เปิดวาร์ป...บัตรคนจน ให้เท่าไหร่ ใช้อะไรได้บ้าง
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการประชารัฐสวัสดิการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรารู้กันในชื่อ "บัตรคนจน" ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง มีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 11.67 ล้านคน โดยในเบื้องต้นจะได้รับสวัสดิการเพื่อลดภาระค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสำหรับงบประมาณที่รัฐจะต้องจ่ายสนับสนุนโครงการเป็นเงิน 41,940 ล้านบาทต่อปี เราลองมาดูกันค่ะว่าบัตรนี้ หน้าตาแบบไหน และเอาไว้ใช้ทำอะไรได้บ้าง
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
ประชารัฐสวัสดิการ เป็นการให้วงเงินเพื่อชำระค่าสินค้า และบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือร้านค้าที่กำหนด เมื่อชำระค่าสินค้าและบริการแล้ว วงเงินจะลดลงตามยอดที่ใช้จ่าย และเมื่อถึงรอบวันที่ 1 ของทุกเดือน (ยกเว้นลงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ทุกวันที่ 1 ของทุก 3 เดือน) วงเงินจะถูกปรับเป็นค่าเริ่มต้นของวงเงินแต่ละสวัสดิการเสมอ ไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป และไม่สามารถถอนวงเงินสวัสดิการออกเป็นเงินสดได้ ซึ่งจะมีการแบ่งบัตรคนจนออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 สำหรับผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 - 100,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงินผ่านบัตร 200 บาทต่อเดือน หรือ 2,400 บาทต่อปี
กลุ่มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงินผ่านบัตร 300 บาทต่อเดือน หรือ 3,600 บาทต่อปี
บัตรคนจนมีกี่แบบ?
บัตรคนจนแบ่งเป็น 2 แบบตามพื้นที่การลงทะเบียน ดังนี้
1. บัตร Hybrid 2 Chips เป็น Contact Chip และ Contactless Chip และแถบแม่เหล็ก Contactless Chip จะเป็นไปตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนกับหน่วยรับลงทะเบียนในเขตกทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร โดยบัตรนี้จะสามารถใช้ขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯได้ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะมีการติดตั้งเครื่องรับบัตรให้กับรถเมล์จำนวน 800 คัน
2. บัตร EMV เป็น Contact Chip และแถบแม่เหล็ก สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนกับหน่วยรับลงทะเบียนนอกเขตจังหวัดดังกล่าว (นอกเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร) สำหรับบัตรนี้จะไม่สามารถใช้ขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯได้ แต่สามารถซื้อตั๋วรถ บขส.ได้
เงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
1. วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
ใช้สิทธิ์ด้วยตนเอง 1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์ สามารถใช้ซื้อสินค้าไม่จำกัดจำนวนภายในวงเงินสวัสดิการที่จะมีการกำหนดในบัตรตามรายได้ของผู้มีสิทธิ์ กรณีซื้อสินค้ามากกว่าวงเงินสวัสดิการที่ได้รับผู้มีสิทธิ์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง
สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถใช้สิทธิ์ในการซื้อสินค้า ได้ดังนี้
- ผู้พิการ ให้ผู้ดูแลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัตรประจำตัวผู้พิการเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนได้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ที่ใช้สิทธิ์แทนจากบัตรประจำตัวผู้พิการที่ระบุชื่อผู้ดูแล และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแล ก่อนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์)
- ผู้สูงอายุ ให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนได้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ที่ใช้สิทธิ์แทนจากใบมอบฉันทะ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้สูงอายุ และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแลก่อนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์)
- ผู้ป่วยติดเตียง ให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนได้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ที่ใช้สิทธิ์แทน จากใบมอบฉันทะ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วยติดเตียง และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแล ก่อนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์)
2. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด
ใช้สิทธิ์ด้วยตนเอง 1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์ ใช้เป็นส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด ตามสิทธิ์เป็นจำนวนเงิน 45 บาทต่อ 3 เดือน สำหรับค่าก๊าซหุงต้มส่วนที่เกิน 45 บาท ผู้มีสิทธิ์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง
สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้สามารถใช้สิทธิ์ในการซื้อก๊าซหุงต้ม ได้ดังนี้
- ผู้พิการ ให้ผู้ดูแลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัตรประจำตัวผู้พิการเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนได้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ที่ใช้สิทธิ์แทนจากบัตรประจำตัวผู้พิการที่ระบุชื่อผู้ดูแล และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแล ก่อนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์)
- ผู้สูงอายุ ให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนได้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ที่ใช้สิทธิ์แทนจากใบมอบฉันทะ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้สูงอายุ และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแลก่อนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์)
- ผู้ป่วยติดเตียง ให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนได้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ที่ใช้สิทธิ์แทน จากใบมอบฉันทะ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วยติดเตียง และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแล ก่อนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์)
3. วงเงินค่าโดยสารรถ ขสมก./รถไฟฟ้า
ใช้สิทธิ์ด้วยตนเอง 1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์ ใช้ชำระค่าโดยสารรถ ขสมก. (ระบบ e-Ticket) / รถไฟฟ้า ได้ 500 บาทต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ์
4. วงเงินค่าโดยสารรถ บขส.
ใช้สิทธิ์ด้วยตนเอง 1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์ ใช้ซื้อบัตรโดยสาร บขส.ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ์
5. วงเงินค่าโดยสารรถไฟ
ใช้สิทธิ์ด้วยตนเอง 1 คนต่อ 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์ ใช้ซื้อบัตรโดยสารรถไฟภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ์
การใช้สิทธิ์
สามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้สิทธิ์ตามวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือร้านค้าที่กำหนด ได้แก่
- จุดรับชำระเงินตามร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
- จุดรับชำระเงินตามร้านค้าก๊าซที่กระทรวงพลังงานกำหนด
- เครื่องแตะบัตรชำระเงินบนรถประจำทาง ขสมก./รถไฟฟ้า
- ตุดจำหน่ายบัตรโดยสาร บขส.
- จุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟทุกสถานี (รฟท.)
การออกบัตรใหม่ บัตรสูญหาย หรือชำรุด
สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยบมจ.ธนาคารกรุงไทยจะแจ้งไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ และบมจ.กรุงไทยจะดำเนินการออกบัตรใหม่
การขอเปลี่ยนแปลงที่อยู่ >> กรณีผู้มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนบัตร เนื่องจากได้เปลี่ยนแปลงที่อยู่ปัจจุบันจากเขตจังหวัดอื่น มาพักอาศัยในเขตกทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ให้ผู้มีสิทธิ์ติดต่อยื่นเรื่องแสดงความประสงค์ที่สำนักงานคลังจังหวัด โดยกรมบัญชีกลางจะตรวจสอบสิทธิ์ และออกบัตรใหม่ให้ภายใน 30 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง โดยมารับบัตรที่กรมบัญชีกลาง ถนนพระรามหก แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.
บัตรสูญหาย หรือชำรุด (เกิดจากผู้มีสิทธิเอง) >> กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูญหาย หรือชำรุดที่เกิดจาการใช้งานของผู้มีสิทธิ์ ผู้มีสิทธิ์สามารถดำเนินการขอเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยผู้มีสิทธิ์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดังนี้
- บัตร EMV ออกบัตรใหม่ให้ภายใน 15 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง (เสียค่าใช้จ่าย 50 บาท)
- บัตร Hybrid 2 Chips (แมงมุม) ออกบัตรใหม่ให้ภายใน 30 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง (เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท)
บัตรชำรุดจากข้อบกพร่องของตัวบัตรเองหรือขั้นตอน >> ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถใช้การได้อันเนื่องมาจากข้อบกพร่องของตัวบัตรเองหรือขั้นตอนการออกบัตร ผู้มีสิทธิ์สามารถดำเนินการขอเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
- บัตร EMV ออกบัตรใหม่ให้ภายใน 15 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง
- บัตร Hybrid 2 Chips (แมงมุม) ออกบัตรใหม่ให้ภายใน 30 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง
สอบถามข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติม หรืออายัดบัตรได้ที่ Call Center บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โทร.02-109-2345 จำนวน 150 คู่สาย ในวันจันทร์ - วันศุกร์ 08.30 - 17.30 น. และกรณีผู้ถือบัตรแจ้งอายัดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีวงเงินคงเหลือในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้ผู้ถือบัตรติดต่อ Call Center หลักของ บมจ.ธนาคารกรุงไทยหมายเลขโทรศัพท์ 02-111-1111 ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อระงับการใช้วงเงินในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
บัตรคนจน เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายจากปกติในชีวิตประจำวันที่ใช้จ่ายเป็นเงินสด ให้เริ่มเข้าสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง เริ่ม...แล้วก้าวไปพร้อมๆ กันนะคะ :)