มาตรการลดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลฉบับใหม่ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้จริงหรือไม่? ที่นี่มีคำตอบ!!
จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจชาติมีปัญหาไม่น้อย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความสำคัญ พร้อมดูแลแก้ไขเพื่อให้กระทบภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศระยะยาวน้อยที่สุด ด้วยการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากการมีโครงการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และคลินิกแก้หนี้ขึ้น
ล่าสุด!! ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการปรับปรุงแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะช่วยดูแลการก่อหนี้ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุก็มาจากการที่เราเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ง่าย แถมยังเป็นสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน จึงทำให้ได้มาง่าย ใช้จ่ายง่าย จนก่อหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองได้
โดยมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับนี้ ได้ปรับวงเงินการให้สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และให้ได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากสถาบันการเงินไม่เกิน 3 ราย ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนสถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อแต่ละราย โดยยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะเรียกเก็บ
ระยะเวลาแนวทางการกำหนดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลนี้จะมีผลใช้บังคับกับผู้ขอมีสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป และสำหรับเพดานอัตราดอกเบี้ย
มาตรการนี้ใช้ได้กับใคร และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไหน?
สำหรับมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ออกมาใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้กับสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเท่านั้น เช่น บัตรกดเงินสด โดยจะไม่รวมสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย / รถยนต์ / รถจักรยานยนต์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันประเภทอื่น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการศึกษา / สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ / สินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงาน
ประโยชน์ที่จะได้จากการปรับปรุงมาตรการนี้ คืออะไร?
จากมาตรการที่ปรับปรุงนี้ หลายคนเชื่อว่าจะช่วยลดโอกาสในการก่อหนี้สินล้นพ้นตัวของคนที่กำลังจะเริ่มสร้างหนี้ได้ พร้อมเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นสินเชื่อประเภทที่เข้าถึงง่ายและอาจบั่นทอนความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเมื่อมีการลดเพดานหนี้ก็จะทำให้คนเป็นหนี้น้อยลงได้เช่นกัน