มาแล้ว!! ราคาอัตราภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างล่าสุด ปี 2564
ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ครอบครอง โดยมีการเริ่มจัดเก็บพร้อมมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งมีราคาอัตราภาษีนั้นจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปีละ 0.01% ไปจนถึงปีละ 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่มีข่าวดีในปี 2564 นี้คือ มีประกาศลดภาษีให้อีก 90% ของค่าภาษีที่ต้องชำระ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เหลือค่าภาษีที่ต้องชำระเพียง 10% เท่านั้น...วันนี้ทางทีมงาน CheckRaka จึงไม่พลาดที่จะนำเสนอข้อมูลราคาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่าสุด ปี 2564 มาฝากเพื่อนๆ ได้ Update กันค่ะ
แอบส่อง... ราคาอัตราภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างจะถูกกำหนดอัตราภาษีแบ่งตามประเภทการใช้ประโยชน์และตัวผู้เสียภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแตละขั้น แต่...หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ภาษีจะคำนวณตามสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทค่ะ
1) ใช้ประโยชน์ทำเกษตรกรรม
ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการบริโภค หรือจำหน่ายเพื่อบริโภค หรือใช้งานในฟาร์ม แบ่งเป็น
- ทำเกษตรกรรมเต็มพื้นที่
- ทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่ เสียภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์
การพิจารณา
- ดูตามสภาพข้อเท็จจริง
- พื้นที่ที่ใช้ทำเกษตรกรรม
- รวมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องใช้สำหรับเกษตรกรรม
2) ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย
บ้านหลังหลัก
- เจ้าของบ้านมีชื่อในโฉนด และทะเบียนบ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน / เจ้าของคนใดคนหนึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้าน)
บ้านหลังอื่นๆ
- เจ้าของบ้านมีชื่อในโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
3) ใช้ประโยชน์อื่นๆ
- พาณิชยกรรม
- อุตสาหกรรม
- อาคารสำนักงาน
- โรงแรม
- ร้านอาหาร
- ฯลฯ
4) ไม่ใช้ประโยชน์ ปล่อยเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
- ทิ้งที่ดินไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้า ยกเว้น มีกฎหมายห้ามหรือให้ทิ้งไว้เพื่อการเกษตร / ปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ
"หากเข้าใจผิด ทำความเข้าใจใหม่" เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ มีหลายเรื่องที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดจนอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้น วันนี้มาดูกันว่าเรื่องไหนที่เรายังเข้าใจผิดอยู่ก็มาทำความเข้าใจใหม่ ดังนี้ค่ะ
เรื่องที่ 1...หลายคนเข้าใจผิดว่ากรมสรรพากรทำหน้าที่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ความจริงแล้วหน่วยงานที่เก็บ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
เรื่องที่ 2...ถ้าเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโด) หลายแห่ง หลายคนยังเข้าใจผิดว่าถ้าบ้านทุกหลังมูลค่าไม่เกิน 10-50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ความจริงแล้วสิทธิดังกล่าวจะยกเว้นให้เฉพาะต้องเป็นที่อยู่อาศัยหลักที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น (บ้านหลัก) ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ได้แค่แห่งเดียว ดังนั้น ที่อยู่อาศัยอื่นไที่ไม่มีชื่อเราอยู่ในทะเบียนบ้าน (บ้านรอง) จะต้องเสียภาษีด้วยอย่างแน่นอน
เรื่องที่ 3...ทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมของอาคารชุด (ส่วนกลางของคอนโด) ได้รับยกเว้นภาษี แต่ห้องที่อยู่อาศัยของเราไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของคอนโดจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษี
เรื่องที่ 4...การประเมินภาษีไม่ได้ดูที่ราคาขายของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ดูที่มูลค่าตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการเป็นหลัก
เรื่องที่ 5...ในกรณีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม โดยปกติเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนได้รับจดหมายแจ้งค่าภาษีที่ดินของที่แปลงเดียวกัน โฉนดใบเดียวกันและมีข้อความเหมือนกัน หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าต่างคนต่างถูกประเมินภาษีเป็นการส่วนตัว และต่างคนต่างต้องจ่ายภาษีตามจำนวนที่ปรากฎตามจดหมายที่ได้รับทุกคน แต่ความจริงแล้วค่าภาษีนั้นเป็นเพียงค่าภาษีรวมที่เจ้าของทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น สิ่งที่ถูกต้องคือเจ้าของทุกคนต้องตกลงร่วมกันว่าค่าภาษีตามหนังสือที่ได้รับนั้นจะแบ่งกันจ่ายอย่างไรก็ได้ เช่น ที่ดินมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทั้งหมด 4 คน ถ้าเจ้าของทั้ง 4 คนได้รับแจ้งค่าภาษี 2,000 บาท ไม่ได้แปลว่าทั้ง 4 คนต้องจ่ายค่าภาษีคนละ 2,000 บาท เพราะที่ถูกต้องคือ ทั้ง 4 คน ต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าภาษี 2,000 บาทนี้ โดยจะแบ่งเท่าๆ กันคนละ 500 บาท หรือวิธีอื่นก็ได้ แต่สุดท้ายต้องมอบหมายให้เจ้าของคนใดคนหนึ่งดำเนินการชำระก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว