เปิดค่าบริการ "ทำฟัน" เราจ่ายแค่ไหน ประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ มาดูคำตอบกัน!
เช็คสุขภาพการเงินกันมาก็เยอะแล้ว วันนี้เรามาเช็คสุขภาพช่องปากกันบ้างดีกว่าค่ะ ปกติแล้วเพื่อนๆ เช็คสุขภาพช่องปากกันกี่ครั้งต่อปีคะ? สำหรับคนที่ไม่ได้จัดฟัน ปกติก็เช็คปีละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งขอบอกเลยค่ะ ถ้ามีต้องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอนี่ก็คงโดนไปหลายบาทเลยทีเดียว แต่ก็ยังดีที่เรายังสามารถเบิกบางส่วน (ที่ไม่เคยจะพอ 555) กับหน่วยงานประกันสังคมที่เราจ่ายเงินสมทบเข้าไปทุกเดือนนั่นแหละค่ะ วันนี้เช็คราคาเลยอยากพามาเช็คข้อมูลกันหน่อยว่า ถ้าจะทำฟันต้องทำที่ไหนถึงจะเบิกประกันสังคมได้ และจะสามารถเบิกได้เท่าไหร่ อย่างน้อยๆ เราจะได้เตรียมวางแผนการเงินในส่วนของค่าทำฟันนี้ไว้ล่วงหน้าได้นะคะ
ใครมีสิทธิ์เบิกประกันสังคมได้
ผู้ที่จะสามารถรับสิทธิ์ทำฟันประกันสังคมต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 และต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทำฟัน โดยสามารถทำเดือนไหนของปีก็ได้ ทั้งนี้หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน แล้ว แต่ได้ลาออกจากงาน ก็ยังสามารถรับบริการทันตกรรมได้ เพราะสิทธิ์ประกันสังคมยังคงคุ้มครองต่อให้อีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกนะคะ
ทำฟันที่ไหน ใช้สิทธิ์เบิกประกันสังคมได้
สำหรับการใช้สิทธิ์ประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถรับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกทันตกรรม ที่เป็นสถานพยาบาลที่ประกันสังคมระบุไว้ นอกจากนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีทันตกรรมให้กับผู้ประกันตน กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 900 บาท ต่อราย ต่อปี
โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
สำหรับสถานพยาบาล หรือคลีนิคที่มีสติกเกอร์ หรือป้าย
"สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย" (
เช็ครายชื่อสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมในการให้บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน)
ตัวอย่างสติกเกอร์
วงเงินที่สามารถเบิกได้จากหน่วยงานประกันสังคมกรณี "ทำฟัน"
ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ในวงเงินรวมไม่เกิน 900 บาทต่อปี หากค่ารักษามากกว่า 900 บาท ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบในส่วนที่เกินนั้นเองค่ะ
เปิดราคาค่า "ทำฟัน" พร้อมเช็คสิทธิ์ที่สามารถเบิกได้จากหน่วยงานประกันสังคม
ไหนๆ ก็จะต้องตรวจเช็คสุขภาพช่องปากกันทุกปีอยู่แล้ว การเลือกสถานพยาบาลก็มีผลกับอัตราค่าบริการด้วยเช่นกันนะคะ วันนี้เช็คราคาขอเปิดค่าบริการทันตกรรมของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมข้อมูลสิทธิ์ที่เราสามารถเบิกได้จากสำนักงานประกันสังคม ตามรายละเอียดในตารางด้านล่างนี้นะคะ
รายการให้บริการ | โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | ประกันสังคม |
อัตราค่าบริการ | อัตราค่าบริการที่เบิกได้ |
ระบบการเรียนการสอน | ระบบค่าตอบแทน |
นักศึกษาทันตแพทย์ | นักศึกษาหลังปริญญา | นายแพทย์ |
1.ขูดหินปูนทั้งปาก | ครั้งละ 100 บาท | ครั้งละ 200 บาท | ครั้งละ 700 บาท | 400 บาท |
2. อุดฟันด้วยวัสดุ Amalgam | ด้านละ 50 - 350 บาท | ด้านละ 300 - 900 บาท | ด้านละ 400 - 1,800 บาท | - 1 ด้าน 300 บาท
- 2 ด้าน 450 บาท
|
3. อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน | ด้านละ 100 - 500 บาท | ด้านละ 350 - 1,000 บาท | ด้านละ 500 - 1,400 บาท | - 1 ด้าน
(ฟันหน้า) 350 บาท (ฟันหลัง) 400 บาท
- 2 ด้าน
(ฟันหน้า) 400 บาท (ฟันหลัง) 500บาท |
4. ถอนฟันธรรมดา | ซี่ละ 100 บาท | ซี่ละ 100 บาท | ซี่ละ 400 - 700 บาท | (ฟันแท้) 250 บาท |
5. ถอนฟันธรรมดาโดยวิธีผ่าตัด | ซี่ละ 200 บาท | ซี่ละ 300 บาท | ซี่ละ 800 - 900 บาท | (ถอนฟันที่ยาก) 450 บาท |
6. ผ่าฟันคุด | ซี่ละ 200 บาท | ซี่ละ 300 - 500 บาท | ซี่ละ 2,500 - 4,000 บาท | 900 บาท |
7. ใส่ฟันเทียมบางส่วนแบบถอดได้
|
| 360 - 800 บาท | 800 - 2,000 บาท | 1,800 - 4,000 บาท | กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน** - 1-5 ซี่ ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300 บาท
- มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท
|
| 1,000 - 1,400 บาท | 2,000 - 6,000 บาท | 5,000 - 12,000 บาท |
8. ใส่ฟันเทียมทั้งปาก* | 2,000 - 3,000 บาท | 2,500 - 7,500 บาท | 5,000 - 15,000 บาท | กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก** - ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบน หรือ ล่าง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,400 บาท
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบน และ ล่าง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,400 บาท
|
หมายเหตุ :
- อัตราค่าบริการของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอัตราค่าบริการโดยประมาณ ทั้งนี้อัตราค่ารักษาที่แท้จริง ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาจะแจ้งให้ทราบก่อนการรักษา (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2561)
- *หมายถึง การใส่ฟันไม่รวมค่าวัสดุ และค่า Lab
- **เป็นกรณีใช้สิทธิ์ใส่ฟันเทียมแล้ว สามารถเบิกฟันเทียมชุดใหม่ได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี
เห็นค่าใช้จ่ายแบบนี้แล้ว ก็อยากให้รักษาสุขภาพช่องปากกันให้ดีๆ เพราะค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง แต่เบิกได้จริงๆ ไม่เยอะเลย สุขภาพช่องปากก็เหมือนสุขภาพการเงิน ที่ต้องหมั่นตรวจเช็คอยู่เสมอนะคะ "สุขภาพช่องปาก ต้องหมั่นตรวจเช็คให้สะอาดฉันใด สุุขภาพการเงินนั้นไซร้ ก็ควรทำให้ปลอดหนี้ฉันนั้น" ไว้พบกันใหม่บทความหน้า บ๊าย บาย ค่าา :)