ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย หรือเรื่องการเงิน ล้วนแล้วแต่มีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะทั้งนั้น หลายคนพอเข้ามาวนเวียนในวงการเหล่านี้ ก็จะได้รับรู้คำศํพท์แปลกใหม่ ที่อาจยังไม่เคยรู้หรือเคยได้ยินมาก่อน วันนี้ทีมงาน CheckRaka ก็ไม่พลาดที่จะนำคำศัพท์ต่างๆ มาบอกให้เพื่อนๆ ได้รู้จักและเข้าใจเมื่อได้ยินค่ะ ซึ่งในบทความนี้จะเป็นการนำเสนอคำศัพท์พื้นฐานทั้งเรื่องการออกกำลังกาย และเรื่องการเงินก่อนนะคะ โดยในส่วนของคำศัพท์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ทางทีมงานก็จะเอามานำเสนอในบทความถัดไปเรื่อยๆ ค่ะ
คำศัพท์พื้นฐานน่ารู้... ของคนที่เริ่มสนใจในการออกกำลังกาย หรือคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เริ่มต้นของการออกกำลังกาย...หลายคนมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่จะลดน้ำหนัก ทำให้รูปร่าง สัดส่วนของร่างกายดูดี สวยงามตามท้องเรื่อง ซึ่งคำศัพท์ที่มักใช้ในการประเมินรูปร่างเพื่อเป็นพื้นฐานของการวางแผนการออกกำลังกายนั้น มีดังนี้
1. Calorie - แคลอรี่
แคลอรี่ (cal) คือ หน่วยวัดพลังงาน โดย 1 แคลอรี่ คือปริมาณที่ทำให้น้ำ 1 กรัม มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ส่วนพลังงานที่ใช้ในร่างกายหรือพลังงานที่ได้รับจากอาหารจะเรียกว่า "กิโลแคลอรี่" (kcal) มีไว้เพื่อบอกให้รู้ว่าอาหารที่เรากินนั้นมีแคลอรี่เท่าไหร่ ควรเลือกอาหารชนิดใด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉลี่ยแล้วคนเราต้องการพลังงานไม่ต่ำกว่า 1,250 kcal ต่อวัน (ในกรณีอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย) แต่เนื่องจากในชีวิตประจำวันเราต้องมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น เดินขึ้น-ลงบันได ทำงาน ออกกำลังกาย ฯลฯ ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงต้องการพลังงานโดยเฉลี่ยวันละ 2,000 kcal ต่อวัน
สารอาหารที่ให้พลังงาน และมีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ อาหารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
- โปรตีน : จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม
- คาร์โบไฮเดรต : จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม
- ไขมัน : จะให้พลังงาน 9 แคลอรี่ต่อกรัม
ความจริงอยากบอก!! >> การที่จะทำให้น้ำหนักลดลง 1 กิโลกรัม เราจะต้องเผาผลาญพลังงานในร่างกายที่สะสมเอาไว้ให้ได้ถึง 7,700 kcal นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องกินให้น้อยลง เพื่อให้ร่างกายดึงพลังงานในส่วนที่สะสมไว้ออกมาใช้ น้ำหนักตัวถึงจะลดลง แต่ในทางกลับกันถ้าเรากินอาหารเกินความต้องการ ร่างกายก็จะสะสมไว้เป็นไขมัน และทำให้พลังงานที่เกินไป 7,700 kcal ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม
จำไว้ ** การเลือกลดน้ำหนักด้วยวิธีการลดอาหารหรือกินให้น้อยลงเพียงอย่างเดียว มันทำให้น้ำหนักตัวของเราลดลงก็จริง แต่ผลที่ได้จะเป็นแค่การลดปริมาณไขมันในร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่ควรทำไปพร้อมๆ กับการลดปริมาณการกินก็คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมาช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มปริมาณการเผาผลาญให้ดีมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้การลดน้ำหนักของเราได้ผลดีในระยะยาว ร่างกายสมส่วน กระชับ ไม่ดูเหี่ยวอีกด้วย
2. BMI - ดัชนีมวลกาย
BMI หรือ Body Mass Index คือ ค่าดัชนีมวลกาย เป็นคำศัพท์ที่เป็นค่าดัชนีที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการบอกว่าเราอ้วนหรือไม่ ความหมายก็คือค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เซนติเมตร) โดยเมื่อคำนวณออกมาแล้วจะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้รูปร่างของเราอยู่ในระดับไหน มีตั้งแต่อ้วนมาก ไปจนถึงผอมเกินไป
จะรู้ได้ไง...ว่าอ้วนหรือผอม >> ตามสูตรคำนวณนี้เลยจ้า
ตัวอย่างเช่น...น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร
BMI = น้ำหนัก (kg) / ส่วนสูง (m)2 = 50/1.62 = 19.53 (อยู่ในเกณฑ์ปกติ)
3. BMR - พลังงานจำเป็นขั้นต่ำ
BMR หรือ Basal Metabolic Rate คือ ค่าพลังงานน้อยที่สุด ที่ร่างกายต้องการใช้ในแต่ละวัน เพื่อให้ระบบต่างๆ ทำงานได้ ขณะที่เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร (มีเพื่อรอดชีวิต)
สูตรคำนวณหาค่า BMR >> แบ่งเป็น "ผู้ชาย" และ "ผู้หญิง"
ตัวอย่างเช่น...สาวออฟฟิศอายุ 35 ปี น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร
BMR = 665 + [9.6 x 50(kg)] + [1.8 x 160(cm)] - [4.7 x 32] = 1,282.6 kcal
4. TDEE - พลังงานเมื่อรวมกิจกรรม
TDEE หรือ Total Daily Energy Expenditure คือ ค่าพลังงานที่ร่างกายต้องกายเพื่อใช้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละคนจะมีค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของกิจกรรมที่ทำ หรือเรียกว่าเป็นพลังงานที่ใช้เพื่อการใช้ชีวิตนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น...สาวออฟฟิศคนที่ยกตัวอย่างนี้หาค่า BMR ได้ที่ 1,282.6 kcal และเป็นคนออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำเป็นประจำ 3 วัน/สัปดาห์
TDEE = 1,282.6 x 1.375 = 1,763.58 kcal
สรุป...สาวออฟฟิศคนนี้ต้องการพลังงานเพื่อมีชีวิตรอด
1,282.6 kcal และต้องการพลังงานเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมประจำวัน 1,763.58 kcal เพราะฉะนั้น ถ้าสาวออฟฟิศคนนี้พอใจในรูปร่างและการใช้ชีวิตแบบนี้ ก็ควรบริโภคอาหารให้ได้พลังงานทั้งหมด 1,763.58 kcal แต่ที่สำคัญคือสาวออฟฟิศคนนี้จะต้องไม่ลืมออกกำลังกาย (ว่ายน้ำ) ให้ได้ 3 ครั้ง/สัปดาห์ แต่!! - ถ้าต้องการเพิ่มน้ำหนัก >> ต้องบริโภคอาหารให้ได้พลังงาน "มากกว่า" ค่า TDEE (1,763.58)
- ถ้าต้องการน้ำหนักเท่าเดิม >> ต้องบริโภคอาหารให้ได้พลังงาน "เท่ากับ" ค่า TDEE (1,763.58)
- ถ้าต้องการลดน้ำหนัก >> ต้องบริโภคอาหารให้ได้พลังงาน "น้อยกว่า" ค่า TDEE (1,763.58)
คำศัพท์พื้นฐานน่ารู้... สำหรับคนวางแผนที่จะเริ่มออมเงิน การออมคือ การเก็บ สะสม เพื่อให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งการโอนเงินในปัจจุบันก็มีอยู่หลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบก็จะมีคำเฉพาะ หรือศัพท์เฉพาะที่วงการการเงินใช้กัน โดยศัพท์ที่เห็นได้ชัดและคนทั่วไปคุ้นเคยส่++วนใหญ่จะใช้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ในครั้งนี้ทางทีมงานขอนำเสนอคำศัพท์พื้นฐานที่ดูว่าจะคุ้นเคยกันแล้วแต่ยังมีหลายคนไม่เข้าใจหรือไม่รู้จักมาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ นั่นก็คือ บรรดาพวกบัญชีเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์อยู่ในธนาคารปัจจุบันนี้ ได้แก่
1. Current Account - บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน
"บัญชีกระแสรายวัน" มีไว้สำหรับเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินของบริษัทหรือร้านค้า เพราะสามารถใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงินได้ ช่วยลดปริมาณเงินสดที่บริษัทหรือร้านค้าต้องเก็บไว้ เพื่อใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ นอกจากนั้น ยังสามารถขอใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (overdraft) หรือที่เรียกว่าเงิน O/D ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในกรณีเงินขาดบัญชีและช่วยลดปัญหาเช็คเด้งได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเฉพาะเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีตามระยะเวลาที่เบิกเกินบัญชี บัญชีประเภทนี้ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่สถาบันการเงินจะจัดส่งสเตทเมนท์ (statement) ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งยอดเคลื่อนไหวของบัญชีให้ลูกค้าทราบ และโดยทั่วไปมักไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้บัญชีเงินฝากประเภทนี้
2. Savings Account - บัญชีเงินฝากออมทรัพย์
"บัญชีเงินฝากออมทรัพย์" เป็นบัญชีที่ไม่กำหนดระยะเวลา และจำนวนครั้งในการฝากถอน ส่วนใหญ่ใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต และสามารถใช้หักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ บัญชีประเภทนี้ธนาคารจะกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่สูงนัก แต่ผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ย) ค่อนข้างต่ำ และคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ดังนั้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะสั้น มีสภาพคล่องเผื่อไว้กรณีต้องทยอยถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ใช้ทำรายการผ่านบัญชีธนาคาร เช่น รับโอนเงินเดือนและชำระค่าสาธารณูปโภค
3. Fixed Deposit Account - บัญชีเงินฝากประจำ
"บัญชีเงินฝากประจำ" มีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนที่แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ธรรมดา โดยธนาคารจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์หรือลงทุนได้ตามระยะเวลาการรับฝาก โดยไม่ต้องสำรองไว้เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากหากผู้ฝากต้องการได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ก็จะต้องไม่ถอนเงินออกจากบัญชีนี้ก่อนกำหนด คือ จะไม่สามารถใช้เงินจำนวนที่ฝากประจำอยู่ในระยะเวลาหนึ่งได้ บัญชีเงินฝากประจำนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงิน แต่ยังไม่ต้องการใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เงินเย็น) หรือต้องการออมเงินระยะยาวและหวังผลตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
บัญชีเงินฝากอื่นๆ... ที่น่าสนใจ!! นอกจากบัญชีเงินฝากหลักๆ ทั้ง 3 ประเภทที่ได้นำเสนอไปแล้ว ยังมีบัญชีเงินฝากอื่นๆ เพิ่มเติมอีก โดยเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ทางธนาคารกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สนใจอีกด้วย ซึ่งได้แก่
1. บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี
เป็นบัญชีเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ต้องฝากเงินทุกๆ เดือนเป็นจำนวนเท่ากันตลอดอายุสัญญา ซึ่งระยะเวลาอาจกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร เช่น 24 เดือน 36 เดือน และมักกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ดังนั้น คนที่อยากเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ควรมีรายได้ประจำ และสามารถนำเงินเข้าบัญชีได้อย่างสม่ำเสมอ โดยแต่ละคนมีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น ซึ่งหากเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารใดแล้วจะเปิดกับธนาคารอื่นหรือธนาคารเดียวกันอีกไม่ได้ เรียกว่า 1 คน 1 สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากสรรพากรตรวจพบว่ามีการเปิดมากกว่า 1 บัญชี เราจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวเลย ดังนั้น จึงควรเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง และข้อสำคัญต้องคำนึงถึงความสะดวกในการนำเงินเข้าบัญชีด้วย เพราะถ้าขาดฝากเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารประกาศ หรือได้รับเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ หรืออาจต้องเสียภาษี 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละธนาคารจะแตกต่างกัน จึงควรศึกษาเงื่อนไขอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิที่พึงจะได้รับจากการฝากเงินประเภทนี้
2. บัญชีเงินฝากแบบขั้นบันได (Step-up Account)
บัญชีเงินฝากแบบขั้นบันไดจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันเป็นช่วงๆ เช่น ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนขั้นบันไดและโฆษณาจูงใจว่าได้รับผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยสูงแต่มักเป็นเพียงช่วงเดือนสุดท้ายเท่านั้น (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันได) หากคิดจะฝากต้องดูที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปีของทั้งโครงการ ซึ่งสถาบันการเงินต้องแจ้งให้เราทราบด้วยเพราะข้อมูลและการเปรียบเทียบดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปีของทั้งโครงการของแต่ละธนาคารที่มีบริการบัญชีประเภทนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกฝากเงินของเราที่ตรงกับความต้องการของเราได้
3. บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ
เป็นบัญชีเงินฝากที่เหมาะกับผู้ที่มีรายรับหรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ สามารถใช้เงินในบัญชีมาทำธุรกรรมทางการเงินได้เลยโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินบ่อยๆ ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดได้ทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากกระแสรายวัน โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องเสียภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม การฝากเงินเป็นเงินตราต่างประเทศจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และค่าบริการในการทำธุรกรรมสำหรับบัญชีประเภทนี้อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ
สำหรับวันนี้...คำศัพท์ที่ทางทีมงาน CheckRaka นำมาเสนอนั้นจะเป็นคำศัพท์พื้นฐานทั้งในเวย์ของทางสุขภาพ และทางการเงินที่เราควรรู้ไว้เพื่อให้เข้าใจในการดำเนินการต่อๆ ไป เพราะเราจะต้องเจอหรืออาจต้องนำมาใช้เพื่อเป็นช่องทางไปสู่ความสำเร็จในอนาคตค่ะ ครั้งหน้า #โค้ชหญิง จะพาไป #FIT แบบไหนอีก อย่าลืมติดตามกันนะคะ ^_^