สำหรับวิธีการเก็บเงินแบบง่ายๆ สไตล์มนุษย์เงินเดือนที่อาจจะเป็นการเริ่มต้นเก็บออมเพื่อนำเงินไปต่อยอดในเรื่องต่างๆ หลายวิธีเราอาจจะเคยได้ยินกันมาอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยลองทำจริงๆ สักครั้ง เรามาเริ่มลองกันตั้งแต่วันนี้ แล้วจะรู้ได้เลยว่า…เป้าหมาย เงินแสน คุณ! ทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ แบบนี้จริงๆ
วิธีการเก็บออมเงินแบบง่ายๆ มีหลายวิธีให้เลือกใช้ แต่วันนี้…เราจะเลือกทริคการออมที่สามารถวัดผลได้จริงๆ โดยจะใช้ 3 วิธีแรก คือ การออมเงินตามจำนวนวันตลอดปีปฏิทิน, เก็บเงินออม 10% ของรายได้ (เงินเดือน) และการออมเงินในวันที่ที่ตรงกับวันเกิด มายกตัวอย่าง และคำนวณยอดเงินออมให้เพื่อนดูกันนะคะ พร้อมแล้ว เริ่มกันเลย :)
วิธีที่ 1 เริ่มต้นออมเงินตามจำนวนวันตลอดปีปฏิทิน
วิธีนี้เป็นการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เพียงแต่หยอดเงินเข้ากระปุกตามจำนวนวันที่เพิ่มขึ้น เช่น วันที่ 1 ก็หยอดเงิน 1 บาท วันที่ 2 ก็หยอดเงิน 2 บาท หยอดไปเรื่อยๆ จนครบ 1 ปี ถ้าปีนั้นมี 365 วัน ยอดเงินก้อนสุดท้ายที่เราหยอดกระปุกก็คือ 365 บาท ซึ่งจนถึงสิ้นปี คุณจะมีเงินออมทั้งสิ้น 66,795 บาทเลยทีเดียวค่ะ
วิธีที่ 2 หักเงินออมเดือนละ 10% ของรายได้
วิธีนี้ก็จะดูมีหลักการขึ้นมาอีกนิด ซึ่งการออม 10% ของรายได้ ก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายใดๆ ก็เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทราบกันดีว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ขึ้นอยู่กับว่าเรามีวินัยในการออม และสามารถทนต่อสิ่งเร้า และกิเลส ความอยากได้ ต่างๆ มากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างเช่น น้องจอยเป็นเด็กจบใหม่ ได้งานทำด้วยเงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท ถ้าน้องจอยตัดสินใจออมเงิน 10% ของรายได้ เท่ากับว่าน้องจอยต้องหักเงินเพื่อออม (18,000x10%) = 1,800 บาท/เดือน และน้องจอยจะเหลือเงินไว้ใช้จ่าย 16,200 บาทต่อเดือน เรามาดูกันว่าในระยะเวลา 1 ปี ถ้าน้องจอยตัดสินใจออมเงินแบบนี้ น้องจอยจะมีเงินเก็บเท่าไหร่กัน
วิธีที่ 3 ออมเงิน 1,000 บาทในวันที่ที่ตรงกับวันเกิด
วิธีนี้เป็นวิธีการเก็บออมที่เหมือนกับเป็นการให้ของขวัญกับตัวเองในทุกๆ วันที่ ที่ตรงกับวันเกิดของเรา เช่น น้องจอยเกิดวันที่ 15 เมษายน ดังนั้นในทุกๆ วันที่ 15 ของทุกเดือน น้องจอยจะเก็บเงิบ 1,000 บาท โดยอาจจะมีที่พักเงินในหลายรูปแบบ เช่น
- วิธีการหยอดกระปุกออมสินเก็บไว้ วิธีนี้ไม่ได้ดอกผลเพิ่มเติม แต่ก็ได้ความสบายใจที่เห็นเงินในกระปุกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน
- วิธีการเปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี ที่ต้องฝากเงินทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กันก็จะทำให้ได้ในส่วนของดอกเบี้ยเพิ่มมาอีก (แต่บัญชีเงินฝากปลอดภาษี จะมีระยะเวลาฝากขั้นต่ำ 24 เดือน ดังนั้นการเลือกวิธีการเก็บรักษาเงินก็ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของเราได้เลยค่ะ) หรือ
- วิธีการลงทุนแบบ DCA เป็นวิธีการลงทุนที่ถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยนักลงทุนจะทำการลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
สมมติกรณีนี้ น้องจอยเลือกหยอดเงินเข้ากระปุกออมสิน พอถึงสิ้นปี น้องจอยก็จะมีเงินเก็บจากวิธีนี้ทั้งสิ้น (1,000x12) = 12,000 บาท
บทสรุป จากการเลือก 3 วิธีการเก็บเงินข้างต้น จะทำให้ภายใน 1 ปี มีเงินเก็บทั้งสิ้น
(66,795 + 21,600 + 12,000) = 100,395 บาท
เป็นยังไงบ้างคะ แต่ละวิธีก็ดูเหมือนจะเก็บเงินได้ไม่เยอะ แต่พอรวมๆ แล้วตอนสิ้นปี ทำให้คุณมีเงินเก็บหลักแสนได้จริง! ลองไปทำตามกันดูได้เลยนะคะ