การที่เราจะซื้อคอนโดมือหนึ่งสักห้อง นอกจากราคาแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกหลายรายการ ทั้งตอนจอง วันรับโอน ตอนที่เราถือไว้ และสุดท้ายเวลาที่เราขาย ซึ่งบางทีอาจเป็นค่าใช้จ่ายที่เราอาจไม่ได้นึกถึง ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจกันสักนิด เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมเงินไว้ และมีบางเรื่องที่เราอาจต้องระวังด้วย (โปรดดูบทความ
"สิ่งที่ผู้ซื้อต้องระวังในการซื้อคอนโดใหม่" ซึ่งมีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพวกนี้) โดยจะขอพูดแบ่งเป็นช่วงเวลาตามนี้ค่ะ
1. ค่าใช้จ่ายตอนจองและจดทะเบียนซื้อคอนโด
1.1 เงินจอง (จ่ายครั้งเดียว)
การจ่ายเงินจอง คือการแสดงเจตนาของผู้จะซื้อต่อผู้จะขายว่า ผู้จะซื้อได้ทำการจองห้องชุดยูนิตนี้ไว้แล้ว โดยส่วนใหญ่เงินจองจะเป็นประมาณหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น โดยค่าจองจะถูกหรือแพง มักขึ้นอยู่กับราคาคอนโดที่จะซื้อ และบางทีก็ขึ้นอยู่กับวิธีการทางการตลาดของโครงการ เช่น ถ้าอยากให้ขายง่ายๆ คล่องๆ ตัวเลขเงินจองก็จะต่ำหน่อย
1.2 เงินทำสัญญา (จ่ายครั้งเดียว)
หลังจากจองแล้ว ทางโครงการจะกำหนดวันทำ "สัญญาจะซื้อจะขาย" โดยผู้จะซื้อจะต้องมาทำสัญญาภายใน 7-14 วันนับจากวางเงินจอง โดยเงินทำสัญญาจะมากน้อยแค่ไหนมักจะขึ้นอยู่กับราคาของคอนโดมิเนียมที่จะซื้อ แต่อย่างต่ำก็จะเป็นหลักหมื่นขึ้นไป
1.3 เงินผ่อนดาวน์ (จ่ายหลายครั้งเป็นงวดๆ)
เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดได้ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกันซึ่งก็คือตัวคอนโด (Loan to Value Ratio) ดังนั้นจำนวนเงินดาวน์ทั้งหมด (เมื่อรวมกับเงินจอง และเงินทำสัญญาแล้ว) มักจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% ของราคาคอนโด และเนื่องจากการขายคอนโดมักเริ่มขายไปพร้อมๆ หรือก่อนการสร้างคอนโด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างเร็วก็เป็นปี ดังนั้นโครงการจึงมักให้เราแบ่งจ่ายเงินดาวน์เป็นงวดๆ อาจจะ 6, 8, 10 หรือ 12 งวด แล้วแต่เจ้าของโครงการจะกำหนด และระยะเวลาการสร้างคอนโด
1.4 ราคาค่าซื้อคอนโดส่วนที่เหลือ (จ่ายครั้งเดียวโดยเราเองหรือธนาคารที่ให้กู้)
เงินก้อนเป็นจำนวนเท่ากับราคาซื้อขายคอนโดหักด้วยเงินจอง + เงินทำสัญญา + เงินดาวน์ ส่วนใหญ่มักเป็นเงินประมาณ 85% - 90% ของราคาคอนโด โดยการจ่ายเงินโอนนี้ แบ่งได้เป็น 2 กรณี
1.4.1 กรณีเราจ่ายเงินสดโดยไม่กู้ ในกรณีนี้ เราสามารถจ่ายเงินโอนโดยตรงให้กับโครงการ แล้วก็จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมาเป็นของเราได้เลย
1.4.2 กรณีต้องการกู้เงินจากธนาคาร ในกรณีนี้ เราอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมา 3 อย่าง มากกว่าคนที่ไม่กู้ คือ
(ก) ค่าประเมินราคาห้องชุด - โดยต้องชำระเงินให้ธนาคารที่เรายื่นขอกู้ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 - 3,000 บาท แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละธนาคาร อย่างไรก็ดีหากธนาคารที่ขอยื่นกู้เป็นธนาคารที่ให้สินเชื่อแก่เจ้าของโครงการเพื่อก่อสร้างโครงการนี้อยู่แล้ว ก็อาจไม่เสียค่าประเมินราคาตรงนี้ เพราะธนาคารจะใช้ราคาคอนโดเป็นราคาประเมิน หรือมีการประเมินราคาทั้งโครงการไว้อยู่แล้ว
(ข) ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย - โดยปกติธนาคารจะกำหนดให้เราในฐานะผู้กู้ต้องทำประกันอัคคีภัยบนตัวคอนโดที่กู้ด้วย และเราต้องรับภาระในการชำระเบี้ยประกัน โดยธนาคารจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary หรือ Loss Payee) ซึ่งหมายความว่า ถ้าคอนโดเกิดไฟไหม้ บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินไปที่ธนาคารในฐานะผู้รับผลประโยชน์ เพื่อเอาเงินนี้ไปตัดหนี้เงินกู้ เพราะธนาคารถือว่าเงินที่ซื้อคอนโดนี้เป็นเงินของธนาคาร ดังนั้น ถ้ามีความเสียหาย และได้เงินมา ธนาคารก็ควรมีสิทธิเอาเงินมาลดหนี้ก่อนเสมอ นอกจากนี้บางธนาคารก็อาจกำหนดให้ผู้กู้ทำประกันชีวิตด้วย ซึ่งถ้าทำประกันชีวิต ธนาคารอาจคิดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ในอัตราพิเศษ เป็นต้น
(ค) ค่าจดทะเบียนจำนอง - เพื่อเอาคอนโดเป็นประกันหนี้ให้ธนาคาร โดยต้องชำระให้สำนักงานที่ดินในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าจดจำนอง (ซึ่งมูลค่าจดจำนอง ธนาคารจะเป็นคนกำหนด)
1.5 ค่าธรรมเนียมการโอน (จ่ายครั้งเดียว)
เวลาโอนคอนโด กฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดินมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งกรมที่ดินก็จะคิดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนเราในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมิน (ทุกโครงการคอนโดจะมีราคาประเมินซึ่งดูได้จากลิ้งค์นี้
http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ ) ส่วนใหญ่ผู้ซื้อ และผู้ขายมักจะออกกันคนละครึ่ง แต่ก็อาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ผู้ขายอาจยอมจ่ายค่าธรรมนียมนี้แทนลูกค้าทั้งหมดก็ได้
1.6 ค่าอากรแสตมป์ (จ่ายครั้งเดียว)
ในการจดทะเบียนโอนคอนโด กรมที่ดินจะเก็บค่าอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อขาย แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินคอนโด (ราคาประเมินดูได้ที่
http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ ) พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าราคาซื้อขายสูงกว่าราคาประเมิน ก็ให้คิด 0.5 ของราคาซื้อขาย แต่ถ้าราคาซื้อขายดันต่ำกว่าราคาประเมิน ก็ให้คิด 0.5 ของราคาประเมินแทน
1.7 เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง (จ่ายครั้งเดียว)
บางทีเรียกกันว่า Sinking Fund เป็นเงินกองกลางที่นิติบุคคลอาคารชุดจะเรียกเก็บไว้เป็น "กองทุนสำรอง" เพื่อใช้จ่ายในการบริหารจัดการคอนโดในระยะยาว เช่น ค่าซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ค่าทาสีอาคารทั้งตึก เป็นต้น ส่วนใหญ่เรียกเก็บเพียงครั้งเดียวแต่อาจมีการเรียกเก็บได้อีกในอนาคต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของเจ้าของร่วม โดยจะคิดตามขนาดพื้นที่ห้องเป็นตารางเมตร แล้วคูณด้วยค่ากองทุนส่วนกลางต่อตารางเมตร
1.8 ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า (จ่ายครั้งเดียว)
ในการใช้ไฟฟ้าในคอนโด จะต้องมีการวางเงินประกันการใช้มิเตอร์กับการไฟฟ้านครหลวง ในทางปฏิบัติ บางทีโครงการเวลาขายคอนโด มักจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ก่อน แล้วจึงค่อยเรียกเก็บกับผู้ซื้อทีหลัง โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 2,000 - 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า และเงื่อนไขของแต่ละโครงการ นอกจากนี้ บางโครงการนอกจากเรียกเก็บ "ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า" แล้ว อาจมีการเรียกเก็บ "ค่ามิเตอร์ไฟฟ้า" หรือ "ค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า" เพิ่มเติมแยกต่างหากด้วย ดังนั้น เพื่อความชัดเจน เราควรศึกษาจากข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดของเราว่า ทางนิติบุคคลฯ มีสิทธิตามข้อบังคับที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพิ่มเติมหรือไม่ และอย่างไร และสอบถามนิติบุคคลฯด้วย ว่าวัตถุประสงค์ของค่าใช้จ่ายพวกนี้คืออะไร ซ้ำซ้อนกับค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บอยู่แล้วหรือไม่
1.9 ราคาพื้นที่ห้องที่เกินกว่ากำหนดตอนแรก (จ่ายครั้งเดียว)
ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่ได้กำหนดราคาซื้อขายไว้เป็นราคาเหมา และต่อมาพอสร้างเสร็จ ขนาดห้องคอนโดเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตกลงกันตอนแรก และเจ้าของโครงการขอใช้สิทธิคิดราคาเพิ่ม เราอาจต้องจ่ายเพิ่มสำหรับตารางเมตรที่เพิ่ม โดยให้เอาจำนวนตารางเมตรที่เพิ่ม คูณเข้าไปกับราคาต่อตารางเมตรที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย จะออกมาเป็นจำนวนที่เราต้องจ่ายเพิ่ม
2. ค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่เป็นเจ้าของคอนโดอยู่
เมื่อรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีค่าใช้จ่ายอีก เพราะเวลาที่เราถือครองคอนโดอยู่ เรายังจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องอีกด้วยนะคะ โดยเงินก้อนที่ต้องเตรียมคือ
2.1 เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง (Common Area Fee) (จ่ายต่อเนื่องทุกปี)
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการบำรุง และบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนกลางตามมาตรา 18 ของ พรบ. อาคารชุด เช่น ค่าบำรุงรักษาสวน ค่าไฟแสงสว่าง เงินเดือนพนักงานทำความสะอาด เป็นต้น สำหรับวิธีคิดนั้นทางโครงการมักเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าปีต่อปี (ส่วนใหญ่ชำระตอนต้นปี และสำหรับปีแรกมักต้องจ่ายตั้งแต่ตอนจดทะเบียนรับโอนคอนโดจากโครงการ) โดยคิดตามขนาดพื้นที่ห้องเป็นตารางเมตรแล้วคูณด้วยอัตราค่าส่วนกลางต่อเดือน หากเราไม่ชำระค่าส่วนกลางนี้ เวลาเราเกิดอยากขายคอนโด จะขายไม่ได้เพราะกฎหมายคอนโดกำหนดไว้ว่า ถ้าเจ้าของไม่ชำระค่าส่วนกลาง จะทำธุรกรรมเกี่ยวกับคอนโด (เช่น ขาย) ไม่ได้
2.2 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้น้ำประปา (จ่ายตามที่นิติบุคคลฯ จะเรียกเก็บจากเรา)
นอกเหนือจากเราต้องเสียค่าน้ำประปาตามที่เราใช้ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายปกติแล้ว บางโครงการอาจมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำประปาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งอาจมีความหลากหลายแล้วแต่ว่าแต่ละโครงการจะเรียกเก็บอะไรบ้าง และจะเรียกค่าใช้จ่ายพวกนี้ว่าอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น บางโครงการอาจเรียกเก็บ "ค่าเงินประกันการใช้น้ำประปา" โดยให้เราจ่ายครั้งเดียว และมีวัตถุประสงค์คือเป็นเงินสำรองเวลาเราลืม หรือไม่จ่ายค่าน้ำเพื่อไม่ให้โดนตัดน้ำ หรือบางโครงการก็เรียกเก็บ "ค่ารักษามาตรวัดน้ำประปา" หรือ "ค่ารักษามิเตอร์น้ำ" โดยอาจเรียกเก็บเป็นรายเดือน หรือครั้งเดียวล่วงหน้า แล้วแต่นิติบุคคลจะกำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ หากเราโดนเรียกเก็บ เราควรอ่านข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดว่า นิติบุคคลฯ มีสิทธิตามข้อบังคับที่จะเรียกเก็บหรือไม่ และอย่างไร และสอบถามนิติบุคคลฯ ว่าวัตถุประสงค์ของค่าใช้จ่ายพวกนี้คืออะไร ซ้ำซ้อนกับค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บอยู่แล้วหรือไม่
2.3 เบี้ยประกันที่ธนาคารกำหนดให้เราทำ (จ่ายตามที่จะตกลงกับธนาคาร / บริษัทประกันภัย)
ในกรณีกู้เงินธนาคารมาซื้อคอนโด ส่วนใหญ่ธนาคารที่ปล่อยกู้มักแนะนำ (หรือกึ่งบังคับในบางที) ให้ลูกค้าทำประกันอัคคีภัยบนตัวคอนโด และรับผิดชอบจ่ายเบี้ยประกันด้วย ทั้งนี้ จำนวนเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างทั้งในเรื่องของขอบเขตการประกันภัย ระยะเวลาการกู้ มูลค่าคอนโด และวงเงินกู้ เป็นต้น ประเด็นสำคัญที่พวกเราควรรู้ในเรื่องนี้ก็คือ หากเกิดเหตุการณ์ตามที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ เช่นไฟไหม้คอนโดหมดเลย และบริษัทประกันภัยได้มีการจ่ายเงินประกัน (Insurance Proceeds) เงินนี้จะจ่ายไปที่ธนาคารเสมอและธนาคารมีสิทธินำเงินนี้ไปตัดหนี้เงินกู้ได้ เพราะธนาคารจะกำหนดให้ตัวเองเป็นผู้รับประโยชน์เสมอ (Beneficiary หรือ Loss Payee) โดยเจตนารมณ์แล้ว ธนาคารถือว่าเงินที่ซื้อคอนโดเป็นเงินของธนาคาร ดังนั้น ถ้ามีความเสียหายและได้เงินมา ธนาคารควรมีสิทธิเอาเงินมาลดหนี้ก่อนเสมอ
2.4 ค่าเบี้ยประกันภัยอาคารชุดที่นิติบุคคลฯ เป็นคนทำประกัน (จ่ายตามที่นิติบุคคลฯ จะเรียกเก็บจากเรา)
นิติบุคคลอาคารชุดของคอนโดบางโครงการอาจมีการทำประกันอัคคีภัย หรือประกันภัยความเสียหายของทรัพย์สินในตัวคอนโดด้วย (ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ส่วนกลาง หรือทรัพย์ส่วนบุคคลในห้องของแต่ละคน) ซึ่งโดยหลักแล้ว เบี้ยประกันเหล่านี้ ทางนิติบุคคลฯ ก็จะมาเรียกเก็บจากเจ้าของร่วมทุกคนตามสัดส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง ประเด็นสำคัญสำหรับพวกเราก็คือ ถ้าเกิดเราสมัครใจอยากทำประกันภัยในทรัพย์ส่วนบุคคลภายในห้องของเราด้วยค่าใช้จ่ายเราเอง และเราก็ทราบมาว่านิติบุคคลฯ ก็ได้มีการทำประกันภัยคอนโดเราอยู่แล้ว เราอาจลองสอบถามถึงประเภท และขอบเขตที่ประกันของประกันภัยที่นิติบุคคลฯ ได้ทำไว้ เพื่อเราจะได้ไม่ทำประกันภัยซ้ำซ้อนกับสิ่งที่นิติบุคคลฯ ทำเอาไว้ หรือหากจะทำประกันภัยประเดียวกันซ้ำซ้อนกัน เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยเท่าใดถึงจะเหมาะสมตามสมควร เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายตอนขายคอนโด
เวลาขายคอนโด ใช่ว่าเราจะได้เงินเพียงอย่างเดียวนะคะ เพราะกฎหมายดันกำหนดเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และภาษีจากการขายห้องชุดเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนทำการขายห้องชุด เรา (ในฐานะบุคคลธรรมดา) จึงต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเมื่อต้องการขายห้องชุดด้วย ดังนี้ค่ะ
3.1 ค่าธรรมเนียมการโอน (จ่ายครั้งเดียว)
เวลาโอนคอนโด กฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดินมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งกรมที่ดินก็จะคิดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนเราในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมิน (ทุกโครงการคอนโดจะมีราคาประเมินซึ่งดูได้จากลิงก์นี้
property.treasury.go.th ส่วนใหญ่ผู้ซื้อ และผู้ขายมักจะออกกันคนละครึ่ง แต่ก็อาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ผู้ขายอาจยอมจ่ายค่าธรรมนียมนี้แทนลูกค้าทั้งหมดก็ได้
3.2 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (จ่ายครั้งเดียว)
เวลาเราขายคอนโดได้ และนัดคนซื้อไปจดทะเบียนโอนขายคอนโดที่สำนักงานที่ดิน เราจะต้องจ่ายภาษีรายได้จากการขายให้รัฐบาลผ่านสำนักงานที่ดินที่จดทะเบียนนั้นด้วย โดยมีสูตรการคำนวณที่ค่อนข้างเข้าใจยากทีเดียวแต่เราจะพยายามอธิบายผ่านตัวอย่างข้างล่างนี้ ทั้งนี้ ก่อนที่จะคำนวณตามตัวอย่างข้างล่างนี้ เราจะต้องรู้ข้อมูลเบื้องต้น 2 เรื่องนี้ก่อน คือ
(1) เราถือครองคอนโดมากี่ปีแล้ว นับจากวันที่เรารับโอนกรรมสิทธิ์มา
(2) ราคาประเมินคอนโดเราจากกรมธนารักษ์เป็นเท่าไร ซึ่งเราจะดูได้จากเว็บไซต์นี้
http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ สมมติ นายธานินทร์ ซื้อห้องชุดคอนโดมาในปี 2561 และต้องการขายในปี 2564 ในราคาขายเท่ากับ 10 ล้านบาท โดยนายธานินทร์ได้ตรวจสอบจากเว็บไซต์
http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ ออกมาแล้วว่า คอนโดนี้มีราคาประเมินอยู่ที่ 9 ล้านบาท และคำนวณมาแล้วว่าถือครองมา 3 ปี (ยึดตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อคอนโดวันที่ 1 ธันวาคม 2561 และขายวันที่ 10 มกราคม 2564 จำนวนปีที่ถือครองจะเท่ากับ 3 ปี) นายธานินทร์จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
(ก) นายธานินทร์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายก่อนตามตารางนี้ ซึ่งในตัวอย่างนี้ นายธานินทร์สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 77 เพราะถือครองมา 3 ปีแล้ว
จำนวนปีที่ถือครอง | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 ปีขึ้นไป |
ร้อยละของเงินได้ | 92 | 84 | 77 | 71 | 65 | 60 | 55 | 50 |
(ข) จากนั้น ให้คำนวณตามสูตรดังนี้
1. ราคาประเมิน | 9,000,000 บาท |
2. หักค่าใช้จ่ายเหมา (ถือครอง 3 ปี 77%) | 6,930,000 บาท |
3. คงเหลือ | 2,070,000 บาท |
4. หารด้วยปีที่ถือครอง (2,070,000 หารด้วย 3) | 690,000 บาท |
5. คำนวณภาษีบุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได (100,000 x 5%) + (400,000 x 10%) + (190,000 x 20%) | 83,000 บาท |
6. ภาษี ณ ที่จ่าย (ภาษี x จำนวนปีที่ถือครอง) | 249,000 บาท |
จากตัวอย่างข้างต้น นายธานินทร์ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 249,000 บาท ซึ่งข้อแตกต่างจากการคำนวณภาษีเงินได้ทั่วไปคือ การคำนวณภาษีจากการขายคอนโดนั้น จะไม่มีการยกเว้นภาษีจากเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก เนื่องจากไม่ใช่การคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ ส่งผลให้เงินได้ 1 แสนบาทแรก ต้องเสียภาษีเงินได้ที่ 5% โดยเท่ากับ 5,000 บาท ส่วนเงินได้ตั้งแต่ 2-5 แสนบาท เสียภาษี 10% เงินได้ตั้งแต่ 5 แสน - 1 ล้านบาท เสียภาษี 20% (ตามการคำนวณนี้ (100,000 x 5%) + (400,000 x 10%) + (190,000 x 20%)) โดยเมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายที่สำนักงานที่ดินแล้ว ก็ไม่ต้องยื่นเสียภาษีรวมตอนสิ้นปีอีก
3.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) (จ่ายครั้งเดียว)
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเสียก็ต่อเมื่อเราถือครองห้องชุดเป็นระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี (เพราะโดยเจตนารมณ์รัฐบาลมองว่าหากเราขายก่อน 5 ปีมีแนวโน้มว่าเราจะซื้อมาขายไปเพื่อเป็นธุรกิจจึงต้องโดนภาษีธุรกิจเฉพาะ) โดยสามารถดูวันที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้จากหลังโฉนดซึ่งระบุวันที่รับโอนมา จากกรณีตัวอย่าง นายธานินทร์ ขายห้องชุดภายใน 5 ปี นับแต่วันได้มา ก็จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จะคิดที่ร้อยละ 3.3 ของราคาขายจริง หรือราคาประเมิน แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าให้ใช้ราคานั้น ดังนั้น นายธานินทร์จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเท่ากับ 330,000 บาท (3.3 x 10,000,000) ซึ่งถ้านายธานินทร์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ก็จะไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ข้างล่างนี้อีก อนึ่ง เราจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในกรณีดังต่อไปนี้คือ
1. คอนโดที่ได้มาเกินกว่า 5 ปี
2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของคอนโดนั้นเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้คอนโดนั้นมา (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน) 3. ถูกเวนคืนคอนโด 4. ซื้อ-ขายคอนโดที่ได้มาโดยมรดก อากรแสตมป์
กรณีที่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (หรือได้รับยกเว้น เช่น ถือคอนโดมาเกิน 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านคอนโดนั้นเกินกว่า 1 ปี) ก็ให้เสียอากรแสตมป์แทนในอัตรา 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 200 บาท ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย (แล้วแต่ว่าราคาใดสูงกว่า ให้ใช้ราคานั้น) ในกรณีมีเศษไม่ถึง 200 บาท ให้คิดที่ 200 บาท
ตัวอย่างการคิดค่าอากรแสตมป์ เช่น คอนโดที่เราขายราคา 9,000,000 บาท ส่วนราคาประเมินของคอนโดอยู่ที่ 8,500,000 บาท เราต้องใช้ราคาที่สูงกว่าคือราคาขายเป็นราคาที่เราจะคิดเพื่อจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 45,000 บาท (9,000,000 หารด้วย 200) เป็นต้น
ตรงนี้
สรุปตารางค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซื้อ/ ถือ /ขายคอนโดใหม่
เพื่อความเข้าใจง่าย ทาง CheckRaka.com ขอสรุปค่าใช้จ่ายทุกขั้นตอนทั้งหมดเป็นตารางให้พวกเราดูกันง่ายๆ ตามนี้นะคะ
รายการค่าใช้จ่าย | ประมาณค่าใช้จ่าย | ตัวอย่างและวิธีการคำนวณค่าใช้จ่าย | ช่วงเวลาในการจ่าย |
1. ค่าใช้จ่ายตอนจองและจดทะเบียนซื้อคอนโด |
เงินจอง | เงินหลักพันถึงหลักหมื่น แล้วแต่ราคาห้องชุด และเป็นไปตามที่โครงการกำหนด | แอสปาย เอราวัณ ไพร์ม จอง 5,000 บาท | จ่ายทันทีเมื่อต้องการจองซื้อคอนโด |
โซโห แบงค็อก รัชดา จอง 50,000 บาท |
เงินทำสัญญา | ประมาณหลักหมื่นถึงหลักแสน แล้วแต่ราคาห้องชุด และเป็นไปตามที่โครงการกำหนด | แอสปาย เอราวัณ ไพร์ม ทำสัญญา 10,000 บาท | จ่ายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย |
โซโห แบงค็อก รัชดา ทำสัญญา 50,000 บาท |
เงินผ่อนดาวน์ | ประมาณ 10-15% ของราคาห้องชุด (เมื่อรวมเงินจองและเงินทำสัญญาเข้ามาด้วยแล้ว) | แอสปาย เอราวัณ ไพรม์ ผ่อนดาวน์ 10 งวด งวดละ 1,540 บาท รวม 154,000 บาท | แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่โครงการกำหนด ส่วนใหญ่จะเริ่มผ่อนดาวน์หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขาย |
โซโห แบงค็อก รัชดา แบ่งชำระงวดละ 13,400 บาท จำนวน 25 งวดรวม 335,000 บาท |
เงินโอนกรรมสิทธิ์ | จำนวนราคาห้องชุดที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่าย 3 รายการข้างต้นทั้งหมด (ส่วนใหญ่จะเป็นเงินประมาณ 85-90% ของราคาห้องชุด) | เช่น เมื่อคุณซื้อห้องชุดของโครงการ แอสปาย เอราวัณ ไพร์ม แบบ 1 Bedroom ขนาดพื้นที่ 30 ตร.ม. ราคารวม 1.69 ล้านบาท ให้หักเงินจอง 5,000 เงินทำสํญญา 10,000 และเงินผ่อนดาวน์ 154,000 ออกจากราคาเต็มห้องชุด ก็จะได้เงินโอนกรรมสิทธิ์ที่คุณต้องชำระ วิธีการคิด 1,690,000 - (5,000 + 10,000 + 169,000) คงเหลือเงินโอนกรรมสิทธิ์เท่ากับ 1,521,000 บาท | เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน |
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน | ร้อยละ 2 ของราคาประเมินกรมที่ดิน | คอนโดทุกโครงการจะมีราคาประเมินซึ่งกรมที่ดินจะใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ตามลิ้งค์นี้ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ | เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน |
ค่าอากรแสตมป์ | ร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อ-ขาย หรือราคาประเมิน (แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า) | เช่น เมื่อซื้อห้องชุดราคา 1,000,000 บาท แต่หากราคาประเมินห้องชุดของคุณอยู่ที่ 1,100,000 บาท คุณก็ต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.5 โดยคิดบนจำนวน 1,100,000 (ไม่ใช่ 1,000,000 บาท) | เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน |
เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง (Sinking Fund) | คิดตามขนาดพื้นที่ห้องเป็นตารางเมตรแล้วคูณด้วยค่ากองทุนส่วนกลางตามที่โครงการกำหนด | แอสปาย เอราวัณ ไพรม์ เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง 400 บาท/ตร.ม. | โดยทั่วไปจ่ายครั้งแรกครั้งเดียวเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ |
โซโห แบงค็อก รัชดา เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง 750 บาท/ตร.ม. |
เงินค่าติดตั้งและค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า | ประมาณ 2,000 - 4,000 บาท | ตัวอย่างค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า - มิเตอร์ไฟขนาด 15 แอมแปร์ ประมาณ 2,000 บาท
- มิเตอร์ไฟขนาด 30 แอมแปร์ ประมาณ 4,000 บาท
| จ่ายเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ |
ค่าธรรมเนียมการประเมินราคาหลักประกัน (กรณีกู้เงินจากธนาคาร) | 2,000 - 3,000 บาท (+VAT) | ธนาคารทหารไทย คิด 2,675 บาท (รวม VAT แล้ว) | จ่ายตามที่ธนาคารจะเรียกเก็บ |
ธนาคารกรุงเทพ 3,000 บาท (ไม่รวม VAT) |
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ - วงเงินขอกู้ไม่เกิน 500,000 บาท ค่าธรรมเนียม 1,900 บาท / แห่ง
- วงเงินขอกู้ 500,001-3,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม 2,800 บาท / แห่ง
- วงเงินขอกู้เกิน 3,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม 3,100 บาท / แห่ง
|
ค่าทะเบียนจดจำนอง (กรณีกู้เงินจากธนาคาร) | ร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จดจำนอง | มูลค่าที่จดจำนอง ธนาคารจะเป็นคนกำหนด | เมื่อมีการจดทะเบียนจำนอง ณ กรมที่ดิน |
2. ค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่เป็นเจ้าของคอนโดอยู่ |
เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง (Common Area Fee) | คิดตามขนาดพื้นที่ห้องเป็นตารางเมตรแล้วคูณด้วยค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามที่โครงการกำหนด | แอสปาย เอราวัณ ไพร์ม 39 บาท/ตร.ม./เดือน | เก็บล่วงหน้าปีต่อปี งวดแรกจ่ายเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ |
โซโห แบงค็อก รัชดา 75 บาท/ตร.ม./เดือน |
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้น้ำประปา (นอกเหนือจากค่าน้ำที่เราใช้ปกติ) | อาจมีความหลากหลายแล้วแต่นิติบุคคลฯ จะเรียกเก็บ | เช่น คอนโดแถวพระราม 3 บางโครงการเก็บ "ค่ารักษามิเตอร์น้ำ" เดือนละ 30 บาท เป็นต้น | จ่ายตามเวลาที่นิติบุคคลฯ จะกำหนด |
ค่าเบี้ยประกันภัยอาคารชุดที่นิติบุคคลฯ เป็นผู้ทำประกัน | ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขอบเขตการประกัน มูลค่าคอนโด วงเงินประกัน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะประมาณหลักร้อยถึงหลักพันต่อปี | เช่น ผู้ซื้อห้องชุดของโครงการแห่งหนึ่งย่านพระราม 3 ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้กับนิติบุคคลฯ โดยจ่ายค่าเบี้ยตามขนาดพื้นที่ห้องชุด เช่น 27 ตร.ม. คูณด้วยค่าเบี้ย 14 บาท/ ตร.ม. เป็นเงินรวม 378 บาท/ ปี ซึ่งการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยนี้จะคุ้มครองทั้งทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการ และทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของห้องชุดในวงเงินเอาประกันภัยสูงสุด 100,000 บาท/เหตุการณ์ | นิติบุคคลฯ จะเป็นผู้ทำประกันภัย และเราก็จะต้องชำระตามเวลาที่นิติบุคคลฯ กำหนด |
เงินเบี้ยประกันอัคคีภัย (กรณีกู้เงินจากธนาคาร) | ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ราคาคอนโด วงเงินประกัน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะประมาณหลักร้อยถึงหลักพันต่อปี | เช่น ผู้ซื้อโครงการแห่งหนึ่งย่านพระราม 3 ขอสินเชื่อซื้อห้องชุดขนาด 30 ตร.ม. จากธนาคารกรุงเทพ ต้องทำประกันอัคคีภัยตามเงื่อนไขของธนาคาร ด้วยวงเงินเอาประกันภัย 47,970 บาท | แล้วแต่ตกลงกับธนาคาร หรือบริษัทประกันภัย |
3. ค่าใช้จ่ายตอนขายคอนโด |
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน | ร้อยละ 2 ของราคาประเมินกรมที่ดิน | คอนโดทุกโครงการจะมีราคาประเมินซึ่งกรมที่ดินจะใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ตามลิ้งค์นี้ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ | เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน |
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย | ตามสูตรการคำนวณในตัวบทความข้างต้น | โปรดดูตัวอย่างในบทความข้างต้น | เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน |
ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือ อากรแสตมป์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) | - ภาษีธุรกิจเฉพาะคือ 3.3% ของราคาขายจริงหรือราคาประเมินแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า - อากรแสตมป์ 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 200 บาทของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย (แล้วแต่ว่าราคาใดสูงกว่าให้ใช้ราคานั้น) | โปรดดูตัวอย่างในบทความข้างต้น | เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดิน |
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังจะซื้อคอนโดนะคะ การจะมีคอนโดสักห้อง ไม่ใช่มองแค่ราคาอย่างเดียวแต่จะมีตัวเลขค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาด้วย ซึ่งเราจะต้องเตรียมเงินในส่วนนี้ไว้ให้พอด้วยนะคะ