จริงหรือไม่? การขอพักชำระหนี้จากการได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดรายจ่าย!!
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลืออะไรที่ออกมาเยียวยาในช่วงนี้ (COVID-19) หลายคนเมื่อได้รู้ก็ต้องการจะยื่นเรื่องขอรับสิทธิ์ในทันที ทั้งมาตรการช่วยเหลือเยียวยารับเงิน 5,000 บาท จากรัฐบาล หรือการลดภาระหนี้ จากสถาบันการเงินต่างๆ แต่รู้มั้ยคะว่า... ทุกมาตรการที่ออกมามีเงื่อนไขซ่อนอยู่ที่เราควรรู้ และทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง หากเราเลือกผิด วู่วาม ใจเร็ว เพียงแค่ต้องการความช่วยเหลือในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุด อาจทำให้เราทำผิดกฎหมาย อย่างเช่นมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จากข้อมูลเท็จที่เราลงทะเบียนไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
จริงหรือไม่-ใช่หรือมั่ว : คนที่ลงทะเบียนด้วยข้อมูลเป็นเท็จ โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" รับเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาท จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย) หรือแม้แต่การยื่นเรื่องดำเนินการขอลดภาระหนี้กับสถาบันการเงินที่เราเป็นหนี้อยู่ก็เช่นกัน มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจมาตรการให้ความช่วยเหลือนั้นๆ อย่างละเอียดและรอบคอบที่สุด เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกันนะคะ
มาทำความเข้าใจความหมายของคำสำคัญๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับมาตรการลดภาระหนี้จากสถาบันการเงิน
มาตรการช่วยลดภาระหนี้ของลูกหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ มีออกมามากมาย ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ลูกหนี้ทั้งหลายควรรู้ และทำความเข้าใจให้ละเอียดก่อนตัดสินใจดำเนินการขอความช่วยเหลือเหล่านั้น โดยมีคำสำคัญๆ ที่เราควรทำความเข้าใจอยู่ 4 คำ คือ
1. พักชำระหนี้ คือ การที่ลูกหนี้ได้รับอนุญาตจากเจ้าหนี้ ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในงวดที่ได้รับการพักชำระหนี้นั้น แต่...สถาบันการเงินจะยังมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ โดยจะมีการเก็บดอกเบี้ยหลังจากที่ครบงวดการพักชำระหนี้แล้ว
2. พักชำระเงินต้น คือ ในงวดที่ลูกหนี้ได้รับอนุญาตให้พักชำระเงินต้นนั้น ไม่ต้องจ่ายเงินต้น (เฉพาะในส่วนของเงินต้น) แต่...ยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ย (เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ย) ให้กับสถาบันการเงินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบกำหนดงวด แล้วหลังจากนั้นก็ชำระเงินค่างวดตามปกติ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย)
3. ลดดอกเบี้ย คือ สถาบันการเงินลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด แต่...ลูกหนี้ยังคงต้องมีการชำระเงินต้น และดอกเบี้ย (ที่ลดแล้ว) ตามเดิม ซึ่งเป็นการจ่ายค่างวดในส่วนของดอกเบี้ยลดลงนั่นเอง
4. พักหนี้ คือ เมื่อใดที่สถาบันการเงินให้ลูกหนี้ "พักหนี้" ได้นั้น แสดงว่าในงวดที่ลูกหนี้ได้รับการพักหนี้ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ซึ่งแปลว่าสถาบันการเงินจะหยุดคิดดอกเบี้ยในช่วงที่พักหนี้ด้วย
ตัวอย่างของการผ่อนชำระปกติ หรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
เมื่อเราได้รู้และทำความเข้าใจกับความหมายของคำสำคัญๆ เหล่านี้แล้ว เราก็มาดูกันว่า ในกรณีที่เราเป็นหนี้อยู่และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ในครั้งนี้ เราควรจะเลือกดำเนินการกับหนี้สินที่เราเป็นอยู่ในแบบไหนที่เหมาะกับเรา และทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความช่วยเหลือนี้
จากตัวอย่าง (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) กรณีที่เป็นหนี้อยู่ 1,000,000 บาท จะทำให้หนี้ที่เหลือหลังจากรับมาตรการช่วยเหลือแล้ว เราจะมีหนี้เหลือคงค้างเท่าไหร่? แล้วเราควรจะเลือกกรณีลดภาระหนี้จากสถาบันการเงินเหล่านี้หรือไม่?
จากตัวอย่างที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้นมาให้เห็นนี้ สรุปได้ว่า...
กรณีที่ 1 หากเรามีหนี้สินอยู่ 1 ล้านบาท และเราเลือกที่จะ ผ่อนชำระตามปกติ ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งยกตัวอย่างผ่อนชำระงวดละ 10,000 บาท (เงินต้น 4,000 บาท และดอกเบี้ย 6,000 บาท) หลังจากนั้น 6 เดือนต่อมา เราจะมีหนี้คงเหลืออยู่ที่ 976,000 บาท
กรณีที่ 2 หากเรามีหนี้สินอยู่ 1 ล้านบาท และเราเลือกที่จะ พักชำระคืนเงินต้น ซึ่งจากตัวอย่างก็แสดงว่าเราจะต้องผ่อนชำระงวดละ 6,000 บาท (เฉพาะดอกเบี้ย) หลังจากนั้น 6 เดือนต่อมา เราจะมีหนี้คงเหลืออยู่ที่ 1,000,000 บาท
กรณีที่ 3 หากเรามีหนี้สินอยู่ 1 ล้านบาท และเราเลือกที่จะ พักชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้นในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ทำการพักชำระนั้น เราไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่หลังจากที่ครบกำหนดแล้ว เราจะมีหนี้คงเหลืออยู่ที่ 1,036,000 บาท
จากตัวอย่างข้างต้นหลายคนคงเห็นแล้วนะคะว่า เราควรจะเลือกแบบไหน และแบบไหนจะเหมาะกับเราที่สุด ซึ่งถ้าเราเลือกแบบที่จะผ่อนตามปกติ ก็จะทำให้หนี้เราลดลงไปด้วย ในกรณีนี้จะเหมาะกับคนที่มีรายรับที่จะสามารถจ่ายหนี้สินที่มีอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน แต่ถ้าใครที่พอมีรายได้อยู่บ้าง โดยอาจจะถูกปรับลดลง ก็อาจจะเลือกแบบพักชำระคืนเงินต้น เพื่อให้รายจ่ายพอเพียงกับการใช้จ่ายในช่วงวิกฤตนี้ ทั้งนี้จะต้องทำความเข้าใจว่าหนี้สินของเราหลังจากพ้นกำหนดการพักชำระคืนเงินต้นแล้ว จำนวนหนี้ของเราก็ยังคงเท่าเดิม สุดท้าย...หากใครเลือกแบบพักชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยนี้ อาจจะเป็นคนที่ไม่มีรายรับเข้ามาในช่วงนี้เลย ซึ่งอาจจะเกิดจากการถูกเลิกจ้างหรือปิดกิจการ ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้สินแบบปกติในช่วงวิกฤตนี้ได้ ดังนั้นคนที่เลือกแบบนี้จะต้องยอมรับให้ได้ว่าหนี้สินของเราหลังจากหมดกำหนดการพักชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว จะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินนั้นๆ ยังคงคิดดอกเบี้ยทุกวันตามปกติ
สรุป...จากความเชื่อที่ว่า "การขอพักชำระหนี้จากการได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดรายจ่าย!!" ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะความช่วยเหลือดังกล่าวนี้มีทั้งข้อดี และข้อเสีย แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกหนี้แต่ละรายนั่นเอง