4 เมกะเทรนด์ปี 60 Business Transformation รับยุคดิจิตอลไล่ล่า
Business Transformation รับยุคดิจิตอลไล่ล่า
4 เมกะเทรนด์ที่ถูกยกให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนปี 2560 ปลุกให้ผู้ประกอบการต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปการทำธุรกิจหรือ Business Transformation เพื่อก้าวให้ทันบริบทของโลกโซเชียลที่เกิดขึ้น และชิงความได้เปรียบ สร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต
"ฟินเทค" เทคโนโลยีการเงินสุดล้ำ
เริ่มต้นเทรนด์แรก ได้แก่ "ฟินเทค" หรือ Fintech (Financial Technology) ที่จุดติดจากปี 2559 เมื่อทุกธนาคารเตรียมกระสุนไว้พร้อมประกาศชนทุกคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายกสิกรไทย ที่ตั้ง KBTG พร้อมอัดงบปีละ 5,000 ล้านบาท พัฒนาเทคโนโลยีสู้กับไทยพาณิชย์ที่ยึดยุทธศาสตร์ดิจิตอลแบงก์กิ้งพ่วงลงทุน Ripple เจ้าพ่อโอนเงินออนไลน์ระดับโลก ขณะที่กรุงศรีอยุธยาปรับโครงสร้างสายงานดิจิตอลแบงก์กิ้ง และนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ชื่อ Commercial Digital Solution ส่วนธนาคารกรุงเทพ จับมือกับกลุ่ม R3 (R3 Consortium) พัฒนานวัตกรรมการเงินแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ๆ รองรับบริการทางการเงินในอนาคต
ประเมินว่า ในปีนี้ดีกรีความร้อนแรงของฟินเทคจะปะทุขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา "สตาร์ทอัพฟินเทค" จะเป็นผู้เล่นรายใหม่มาเขย่าวงการเงิน แนวโน้มการแข่งขันทั้งจากแบงก์และนอนแบงก์จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว เมื่อธุรกรรมการเงินถูกโยกไปไว้บนสมาร์ทโฟน
ข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยสะท้อนการเติบโตปริมาณธุรกรรมที่ทำผ่านช่องทางดิจิตอลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยปี 2558 มีจำนวนธุรกรรมอยู่ที่ 1,135 ล้านรายการประเมินว่าจะเพิ่มเป็น 7,900 ล้านรายการในปี 2563 ขณะที่มูลค่าธุรกรรมที่ผ่านช่องทางดิจิตอลแบงก์กิ้งจะเพิ่มจาก 4 ล้านล้านบาทเป็น 30 ล้านล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 10 เท่าภายในปี 2563 เช่นกัน ส่วนธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารคาดว่าในปี 2563 จะลดลงเหลือ 153 ล้านรายการจากปี 2558 อยู่ที่ 188 ล้านรายการ
ปีทองธุรกิจสตาร์ทอัพ
เทรนด์ที่ 2 ที่ทุกคนยกให้ว่ายังแรงดีไม่มีตกคือ "สตาร์ทอัพ" ในประเทศไทย "ธุรกิจสตาร์ทอัพ" ถือกำเนิดในปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 300% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว1,800ล้านบาท โดย 70% มาจากนักลงทุนต่างประเทศทั้งสิงคโปร์และญี่ปุ่น
ส่วนปีนี้มองว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะเกิดขึ้นอีกมากคาดการณ์มีลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และจะเห็นความหลากหลายของธุรกิจที่เชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าสู่สตาร์ทอัพมากขึ้น เช่น ภาคเกษตร ฯลฯ
"เพย์เม้นท์" ปฏิวัติการชำระเงิน
เทรนด์ที่ 3 "เพย์เม้นท์" แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่โตวันโตคืนในหลายธุรกิจ
ธุรกิจรับชำระเงินหรือเพย์เม้นท์ เติบโตได้จากผลพวงการผลักดันนโยบายพร้อมเพย์ของรัฐบาล ส่งผลต่อบริการโมบายเพย์เมนต์ที่บรรดาค่ายมือถือทั้งเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟเอช ทั้ง 3 ค่ายมีแผนขับเคลื่อนเรื่องโมบายเพย์เม้นท์อีกครั้งหนึ่ง โดยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าต่างๆ
ประเมินว่าในปีนี้ การทำธุรกรรมผ่านโมบายเพย์เม้นท์ตลาดมีความเคลื่อนไหวมากขึ้นพร้อมๆ กับที่ผู้ให้บริการในต่างประเทศกำลังเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของการใช้งานดังนั้นภายใน 3-5 ปีข้างหน้าการชำระเงินผ่านโมบายเพย์เมนต์จะเริ่มเข้ามาแทนที่เงินสดในการซื้อของเพิ่มมากขึ้นเห็นได้จากร้านค้าบางแห่งเริ่มให้บริการจ่ายเงินผ่านแอพเพื่อสะสมแต้มได้แล้ว
ขณะที่คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) กำหนดเป้าหมายเพิ่มปริมาณการใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อประชากรเป็น 50 และ 150 รายการ/คน/ปีในปี 2559 และ 2563 ตามลำดับ
การตลาด 4.0 ร้อนแรง
เทรนด์สุดท้ายได้แก่การตลาด 4.0หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิตอลนี้
ในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า "การตลาด 4.0" (Marketing 4.0) ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ปีนี้ "การตลาด4.0" จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแน่นอน ด้วยทิศทางการเติบโตของธุรกิจที่เป็นการผสมผสาน ทั้งเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) เทคโนโลยี (Technology) และองค์ความรู้ (Knowledge) ทำให้นักการตลาดต้องสรรหากลยุทธ์และแนวทางการทำตลาดรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงรับรู้ซื้อสินค้าและจงรักภักดีต่อแบรนด์
เครื่องมือทางการตลาดจะถูกใช้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คไม่ว่าจะเป็น Google Facebook Instagram Twitter ฯลฯ มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองจำเป็นจะต้องเรียนรู้การนำข้อมูลมาปรับใช้ ให้กลายเป็นสมาร์ทดาต้า เพื่อจัดทำเป็นแคมเปญตอบโจทย์ลูกค้า เมื่อพฤติกรรมลูกค้าบางกลุ่มชอบที่จะค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ชอบดูสินค้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากกว่าดูจากของจริง หรือเลือกที่จะฟังและสัมผัสสินค้าจากร้านค้าแต่ตัดสินใจซื้อผ่านเว็บ เพราะได้ราคาที่ถูกกว่าสมาร์ทดาต้าเหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น แต่ได้ผลตอบรับที่มากกว่าการทำตลาดรูปแบบเดิม
การตลาด 4.0 จึงไม่ใช่การทำตลาดในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นเชิงเดี่ยวอย่างออฟไลน์มาร์เก็ตติ้ง หรือ ออนไลน์มาร์เก็ตติ้งอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการหลอมรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน และต้องเรียนรู้ว่าจะเลือกใช้ในช่วงเวลาใด สถานที่ใด กับใครที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบรับสูงสุด ซึ่งเริ่มมีการนำไปใช้ในหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ค้าปลีก เป็นต้น
ขอขอบคุณภาพ และข้อมูลจาก
www.bltbangkok.com