จริงปะเนี่ย!!...เป็นฟรีแลนซ์ กู้ซื้อบ้านได้ ง่ายนิดเดียว

icon 18 ก.ค. 66 icon 10,060
จริงปะเนี่ย!!...เป็นฟรีแลนซ์ กู้ซื้อบ้านได้ ง่ายนิดเดียว
ความฝันหลักของคนส่วนใหญ่ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวก็น่าจะหนีไม่พ้นการมีบ้านเป็นของตัวเอง บางคนมีเงินพอที่จะซื้อด้วยเงินสด แต่บางคนก็มีไม่พอจนต้องพึ่งการขอกู้เงินจากธนาคารแล้วผ่อนคืนเป็นงวดๆ เนื่องจากราคาบ้านที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ราคาค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่ก็หลักล้านขึ้นไป ซึ่งสำหรับคนที่มีงานประจำ รับเงินเดือนทุกเดือนจะไม่ค่อยมีปัญหาในการยื่นกู้กับสถาบันการเงิน แต่คนที่ทำอาชีพอิสระ หรือเป็นฟรีแลนซ์นั้น จะยื่นกู้ได้ไหม? ต้องใช้เอกสารอะไร? ความสงสัยเหล่านี้จะถูกตอบ และคลายข้อสงสัยในบทความนี้ค่ะ
 สถาบันการเงิน... ใช้ปัจจัยอะไรในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย?
เรื่องหลักที่คนทั่วไปควรรู้สำหรับการยื่นกู้ขอสินเชื่อ ก็คือ ปัจจัยที่มีผลต่อการอนุมัติวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับนโยบาย และหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย โดยปัจจัยหลักๆ จะประกอบด้วย
1) ความสามารถในการชำระหนี้ >> เช่น แหล่งที่มาของรายได้ แนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินที่มีอยู่ ประวัติในการชำระหนี้
2) นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ >> เช่น ผู้ขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดใช้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง
3) วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ >> เช่น เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ประกอบอาชีพ อเนกประสงค์
4) หลักประกัน >> หากมีหลักประกันที่มีมูลค่าและแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย หรือมีผู้ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือ ผู้ให้สินเชื่อก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะให้สินเชื่อ เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ให้สินเชื่อจะนำหลักประกันขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ หรือเรียกให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ชำระหนี้แทนได้
5) ประวัติการชำระหนี้ >> เช่น ประวัติในเครดิตบูโร ถ้าข้อมูลแสดงถึงการมีวินัยทางการเงิน เช่น จ่ายเงินตรงเวลาทุกครั้ง มีภาระหนี้คงเหลือไม่มาก ชำระหนี้หมดแล้ว ก็จะมีส่วนช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อมั่นใจมากขึ้น และใช้เวลาตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็ว ในทางกลับกัน ถ้าข้อมูลแสดงถึงการค้างชำระ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็อาจลดลง
 "ฟรีแลนซ์" เตรียมตัวยังไง... ก่อนขอยื่นกู้ซื้อบ้าน?
เมื่อเรามีอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ และจะมีการวางแผนจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง เราจะต้องมีการเตรียมตัวนะคะ ซึ่งวิธีการเตรียมตัวก็ไม่ยากอย่างที่หลายคนคิดกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเตรียมตัวไปพร้อมกันเลย ดังนี้
1. ควรยื่นขอเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสมอ
ฟรีแลนซ์ควรต้องยื่นแบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ทุกๆ ปี เพื่อใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนให้ธนาคารเห็นว่า เราเป็นคนมีรายได้ มีที่มาที่ไปของเงิน และสามารถจ่ายหนี้ได้แน่นอน
2. เก็บหลักฐานหรือผลงานเกี่ยวกับการทำงานทุกครั้ง
ฟรีแลนซ์เป็นคนทำงานอิสระ และมีรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นจงจำไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่มีการว่าจ้างงานเกิดขึ้น ให้เราขอหลักฐาน และเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เช่น หนังสือรับรอง สัญญาจ้าง ใบเสนอราคา หรือรูปถ่ายหน้างาน เป็นต้น หลักฐานพวกนี้สามารถช่วยให้เราน่าเชื่อถือได้ เมื่อต้องขอกู้ซื้อบ้าน
3. วางเงินดาวน์ให้ได้สูงที่สุด (เช่น 25 - 30%)
เงินดาวน์ก็เหมือนเงินลงทุนของเรา ยิ่งดาวน์เยอะ ยิ่งมีโอกาสที่จะกู้ผ่านสูงมาก เพราะไฟแนนซ์จะมีความเสี่ยงลดลงถ้าเงินดาวน์ยิ่งสูง เพราะวงเงินกู้ไม่มากจนเกินไป
4. สร้างประวัติในเครดิตบูโรให้ดี
ปัจจุบันเครดิตบูโรถือได้ว่าสำคัญมากในการขอสินเชื่อ เพราะมันสามารถบอกประวัติการเงินทั้งหมดได้ว่าเรามีวินัยในการใช้หนี้ดีแค่ไหน ดังนั้น ถ้าเราเริ่มมีรายได้ สิ่งที่เราควรทำเพื่อสร้างเครดิตบูโรที่ดี คือการทำบัตรเครดิต และใช้จ่ายอย่างมีวินัย เช่น จ่ายตรงเวลา ไม่จ่ายเพียงแค่ขั้นต่ำ ยิ่งมีประวัติเครดิตยาวนานยิ่งดี (ต้องใช้เวลานะคะสำหรับข้อนี้ เริ่มทำกันได้เลยค่ะ)
5. เดินบัญชีอย่างน้อย 6 เดือน และมีเงินคงเหลือ 3 เท่าของค่างวด
ควรเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้เพื่อเอาเงินรายได้ที่รับมาเข้าบัญชีทุกครั้งก่อนเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่น (แต่อย่าถอนจนหมดนะคะ) ทำแบบนี้ให้สม่ำเสมอ เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงรายได้ให้ธนาคารเห็น และก่อนที่เราจะขอกู้ซื้อบ้านนั้น เราควรเดินบัญชีอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปีได้ยิ่งดี ที่สำคัญคือเงินคงเหลือในบัญชีควรมียอดเป็น 3 เท่าของค่างวดที่เราจะต้องผ่อนทุกเดือน เช่น ถ้าเราจะผ่อนบ้านงวดละ 7,000 บาท เราจะต้องมีเงินคงเหลือในบัญชี 21,000 บาท เป็นต้น (ยิ่งเหลือมาก ก็ยิ่งมีสิทธิ์มาก)
6. หาคนกู้ร่วม หรือคนค้ำประกัน
ถ้าเครดิตการเงินต่างๆ ที่ได้พูดถึงไปแล้วนั้นยังดูไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ ตัวช่วยสุดท้ายของเราก็คือ "หาคนกู้ร่วม" หรือ "หาคนค้ำประกัน" จริงๆ แล้วการกู้ซื้อบ้านสามารถกู้ร่วมได้นะคะ แต่คนกู้ร่วมเราจะต้องเป็นสามี-ภรรยา, พ่อ-ลูก หรือแม่-ลูก เท่านั้น ธนาคารหลายแห่งจะไม่ค่อยแนะนำช่องทางนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะสนับสนุนให้เราหาคนค้ำประกันมากกว่า ซึ่งคนค้ำประกันนี้จะเป็นใครก็ได้ แต่ควรเป็นคนที่มีงานประจำ และมีเงินเดือนสูงกว่าค่างวด 3 เท่าขึ้นไป
 "Check List" ก่อนตัดสินใจยื่นขอกู้ซื้อบ้านกับสถาบันการเงิน
Check List เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำก่อนตัดสินใจจะซื้อบ้านสักหลัง เพื่อเป็นแนวทางให้เราเตรียมความพร้อมได้ล่วงหน้า ไม่พลาด ด้วยการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เมื่อยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารแล้วได้รับการอนุมัติแบบผ่านฉลุย
สุดท้ายนี้...เมื่อฟรีแลนซ์อย่างเรากำลังจะซื้อบ้าน ได้รู้ปัจจัยที่จะทำให้สถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อ รู้วิธีเตรียมตัวก่อนจะยื่นขอกู้ และทำการ Check List เลือกบ้านและสถาบันการเงินที่เหมาะกับเราที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้องรอช้าค่ะ ลุยได้เลย!!
แท็กที่เกี่ยวข้อง กู้ซื้อบ้าน ฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ freelance ฟรีแลนซ์ขอกู้เงิน ฟรีแลนซ์กู้ซื้อบ้าน
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)