประจำ ควรเก็บถั่วและแป้งไว้ในช่องแช่แข็ง (Freezer) จะดีที่สุดค่ะ จะช่วยป้องกันการเน่าเสียได้ดี
9. เครื่องเทศแห้ง - ใส่ช่องแช่แข็ง (Freezer)
จริงๆ แล้ววางเครื่องเทศแห้งไว้ในอุณหภูมิห้องเป็นการเก็บรักษาที่ดีที่สุดค่ะ แต่ถ้าเป็นพริกป่นหรือผงปาปริก้า ควรเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง (Freezer) ค่ะ เพราะความเย็นจะช่วยคงความเผ็ดร้อนและสีสันของพริก
10. หัวหอม, กระเทียม, มันฝรั่ง - ไม่ควรแช่ตู้เย็น
หัวหอม, กระเทียม รวมถึงมันฝรั่ง จะคงประสิทธิภาพที่สุดก็เมื่อเก็บในอุณหภูมิห้องค่ะ จึงไม่จำเป็นต้องแช่เย็นเจ้าของ 3 อย่างนี้เลย
หลายคนอาจยังเข้าใจผิดอยู่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถยืดอายุการใช้งานได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในตู้เย็น ซึ่งอาหารรวมถึงเครื่องเทศ เครื่องปรุงบางชนิด ไม่มีความจำเป็นจะต้องจับใส่ตู้เย็นเสมอไป อย่างเช่น กระเทียม ถ้าอยู่ในตู้เย็น ความเย็นและความชื้นจะทำให้กระเทียมขึ้นราจนไม่สามารถนำมาทำอาหารได้... อย่าลืมกลับไปรื้อตู้เย็นที่บ้านแล้วย้ายของที่คุณแช่แบบผิดๆ ไปไว้ในมุมแช่ที่เหมาะสมด้วยนะคะ