มีอะไรใหม่บ้าง... โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2560
จากที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไปนั้น จะมีผลทำให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสียภาษีน้อยลงในปีภาษี 2560 ซึ่งการปรับโครงการภาษีนี้จะเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนหลายรายการ ดังนั้นทาง CheckRaka.com จึงได้รวบรวมรายละเอียดต่างๆ ที่มีการปรับปรุงมาไว้เป็นข้อมูลให้กับผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อจะได้ใช้คำนวณภาษีให้ถูกต้องนะคะ
1. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
1.1 มีการปรับเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
1.2 สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
2. ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนเพิ่ม
2.1 ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ เพิ่มเป็น 60,000 บาท
2.2 ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ เพิ่มเป็น 60,000 บาท
2.3 ค่าลดหย่อนสำหรับบุตร
- กรณีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี หรือภริยาของผู้มีเงินได้เพิ่มเป็น คนละ 30,000 บาท
- บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
2.4 ในกรณีที่สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
2.5 กองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60,000 บาท
2.6 ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลเพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
3. การปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยมีการปรับขั้นจากเดิมมีรายได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษี 35% ปรับเป็นต้องมีรายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป ที่ต้องเสียภาษี 35% รายละเอียดเพิ่มเติมตามตารางด้านล่างนี้
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2559 | อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 |
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี |
0 - 150,000 | ได้รับการยกเว้น | 0 - 150,000 | ได้รับการยกเว้น |
150,001 - 300,000 | 5% | 150,001 - 300,000 | 5% |
300,001 - 500,000 | 10% | 300,001 - 500,000 | 10% |
500,001 - 750,000 | 15% | 500,001 - 750,000 | 15% |
750,001 - 1,000,000 | 20% | 750,001 - 1,000,000 | 20% |
1,000,001 - 2,000,000 | 25% | 1,000,001 - 2,000,000 | 25% |
2,000,001 - 4,000,000 | 30% | 2,000,001 - 5,000,000 | 30% |
4,000,001 เป็นต้นไป | 35% | 5,000,001 เป็นต้นไป | 35% |
*ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ยังคงสามารถใช้ต่อไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551
4. ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
4.1 กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 220,000 บาท
4.2
กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท
- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท
รายละเอียดการปรับปรุงโครงการสร้างภาษีข้างต้นนี้ จะเริ่มใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2560 ที่จะต้องมีการยื่นเสียภาษีในปี 2561 เป็นต้นไป ในภาพรวมการปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่นี้จะช่วยให้ผู้มีรายได้จากการทำงานประจำประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น จากการได้สิทธิค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นค่ะ
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกพื้นที่และศูนย์สารนิเทศสรรพากรโทร. 1161 หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 นะคะ ไว้พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ