บิ๊กไบค์ ได้เวลาแอดเวนเจอร์จริงจัง ทางดำหรือฝุ่นก็ต้องไปให้ถึงกลับให้ได้
ปฎิเสธไม่ได้ว่าการได้ขี่มอเตอร์ไซค์คันโปรดท่องโลกคือ ความสุขที่หาอะไรมาเปรียบไม่ได้ เราจึงเห็นการออกทริปของนักเดินทางสายสองล้อกันอยู่ตลอด จนกระทั่งมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก มอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์หลายคันต้องจอดนิ่งอยู่กับบ้านได้แค่สตาร์ทแล้วก็เข็นเก็บ และเมื่อถีงเวลาคลายล็อค ก็ได้เวลาแอดเวนเจอร์จริงจังกันอีกครั้ง ไม่ว่าทางดำหรือทางฝุ่นสารพัดความบันเทิงรออยู่ คนพร้อม รถพร้อมไหม ถ้าไม่ทำอย่างไรให้ทันก่อนเวลาแห่งสุขอาจโดนปิดกั้นได้ทุกเมื่อ
อย่างแรกหลายคนอาจบอกว่า ตัวเองไม่มีบิ๊กไบค์ไว้สำหรับขี่ทางฝุ่น คันที่มีก็แอดเวนเจอร์จริงจังไม่ได้มาก จริงๆ แล้วบิ๊กไบค์สแตนดาร์ดทั่วไปแบบสตรีทยูสก็สามารถนำไปลุยทั้งแบบออน-ออฟได้อยู่ถ้าได้รับการปรับแต่งหน่อย การเปลี่ยนรถหรือเพิ่มรถอีกคันอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าสำหรับหลายคน ยิ่งช่วงเวลาในการออกทริปไม่ได้เปิดโล่งเหมือนก่อน
เอาเป็นว่าโจทย์ของคุณคือ มีบิ๊กไบค์เอาไว้ซิ่งถนนดำ แต่อยากขี่เที่ยวแบบลุยได้ด้วยต้องทำอย่างไร ไม่เอาขายซื้อใหม่ การปรับแต่งบิ๊กไบค์ที่มีอยู่อาจคุ้มค่ากว่า เริ่มจากอะไร ก็มี 4 หัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
1.ยาง-ช่วงล่าง
ส่วนสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างรถกับถนนหรือพื้นผิวต่างๆที่ขี่ผ่าน เมื่อต้องแอดเวนเจอร์จริงจัง การใช้ยางเดิมสำหรับถนนดำอาจไม่เข้าท่าแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนจะเป็นอย่างไร ? ใครเคยมีประสบการณ์คงทราบดี ร่องของดอกยางน้อยนิดจะเริ่มอุดตันด้วยดินและเศษโคลน กรวด สารพัดสิ่งจนเริ่มคลุมหน้ายาง ทำให้เสียการยึดเกาะ ก็แทร็คชั่นนั่นล่ะ ปัจจุบันก็อาจมียางบางรุ่นที่ออกแบบไว้ขี่ได้ทั้งถนนดำและฝุ่น (แบบเบาๆ) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเปอร์เซนต์เส้นทางที่ไปแอดเวนเจอร์นั้นมีสัดส่วนทางฝุ่นมากแค่ไหน และหนักแค่ไหน เมื่อเลือกรุ่นที่เหมาะกับทริปแอดเวนเจอร์ได้แล้วก็ต้องรู้เทคนิคบางอยางด้วย เช่นการเซ็ตลมยางเมื่อลงมาวิ่งบนทางออฟโร้ด ปกติต้องลดลมยางลง 5-10 PSI เพื่อเพิ่มแทร็คชั่นและขี่ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ปกติยางสามารถรองรับแรงดันลมต่ำได้ถึง 15 PSI ด้วยซ้ำ เคสนี้ก็อาจไว้ตอนเจอทางทรายร่วนเยอะหรือโคลนเหนียวๆ เลย ขี่แล้วจะรู้ว่ามั่นใจขึ้นเยอะ
ค่าเคสปริงและน้ำมันโช้กก็เป็นอีกส่วนที่ทำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะปรับพรีโหลดง่ายๆ หรือเล่นแบบเปลี่ยนสปริงใหม่พร้อเซ็ตน้ำมันก็ช่วยได้เยอะเช่นกัน นอกนั้นก็อาจไม่จำเป็นมากนัก แต่มีก็จะดี เช่น แคลชบาร์, การ์ดแฮนด์, แร็คใส่ถัง และเบาะเตี้ยถ้าปรับได้ก็ดี ไม่ได้ก็อาจลองหาเพิ่มที่ลดความหนาลงมา
2. ชุดและอุปกรณ์สำหรับเดินทาง
ถ้าเริ่มแอดเวนเจอร์แบบต้องเข้าทางฝุ่นด้วยแบบนี้ ชุดแบบใส่ขี่ถนนดำบางชิ้นอาจไม่เหมาะแล้ว เริ่มจากหมวกอันนี้เห็นผลชัดเพราะมีส่วนต่อการหายใจได้สะดวก การขี่ในทางฝุ่นหรือออฟโร้ดกรวดลอย โคลน ฯลฯ มักใช้ความเร็วต่ำ และใช้กำลังผู้ขี่มากกว่าการข้ามอุปสรรครวมถึงยกรถเวลาล้มดังนั้นจะใช้ออกซิเจนมากกว่า ฮาร์ตเรตก็ขึ้นแน่นอน จึงควรใช้หมวกแบบแอดเวนเจอร์ที่มีระยะให้อากาศเข้ามาเยอะกว่าและยังสามารถถอดชิลด์ออกใส่แว่นกอกเกิ้ลได้ หรือถ้าขี่ไม่เร็วตั้งแต่แรกเน้นลุยจัดๆ สายแฟชั่นได้ด้วยก็ถอยหมวกวิบากพร้อมแว่นกอกเกิ้ลสารพัดสีสันได้เลย
รองเท้าบูธนี่สำคัญมากๆ รองเท้าทางเรียบกับวิบากต่างกันคนละเรื่อง โดยเฉพาะการป้องกัน ส่วนใหญ่รองเท้าทางเรียบที่ใช้ทั่วไปอาจไม่ได้ยาวขึ้นมาถึงขนาดคลุมตาตุ่ม เพื่อความสบายและให้ตัวได้ง่าย การใช้บูธสำหรับแอดเวนเจอร์หรือวิบากนอกจากป้องกันเท้าได้ดีกว่าแล้วยังช่วยเรื่องการยึดเกาะเวลายันทาง โดยเฉพาะทางเปียกชื้น หรือยืนขี่เหยียบบนพักเท้า ที่ควรเปลี่ยนแบบโลหะหน้ากว้างโปร่งไม่มียาง
ชุดเสื้อ-กางเกงขี่ควรเป็นแบบเบาให้ตัวดีและแห้งไว เพราะขี่ทาออฟโร้ดร่างกายมักขยับไปมามากกว่า และมีโอกาสเปียกจากแอ่งน้ำหรือโคลนได้ตลอด ชุดที่มีคุณสมบัติกันน้ำก็ไม่ได้ดีเสมอเพราะทำให้ระบายเหงื่อออกยากไปด้วย ที่สำคัญอย่าลืมใส่การ์ดให้ครบทั้งคอ อก ศอก และเข่า อุปกรณ์จำเป็นนอกจากนี้ก็มีเป้น้ำที่สำคัญมากๆ เวลาขี่ช่วงอากาศร้อนจัด ในเส้นทางออฟที่ผ่านไปไม่มีร้านสะดวกซื้อให้แวะเหมือนขี่ออนโร้ด การพกน้ำติดตัวจึงจำเป็น อาหารให้พลังงานแบบง่ายๆ ก็ด้วย เช่น กล้วยตากแบบซอง ขนมปัง หรือพาวเวอร์บาร์ และสุดท้ายที่มีติดไปด้วยก็จะดีมาก ส่วนใหญ่ไบค์เกอร์นักเดินทางไม่ค่อยพลาดนั่นคือ สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล และแอคชันคาเมร่า
3.เส้นทาง
โชคดีที่ประเทศไทยของเรามีแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางให้แอดเวนเจอร์มากมาย ยิ่งในยุคออนไลน์ที่การหาข้อมูลง่ายกว่าเดิมมาก สามารถทำแผนการเดินทางได้ละเอียดและคลอบคลุมมากขึ้น การเลือกสถานที่อาจดูจากระดับความยาก-ง่ายและเวลาในการเดินทาง ตลอดจนค่าใช้จ่าย ในยุคที่มีการรีวิวทุกสิ่งอย่างให้เราค้นคว้าเก็บข้อมูล เส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวก็เช่นกัน มีตัวอย่างการเดินทางทั้งภาพและคลิปให้ได้ดูประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ที่พักและจุดสำคัญใกล้เคียงต่างๆก็ควรบันทึกเตรียมไว้ด้วย เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาล อนามัย ร้านอาหาร ปั้มน้ำมัน ฯลฯ การทำโร้ดแมพและเส้นทางเอาไว้เพื่อคำนวนระยะทางทั้งหมดเป็นเรื่องจำเป็น ว่าต้องผ่านจุดไหน แวะพักตรงไหน ใช้เวลาแต่ละช่วงเท่าไหร่ การไปลุยโดยไม่มีการวางแผนเส้นทางเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป นอกจากนี้ก็ควรมีเพื่อนร่วมทางที่มีประสบการณ์แอดเวนเจอร์ดีพอสมควรไปด้วย
4. สไตล์การขี่
แน่นอนว่าการขี่แบบออนโร้ดกับออฟโร้ดย่อมต้องการทักษะที่แตกต่างกัน จะมาเทโค้งแบบลีนอินบนทางกรวดลอยคงไม่ได้ ที่ต้องทำความเข้าใจกันคือ บอดี้ โพซิชั่น การถ่ายน้ำหนักขณะขี่ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมขณะนั้น เช่น เมื่อต้องขี่ข้ามอุปสรรคน้ำ, โคลน, ทราย และลงทางลาดชัน ก็ควรถ่ายน้ำหนักตัวไปทางด้านหลัง หรือยืนขี่เมื่อเจอกับพื้นผิวลื่น เช่นทางกรวดลอย หรือยกล้อหน้าข้ามอุปสรรคเล็กๆ อย่างไรก็ตามการเลือกเส้นทางให้เหมาะสมกับระดับสกิลการขี่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เลือกทางยากเกินฝีมือและทักษะเกินไป จนกว่าจะมีประสบการณ์มากขึ้น และได้เรียนรู้การขี่ออฟโร้ดจากผู้ฝึกสอนอย่างถูกต้อง ซึ่งมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องทยอยเรียนรู้ไม่ว่าการใช้คลัตช์ หรือเบรกหลังช่วยเลี้ยว แต่โจทย์ของเราคือเปลี่ยนจากออนมาออฟก็ควรเริ่มจากเส้นทางที่รถยนต์ก็ไปได้ด้วยจะดีกว่า อย่างน้อยบิ๊กไบค์ของเราที่ปรับเปลี่ยนมาเพื่อขี่ออฟโร้ดเป็นกรณีพิเศษก็ยังไปได้ แต่ก็ต้องดูถึงความเป็นไปได้ในการทำรถรุ่นนั้นให้ขี่ออฟโร้ดได้ด้วย ไม่ใช่เอา สกู๊ตเตอร์บิ๊กไบค์ หรือครุยเซอร์บิ๊กเบิ้มไป แบบนั้นแสดงว่ามีงบ ก็หาซื้อคันใหม่ไว้ลุยเลยดีกว่า