โดน "ทวงหนี้" บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลอยู่หรือเปล่า?...10 เรื่องต้องรู้เวลาโดนทวงหนี้
เมื่อมีการกู้หนี้ยืมสินแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบุคคล หรือบัตรเครดิต สิ่งที่ต้องตามมานั่นก็คือ การใช้หนี้คืน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ยืมแล้วไม่คืน ก็จะต้องมีการทวงหนี้เกิดขึ้นแน่นอน และถ้าในฐานะที่เรากำลังเป็นลูกหนี้อยู่ จะมีอะไรที่เราต้องรู้เมื่อโดนทวงหนี้ หรือมีอะไรที่ทำได้ และทำไม่ได้บ้าง
วันนี้
CheckRaka.com ได้สรุปสิ่งที่ต้องรู้จาก 10 คำถามยอดฮิต...เมื่อโดนทวงหนี้จากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบุคคล หรือบัตรเครดิต มาให้ทุกคนได้รู้สิทธิ์ของตัวเอง ดังนี้
10 คำถาม-ตอบ ยอดฮิต
ใครจะทวงหนี้เราได้บ้าง? เพื่อป้องกันการทวงหนี้นอกระบบ คนที่จะทวงหนี้เราได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียนกระทรวงมหาดไทย แม้แต่ผู้ที่เป็นทนายความ (หรือสำนักงานทนายความ) ที่ได้รับการว่าจ้างเพื่อไปทวงถามหนี้ ก็ต้องมีการรับรองขึ้นทะเบียนจากสภาทนายความด้วย ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่ทวงถามหนี้เรานั้น ก็ต้องเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงิน โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจมาด้วย เพื่อแสดงเป็นหลักฐานว่าได้รับมอบอำนาจมาจริง
หนี้เราจะเสียดอกเบี้ยหรือค่าปรับเท่าไหร่? เริ่มแรกถ้าเราไม่จ่ายหนี้ตามกำหนดเวลา เราจะเริ่มโดนปรับก่อน โดยหนี้สินเชื่อแต่ละประเภทจะมีอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ไม่เท่ากัน ประมาณแล้วก็ดังต่อไปนี้
- ในกรณีของบัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยผิดนัดจะเป็น 18% ต่อปี
- ในกรณีของสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไป จะไม่เกิน 28% ต่อปี
- ในกรณีของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะเท่ากับ 15% ต่อปี
- ในกรณีของสินเชื่อบ้าน จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่ธนาคารนั้นๆ ประกาศ ณ ขณะนั้น เป็นต้น
ถ้าเราโดนทวงหนี้ ขั้นตอนที่ถูกต้องควรต้องเป็นยังไงบ้าง? โดยหลักการแล้ว คนที่จะทวงหนี้เราได้ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายดังต่อไปนี้ (ดังนั้น ถ้าเราเจอการทวงหนี้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ เรามีสิทธิปฏิเสธการโดนทวงหนี้ได้)
(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้
(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็น และตามความเหมาะสม
(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้
(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้
(5) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว
(6) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 และในวันหยุดราชการ เวลา 08.00-18.00 และให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม
(7) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตน และของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย
ถ้าเราเสียชีวิต ลูกหลานต้องรับผิดชอบหนี้ต่อไหม? กรณีลูกหนี้เสียชีวิต เจ้าหนี้จะต้องฟ้องทายาทของลูกหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่อง หรือทราบถึงการเสียชีวิตของลูกหนี้ หากฟ้องเกิน 1 ปี ทายาทสามารถปฏิเสธการชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ทายาทมีความรับผิดเท่าที่ได้รับมรดกมาเท่านั้น หากผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท หรือมีแต่จำนวนไม่เพียงพอ ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวสำหรับส่วนที่ขาด
ทวงหนี้แบบข่มขู่ หรือพูดจาหยาบคายใส่เราได้หรือไม่? "ไม่ได้ครับ" เพราะมาตรา 11 ของ พรบ. การทวงถามหนี้กำหนดมาตรการคุ้มครองลูกหนี้เอาไว้ ซึ่งเขียนชัดเจนว่าห้ามใช้วาจา หรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ รวมถึงมิให้ใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย นอกจากนี้ การทวงหนี้แบบ "ประจาน" ที่ในอดีตเคยใช้กันบ่อย เช่น การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน (เช่น การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้) ก็ทำไม่ได้เช่นกัน (เว้นแต่จะเป็นการส่งเอกสาร หรือหมายศาลเพื่อใช้สิทธิทางศาลแล้ว จึงจะสามารถกระทำได้) นอกจากนี้ การทวงหนี้ถึงขั้นอาจผิดกฎหมายอาญาได้ ถ้าถึงขั้นเป็นความผิดต่อเสรีภาพ (มาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา) หรือกรรโชกทรัพย์ (มาตรา 337 ประมวลกฎหมายอาญา)
ถ้าจะสู้กับเจ้าหนี้ ต้องมีทนายไหม? "ไม่จำเป็นต้องมี" ถ้าเราโดนทวงหนี้จนถึงขั้นถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องในศาล โดยหลักการ เราไม่ต้องมีทนายความก็ได้ แต่หากเรามีเพื่อนเป็นทนายความ หรือมีเงินพอจ้างทนายความได้ เราก็ควรจะให้มีทนายความมาช่วยดีกว่า เพราะการมีคนรู้กฎหมายมาช่วยเหลือให้คำแนะนำเรา หรือคอยช่วยเจรจาต่อรอง ก็จะช่วยให้เราอุ่นใจขึ้นได้บ้าง
ทวงหนี้ หรือตามหาตัวเรากับคนที่ออฟฟิศ หรือที่บ้านได้หรือไม่? "ไม่ได้" ตาม พรบ. การทวงถามหนี้มาตรา 8 นั้น การทวงถามหนี้จะต้องทวงถามเอากับตัวลูกหนี้เองเท่านั้น ห้ามทวงหนี้ หรือสอบถามเอากับบุคคลอื่น เช่น ญาติ หรือเพื่อนร่วมงานลูกหนี้ เว้นแต่เราจะระบุชื่อเพื่อน หรือญาติเราคนใดคนหนึ่งไว้ก่อนแล้วเพื่อให้เจ้าหนี้ทวงถามเอากับคนนั้นได้
มีแค่ข้อความทาง Line ใช้เป็นหลักฐานการกู้เงินได้หรือไม่? ปกติถ้าเรากู้เงินจากธนาคารจะต้องมีการเซ็นสัญญากู้กับธนาคาร แต่ปัจจุบันนี้ มีคำพิพากษาของศาลวางหลักการไว้แล้วว่า แม้จะไม่ได้เซ็นสัญญากู้อะไรกันเป็นทางการ แต่ถ้ามีข้อความทางไลน์ (Line) แสดงให้เห็นได้ว่ามีการตกลงกู้เงินกันประกอบกับมีหลักฐานการโอนเงินกู้กันจริงประกอบกัน ข้อความทางไลน์นี้ก็ใช้บังคับกันทางศาลได้ โดยถือว่าการแชทกู้ยืมเงินกันทางไลน์เป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือ และเมื่อสามารถระบุได้ว่าบุคคลในไลน์ดังกล่าว เป็นบุคคลคนเดียวกันกับคนที่กู้ยืมเงินไป ก็ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อแล้วมีผลผูกพันตามมาตรา 7-9 พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และมาตรา 653 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ศาลจะช่วยประนีประนอมเรากับเจ้าหนี้ได้บ้างไหม? โดยปกติในคดีสินเชื่อพวกนี้ ศาลมักจะช่วยไกล่เกลี่ย หรือช่วยประนีประนอมคู่กรณีเสมอ โดยศาลอาจมีการแยกเจรจาเจ้าหนี้ครั้งหนึ่ง ลูกหนี้แยกครั้งหนึ่ง หรืออาจให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ไปคุยกันเองนอกรอบ โดยหลัก ศาลก็มักช่วยเจรจาให้มีการลดดอกเบี้ย หรือเบี้ยปรับลงบ้าง จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นกรณีๆ ไป
เป็นหนี้ต้องออกจากงานไหม? ไม่มีกฎหมายไหนบอกว่า ถ้าเป็นหนี้แล้วจะต้องออกจากงาน หรือเป็นหนี้แล้วจะโดนเลิกจ้างได้ ดังนั้น แม้เราจะเป็นหนี้ เราก็ทำงานประจำที่ทำต่ออยู่ได้ครับ เพียงแต่ว่าอย่าเป็นหนี้ถึงในระดับที่เป็นบุคคลล้มละลายก็แล้วกันครับ เพราะในชีวิตจริง หากเป็นบุคคลล้มละลาย เราจะได้รับผลกระทบหลายอย่าง ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ การเป็นบุคคลล้มละลายจะถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามขาดคุณสมบัติที่จะสมัครเข้ารับราชการได้ (ตาม พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน)
จากคำถามที่เคยค้างคาในใจหลายคน ตอนนี้ก็คงทำให้พอเข้าใจกันมากขึ้น ต่อไปนี้ถ้ามีการทวงหนี้แบบโหดๆ หรือแบบไม่เหมาะสม เอารัดเอาเปรียบเราอีก ก็ให้ดำเนินการตามสิทธิ์ที่ควรจะเป็นได้เลย จำไว้เสมอว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันตามกฎหมาย