การขี่มอเตอร์ไซค์ออกทริปช่วงหน้าหนาวหรือไปในสถานที่อากาศเย็น โดยเฉพาะในเมืองไทยที่เข้าสู่ช่วงเดือนพฤศจิกายนเหล่าไบค์เกอร์ก็เริ่มเตรียมวางแผนออกทริปกัน สถานที่ส่วนใหญ่ไม่พ้นภาคเหนือ หรือที่ราบสูงอากาศเย็น ดูเหมือนเป็นทริปที่มีความสุขรออยู่แต่การที่เราขี่รถในช่วงอากาศร้อนเป็นส่วนใหญ่แล้วมาเจอการขี่ฝ่าลมหนาวมันต้องมีการเตรียมความพร้อมมากกว่าที่คิด ไม่อย่างนั้นทริปแห่งความสุขอาจกลายเป็นทริปแสนสาหัสก็เป็นได้ เช่น การขี่แหวกลมหนาวขึ้นดอยความรู้สึกจะทวีคูณกว่าตอนยืนรับลมเฉยๆ และนี่คือ
.
1.ตรวจสอบสภาพอากาศและพื้นที่ล่วงหน้า
จริงอยู่เราอาจมองภาพรวมของภูมิอากาศไว้ก่อนออกทริป แต่พอใกล้ถึงวันเดินทางควรตรวจสองอย่างละเอียดอีกครั้ง นอกจากนี้ต้องติดตามการเตือนภัยในแต่ละพื้นที่ล่วงหน้า ไม่ว่าจะมีฝนหลงฤดูตกในช่วงเดินทางไหม หรือน้ำท่วมจากเขื่อน แม่น้ำ ฯลฯ ที่ปีนี้เป็นเรื่องเฝ้าระวังพิเศษของนักเดินทาง
2. เสื้อผ้า ชุดขี่ และอุปกรณ์ติดตัว
เราอาจเคยชินกับชุดใส่ขี่ประจำและคิดว่าการเพิ่มเสื้อในอีกชั้นคงเพียงพอ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลยโดยเฉพาะเสื้อการ์ดที่เป็นแบบแอร์โฟลว์ให้ลมไหลทะลุผ่านได้สะดวก ซึ่งดีมากในการขี่ช่วงหน้าร้อน ควรหาเสื้อการ์ดที่มีออปชั่นด้านในเป็นเสื้อเก็บอุณหภูมิ ซึ่งถอดออกได้เมื่อไม่ต้องการซึ่งจะเป็นการลงทุนที่คุ้มกว่าซื้อเสื้อการ์ดหนังหรือแบบหน้าหนาวโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามถุงมือควรเป็นแบบสำหรับ winter โดยเฉพาะถ้าเป็นไปได้เพราะมือเป็นส่วนสำคัญในการขี่ ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับรถที่มีออปชัน Heat Grip ด้วยจะดีมาก อย่างไรก็ตามถ้าเป็นทริปต่างประเทศที่อากาศหนาวแบบเลขตัวเดียวยิ่งจำเป็นที่สุดเสื้อผ้าด้านในต้องเป็นแบบ ฮีทเทค และควรมี gadget เช่น ถุงร้อนกันหนาว Hot Pack, ชุดแบบ waterproof ติดไปด้วย และมั่นใจว่าชิลด์หน้าสูงเพียงพอต่อการบังกระแสลมเย็นได้จริงๆ อย่าลืมว่ารถวิ่งที่ความเร็วมากขึ้นความหนาวเย็นยิ่งจะทวีคูณกว่าตอนอยู่กับที่
3.เตรียมความพร้อมตัวรถ
สภาพอากาศที่เย็นไม่ได้ส่งผลแค่ตัวผู้ขี่เท่านั้น ตัวรถเองก็เช่นกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเข้าใจการทำงานที่เปลี่ยนไป อย่างยางที่เนื้อยางจะแข็งกว่าปกตินั่นหมายถึงแทร็คชั่นที่ลดลงด้วย การขี่เข้าโค้งด้วยการลีนเข้าแบบถนนแห้งต้องลดลง ขี่ด้วยความระวังมากกว่าปกติเพราะอากาศเย็นมากับความชื้น โดยเฉพาะบางส่วนของถนนที่ไม่โดนแดดอาจมีตะไคร่น้ำเกาะ ซึ่งอันตรายมาก อย่าลืมว่าระยะเบรก็ต้องมากกว่าถนนแห้งของหน้าร้อนด้วย สำหรับใครที่คิดว่าควรอุ่นยางช่วงเริ่มขี่แบบโยกซ้ายขวาเพื่อให้หน้ายางได้ทำงานทั่วถึง อาจต้องเปลี่ยนเป็นเร่งและยกจะดีกว่า อย่าลืมเรื่องแทร็คชั่นด้วยอาจต้องปิดก่อนและรู้ลิมิตว่าเร่งได้แค่ไหน ... แบตเตอรี่กับอากาศเย็นก็จะคลายประจุมากกว่าปกติ อย่าลืมว่าอายุการใช้งานของแบตฯ นานพอที่ต้องเปลี่ยนใหม่แล้วหรือยัง เพราะประสิทธิภาพแบตเก่าลดหลั่นไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว
4. การโมดิฟายตัวรถ
ในปัจจุบันอุปกรณ์เสริมเพื่อความปลอดภัยมีออกมามากมายในตลาดสำหรับรถเกือบทุกรุ่น ทำให้ไบค์เกอร์เลือกเสริมเติมแต่งได้อย่างที่ต้องการมากขึ้น สำหรับการเสริมพาร์ตให้กับรถออกทริปรับลมหนาวก็พอจะแนะนำได้อยู่ เช่น ชิลด์หน้าขนาดใหญ่ : ป้องกันลมเย็นปะทะตัวอันนี้สำคัญมากจริงๆ และชิลด์สแตนดาร์ดอาจไม่เพียงพอ ชิลด์แต่งแบรนด์ดังๆ ก็มีให้เลือกมากตามความนิยมของรุ่นรถ การ์ดแฮนด์ : เอาไอเดียของรถลุยทางฝุ่นมากใช้ ซึ่งการ์ดแฮนด์ดีๆ นอกจากช่วยกันสะเก็ดหินดีดใส่มือแล้ว ยังข่วยลดการปะทะของลมเข้าที่ถุงมือโดยตรงด้วย หรือถ้าเอาแบบพวกรถเมืองหนาวนิยมก็เป็นถุงมือแฮนด์บาร์ไว้สอดมือเข้าไปได้เลย อันนี้อุ่นแน่ แต่น่าจะเหมาะกับการขี่ช่วงสั้นในเมืองมากกว่า
ฮีทกริ๊ปและฮีทซีท :ระบบให้ความอบอุ่นที่แฮนด์กับเบาะ ฮีทกริ๊ปอาจเป็นออปชันติดตั้งเสริมได้กรณีรถรุ่นนั้นๆ ไม่มีให้ แต่ส่วนของเบาะถ้าเป็นรุ่นที่มีมาด้วยก็ช่วยได้เยอะมากๆ แต่ก็ยากต่อการติดตั้งเองภายหลัง เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าชอบขี่ออกทริปท่องเที่ยว ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกรถที่เหมาะกับสไตล์เราตั้งแต่แรก
5.รู้ตัวเองตอนขี่
รู้ตัวและจับอาการที่เปลี่ยนไปขณะขี่เพราะถ้าขี่ไปเจออุณหภูมิลดแบบฉับพลันเช่น ขี่ขึ้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ ในต่างประเทศถนนด้านหลังมีแดด ด้านบนหิมะตกก็มี จุดนี้การทำงานของร่างกายจะเปลี่ยนไปส่งผลถึงความเป็นความตายเลยทีเดียว อย่างแรกที่ต้องสังเกตุคือ การตอบสนองของมือกับขาที่ช้าลง การขยับมือ และเท้าเพื่อเคลื่อนระหว่างควบคุมรถจะช้าลงกว่าเดิม ความคิดความอ่านตอนเจออากาศเย็นจัด ร่างกายที่เริ่มสั่นทำให้ขาดสมาธิไปด้วย ส่งผลให้สายตาอาจพลาดป้ายสัญญาเตือนต่างๆ ระหว่างทางได้ นอกจากนี้ท่านั่งก็อาจเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัวเพราะเย็นจึงต้องงอตัวมากขึ้น ข้อแนะนำคือ เพิ่มระยะจุดเบรก เว้นระยะห่างคันข้างหน้า เคลียร์ชิลด์หน้ารถและชิลด์หมวกให้มองเห็นชัดเจน (แวะเข้าปั้มเช็ด)
.