"มาตรการเยียวยา 5,000 บาท" เป็นมาตรการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยรัฐบาลจะมอบเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ 3 ธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรามาดูกันค่ะว่าใครที่จะได้รับสิทธิ์สำหรับมาตรการนี้บ้าง และมีเงื่อนไขอย่างไรในการรับเงินเยียวยา
ใครที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท
สำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติได้รับเงินเยียวยา จำนวน 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีดังนี้ค่ะ
- แรงงาน
- ลูกจ้างชั่วคราว
- อาชีพอิสระ
- ผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33
- ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
สำหรับกลุ่มคนที่ยกเว้นไม่ได้รับสิทธิ์สำหรับมาตรการนี้ มีดังนี้
- ข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ
- เกษตรกร (กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)
- ผู้ประกันตนมาตรา 33
ลงทะเบียนได้เมื่อไหร่ และต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง?
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยผู้ที่ลงทะเบียนควรจะใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้ เพื่อระบบจะได้แจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิตามมาตรการผ่านทางข้อความ SMS ได้ค่ะ
หลักฐานที่ใช้ในการลงทะเบียน - หมายเลขบัตรประชาชน
- ข้อมูลประกอบการอาชีพ
- ข้อมูลบริษัทนายจ้าง (กรณีมีนายจ้าง)
- ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน
ลงทะเบียนได้ที่ไหน และมีวิธีการรับเงินอย่างไร?
การลงทะเบียน >> ผู้ได้รับสิทธิ์สามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ใน วันที่ 28 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป
การรับเงิน >> - รับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน
- รับเงินโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยต้องเป็นบัญชีธนาคารที่ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลที่นำมาลงทะเบียน
ทั้งนี้ ระบบจะสามารถดำเนินการให้จ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีผู้ขอรับสิทธิ์ได้เร็วสุดภายใน 7 วันทำการ อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยา 5,000 บาทนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ดังนั้นหากผู้ลงทะเบียน และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน กระทรวงการคลังก็พร้อมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป
และหากไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ขอความร่วมมือให้ขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิดในการช่วยลงทะเบียนออนไลน์ได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 02-111-1144