7 พฤติกรรมใหม่ ให้คุณมีเงินออม
แม้ว่าเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นทุกปีแต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีเงินเก็บ นั่นเป็นเพราะเมื่อได้รับเงินมา เรามักจะนำเงินไปใช้ทันทีหรือบางครั้งก็มีการใช้จ่ายมากกว่าเดิมเพราะคิดว่ามีเงินเพิ่ม พฤติกรรมแบบนี้จึงเป็นสาเหตุให้หลายๆ คนมีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ แต่ในความจริงทุกคนสามารถเก็บออมได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ซึ่งมี 7 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่าย ทำให้มีเงินออมมากขึ้นค่ะ
1. เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ทันที เช่น การเก็บเหรียญสตางค์ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ 1 บาท 5 บาท หรือ 10 บาท จะเห็นได้ว่าจำนวนเหรียญที่เก็บในแต่ละครั้งไม่มาก ทำให้รู้สึกว่าการเก็บออมไม่ได้เป็นภาระ เมื่อรวบรวมไว้นานๆ ก็กลายเป็นเงินก้อนที่มีมูลค่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างที่คนโบราณกล่าวไว้ว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท" และควรสร้างวินัยด้วยการออมก่อนใช้ โดยออมให้ได้อย่างน้อย 10% เมื่อมีรายได้เข้ามาเสมอ
2. กำหนดจำนวนเงินในกระเป๋า วิธีการนี้ช่วยจำกัดการใช้จ่ายเงิน โดยอาจจะมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในช่วง (ระยะ) 1 - 2 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้รู้จำนวนเงินที่สามารถใช้ได้ และใช้เงินเท่าที่มีในกระเป๋า หากเงินในกระเป๋าเหลือน้อยแล้วไม่ควรกด ATM เพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น วิธีนี้ช่วยให้เราตระหนักรู้ตระหนักใช้ เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นตามงบประมาณที่มี
3. เก็บเงินแยกไว้ให้ชัดเจน นอกจากจะแบ่งเงินออมและเงินสำหรับใช้จ่ายแล้ว ในเงินออมที่เก็บไว้นี้ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นเงินเก็บที่ไม่ถูกนำมาใช้เลย โดยอาจจะเก็บออมในรูปของบัญชีเงินฝากประจำเท่าๆ กันทุกเดือน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาลงทุน และสำหรับส่วนที่สองนั้นสามารถนำไปใช้ได้เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือที่เรียกว่าเงินออมสำรองฉุกเฉิน ซึ่งควรมีไม่น้อยกว่า 3 - 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน โดยเก็บออมในบัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง
4. อย่าซื้อของตามใจชอบ แยกแยะความจำเป็นและความอยากออกจากกัน เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ แม้จะผ่อนชำระ 0% แต่หากไม่ซื้อก็จะไม่ต้องจ่ายเงินและไม่เป็นหนี้อีกด้วย หรือก่อนตัดสินใจซื้อให้กลับมาคิดทบทวนอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปอีก 2 - 3 วัน เราอาจจะไม่ได้อยากได้สินค้านั้นแล้วก็ได้ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อสินค้าทุกครั้งให้ถามตนเองก่อนเสมอว่ามีความจำเป็นต้องใช้สิ่งของเหล่านั้นหรือไม่
5. ไม่ซื้อของที่มีอยู่แล้วซ้ำอีก บ่อยครั้งที่เราชอบซื้อของแบบเดิมกลับมา ทั้งที่เคยซื้อของชิ้นนั้นไปแล้ว ดังนั้นควรสำรวจสิ่งของที่มีอยู่เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และยังเป็นการช่วยลดรายจ่ายทำให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
6. ปาร์ตี้สังสรรค์อย่างพอดี การทานอาหารนอกบ้านโดยเฉพาะมื้อเย็น หรือวันหยุด มักจะต้องใช้เงินมากกว่าปกติ ลองหันมาทำอาหารรับประทานกันในบ้าน นอกจากจะช่วยประหยัดแล้วยังเป็นการใช้เวลากับคนในครอบครัว เรียกว่าอิ่มทั้งกายและยังอิ่มใจไปพร้อมๆ กัน
7. ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิตต้องระวังอยู่เสมอ ไม่ใช้เกินแผนการใช้เงินที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก และจ่ายชำระยอดหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกครั้ง เป็นการใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิตในแง่ของความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงจากการถือเงินสดจำนวนมากๆ แต่ไม่ควรสร้างหนี้จากบัตรเครดิตโดยการทยอยจ่ายหรือจ่ายไม่เต็มจำนวน
นอกจาก 7 ข้อนี้แล้ว การทำบัญชีรับจ่ายเงินก็เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยติดตามพฤติกรรมการรับจ่ายเงินของตนเอง ในช่วงแรกของการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินนั้นอาจจะทำให้เกิดความลำบากใจแต่หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะเกิดเป็นความเคยชิน ความตั้งใจจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายและที่สำคัญต้องมีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะ
ดูรายละเอียดบทความ พร้อมบทความอื่นๆ เพิ่มเติม คลิก
K-Expert