อยากได้เงินสดมาหมุน... หาเงินจากไหนได้บ้าง? แต่ละวิธีมีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร?
ช่วงนี้หลายคนอาจกำลังต้องการเงินสดสักก้อนหนึ่งมาเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ไม่ว่าจะนำไปใช้ลงทุน ขยายธุรกิจ หรือนำไปเป็นค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมบุตร ค่าซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ ซึ่งหากใครไม่มีเงินเก็บสำรองไว้ ก็คงร้อนเงิน ร้อนใจกันไม่น้อยเลยล่ะค่ะ วันนี้
CheckRaka.com ได้รวบรวมวิธีหาเงินในรูปแบบต่างๆ มาให้เพื่อนๆ ได้เลือกใช้กัน เราไปดูพร้อมกันเลยค่ะว่าจะมีวิธีไหนที่เหมาะสมกับแต่ละคนกันบ้าง
1. เข้าโรงรับจำนำ ยอมเสียดอกฯ แต่ไถ่คืนได้
โรงรับจำนำที่เราพบเห็นอยู่ตามย่านแหล่งชุมชุน ถือเป็นแหล่งที่มาของเงินสดยอดนิยมสำหรับคนที่ต้องการเงินฉุกเฉิน เพียงเรานำบัตรประชาชนไปแสดง พร้อมนำทรัพย์จำพวกเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ ไปวางไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ก็จะสามารถกู้เงินจากโรงรับจำนำได้แล้ว นอกจากนี้ยังมี "สถานธนานุบาล" และ "สถานธนานุเคราะห์" ที่เปิดให้บริการรับจำนำในรูปแบบเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ผู้ประกอบการจะเป็นภาครัฐ ส่วนโรงรับจำนำจะเป็นของเอกชนค่ะ
นอกจาก "เงินสด" ที่จะได้รับแล้ว เรายังจะต้องได้ "ตั๋วจำนำ" กลับมาด้วย ในตั๋วจะแสดงรายละเอียด เช่น ชื่อ-ที่อยู่ จำนวนเงิน ดอกเบี้ย ชนิดทรัพย์ และระยะเวลาไถ่ถอนเอาไว้ และของที่นำไปจำนำจะอยู่ในความดูแลของผู้รับจำนำ จนกว่าเราจะใช้คืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจนครบ หากเราไม่ชำระดอกเบี้ย หรือไม่ไถ่ทรัพย์คืนภายในระยะเวลา 4 เดือน 30 วัน ของชิ้นนั้นก็จะหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนำ (ที่พูดกันภาษาปากว่า "หลุดจำนำ") ซึ่งทรัพย์นั้นอาจถูกนำไปขายต่อได้นั่นเองค่ะ 2. ขายฝาก เผื่ออนาคตอยากซื้อคืน
การขายฝาก คือ การซื้อขายอย่างหนึ่งที่เมื่อเราขายของไปแล้ว กรรมสิทธิ์ในของสิ่งนั้นก็จะตกอยู่กับผู้ซื้อ (เช่นเดียวกับการขายแบบปกติ) แต่จะมีข้อตกลงกันไว้ว่า ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาตามที่ตกลงกันหรือตามที่กฎหมายกำหนด (อสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 10 ปี และสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 3 ปี) โดยสินไถ่หรือจำนวนเงินที่ใช้ไถ่ทรัพย์นั้นอาจกำหนดให้มีราคาสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเพื่อเป็นผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยด้วยก็ได้ แต่จะต้องไม่เกินร้อยละ 15% ต่อปีนะคะ สำหรับกรณีที่ไม่ได้ระบุผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยไว้ กฎหมายกำหนดให้ไถ่ทรัพย์นั้นในจำนวนเงินเท่ากับราคาที่ขายฝากค่ะ
เรามักพบการขายฝากกับทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย, ที่ดิน แต่จริงๆ แล้วการขายฝากสามารถทำได้กับทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น รถยนต์ นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ ได้ด้วยเช่นกันค่ะ ข้อดีของการขายฝาก คือ เราจะได้เงินจากการขายทรัพย์นั้นๆ มาเลย และเมื่อเรามีเงินมากพอก็สามารถไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ในภายหลัง ทั้งนี้ ผู้ขายฝากและผู้ซื้อควรทำ "สัญญาขายฝาก" กันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมระบุเงื่อนไขต่างๆ ให้ละเอียด และลงลายมือชื่อไว้ทั้งสองฝ่าย เช่นเดียวกับการทำสัญญาซื้อ-ขายทรัพย์ชนิดอื่นๆ นะคะ 3. ขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ออกไปบ้าง
หากกำลังเจอกับปัญหาของเต็มบ้าน แต่มีเงินสดไม่พอกับที่ต้องการจะใช้ ก็คงไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่จริงไหมคะ? สำหรับผู้หญิงทั้งหลายที่สะสม item เสื้อผ้า เครื่องประดับไว้หลายชิ้น หรือคุณผู้ชายที่มี Gadget ประเภทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เครื่องเสียง และรถยนต์ (บางคนอาจมีแบบ Limited Edition เลยก็ได้!) ซึ่งอาจซื้อมาคล้ายกัน มีไว้โชว์แต่ไม่ได้ใช้ หรือบางชิ้นก็เก็บนานจนลืม เราขอแนะนำให้ตัดใจขายทรัพย์เหล่านั้นออกไปบ้างดีกว่าค่ะ ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นอีกต่อไป แต่เราก็จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยที่ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใครทั้งสิ้นนะคะ
การขายทรัพย์สินนั้นไม่จำกัดแต่เฉพาะเครื่องประดับ หรือของแบรนด์เนมราคาแพงเท่านั้นนะคะ แต่ของจำพวกเสื้อผ้าสภาพดีที่เราไม่ค่อยได้ใส่แล้ว หรือของชิ้นใหญ่ๆ อย่างรถยนต์ หรือคอนโดฯ ที่ซื้อไว้แต่ไม่ค่อยได้ไปอยู่ ไม่มีคนดูแล ทำให้สิ้นเปลืองค่าบำรุงรักษาปีละหลายสตางค์ ก็สามารถขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายได้ด้วยเช่นกันค่ะ
4. กู้สินเชื่อกับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ
หากถึงคราวจำเป็นต้องใช้เงินโดยไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ ก็คงถึงเวลาต้อง "กู้เงิน" กันบ้างแล้วล่ะค่ะ แต่การกู้เงินในที่นี้ ขอแนะนำให้กู้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้เท่านั้นนะคะ ไม่แนะนำให้กู้เงินนอกระบบผ่านนายทุนผู้ทรงอิทธิพลหรือนายทุนเงินกู้ที่แปะเบอร์ติดต่อไว้ตามเสาไฟฟ้า เพราะดอกเบี้ยเงินกู้จากนายทุนเหล่านี้จะมีอัตราสูง และหากเราไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดก็อาจถูกข่มขู่ คุกคามตามที่เป็นข่าวกันอยู่เนืองๆ
กู้สินเชื่อแบบมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
การกู้สินเชื่อแบบมีหลักประกัน ไม่ว่าจะใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะช่วยให้ธนาคารมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า อย่างไรแล้วก็ยังสามารถบังคับชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยได้จากบุคคลผู้ค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ที่นำมาวางไว้ ซึ่งข้อดีของสินเชื่อประเภทนี้คือ อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าการกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือการกดเงินสดจากบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสดนั่นเองค่ะ (อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อแบบมีประกันไม่เกิน 15% ต่อปี)
- สินเชื่อบุคคลค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันจะต้องยินยอมผูกพันในหนี้นั้น หากผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ธนาคารก็สามารถบังคับหนี้เอาจากผู้ค้ำประกันได้ และเมื่อผู้ค้ำประกันใช้หนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ไปแล้ว ก็จะสามารถไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ได้ต่อไปค่ะ
ปัจจุบัน ธนาคารหลายแห่งก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันให้บริการกันอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา หรือสินเชื่ออเนกประสงค์ค่ะ (ดูสินเชื่อบุคคลค้ำประกัน คลิกที่นี่)
- กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับผู้ที่พอมีทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ แต่ยังไม่อยากขาย ก็อาจนำหลักทรัพย์เหล่านี้ไปค้ำประกันได้ค่ะ ซึ่งหากกู้แล้วไม่ชำระหนี้ ก็จะถูกยึดทรัพย์ที่ค้ำประกันไว้ไปขายทอดตลาด และเจ้าหนี้เงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันนี้ก็จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
สำหรับผลิตภัณฑ์เงินกู้แบบที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์เช่นเดียวกัน แต่จะใช้ชื่อเรียกต่างกันไป เช่น สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน เป็นต้น (ดูสินเชื่อหลักทรัพย์ค้ำประกัน คลิกที่นี่)
หากหลักประกันที่เรานำมาใช้ค้ำประกันกับธนาคารมีความมั่นคงมาก เช่น ผู้ค้ำประกันมีความสามารถชำระหนี้ได้สูง มีรายได้แน่นอนและไม่มีภาระหนี้สิน หรือทรัพย์สินที่นำมาเป็นประกันมีมูลค่ามากกว่าวงเงินกู้และเป็นทรัพย์สินที่ปลอดภาระหนี้ใดๆ ก็จะส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้นด้วยนะคะ
กู้สินเชื่อแบบไม่มีประกัน
สำหรับการกู้เงินแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่ออเนกประสงค์ รวมทั้งสินเชื่อบัตรกดเงินสด ซึ่งผู้กู้สามารถนำเงินไปใช้ได้หลากหลาย โดยสินเชื่อประเภทนี้นับว่ามีความคล่องตัวมากกว่า เพราะไม่จำเป็นจะต้องหาหลักทรัพย์หรือบุคคลมาค้ำประกันให้ยุ่งยาก แต่ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าสินเชื่อแบบมีหลักประกันนะคะ (อัตราดอกเบี้ยประมาณ 15 - 28% ต่อปี) เพราะธนาคารประเมินว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยกู้มากกว่านั่นเอง
(ดูสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน คลิกที่นี่) 5. หารายได้พิเศษเพิ่มอีกทาง
การทำงานพิเศษ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราได้มาซึ่งเงินสดและจะช่วยให้เรามีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มมากขึ้นค่ะ นอกจากงานประจำที่เราทำกันอยู่ทุกวันแล้ว ก็อาจใช้ความรู้ความสามารถที่มีไปรับจ็อบพิเศษ หรือทำอาชีพเสริม ตามความชอบและความถนัด เช่น การรับเขียน-แปลงานภาษาต่างประเทศ, สอนพิเศษหลังเลิกงานและวันหยุด, รับจ้างถ่ายภาพ, ทำขนมขาย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เราได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้นด้วยนะคะ
วิธีนี้จะใช้ได้ดีกับคนที่วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องใช้เงินเมื่อไร เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งจะสามารถคำนวณได้ว่าต้องทำงานพิเศษเพิ่มอีกมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ได้เงินครบตามจำนวนที่ต้องการนะคะ และหากลองจัดสรรเวลาดีๆ สิ่งที่เรารักที่จะทำนี้อาจกลายเป็นอีกช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้ให้มากขึ้น และยังช่วยฝึกฝนฝีมือ ทำให้เรามีทักษะ ความชำนาญ จนอาจถึงขั้นหาตัวจับยากเพราะน้อยคนที่จะมีฝีมือดีเทียบเท่าเราก็เป็นได้ค่ะ
6. ยืมจากคนใกล้ชิด
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหาเงินสดมาหมุนโดยเร่งด่วนและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับแหล่งเงินกู้ไหนๆ นั้น เห็นจะเป็นการหันหน้าไปพึ่งคนใกล้ชิดรอบตัว (โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่นี่ล่ะค่ะ) การเอ่ยปากขอหยิบยืมเงิน พร้อมชี้แจงเหตุผลที่จำเป็น ระบุระยะเวลาการยืมและวิธีการคืนเงินให้ชัดเจน ก็จะทำให้การยืมเงินนั้นน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หากเราไม่ได้มีพฤติกรรมที่ทำให้เจ้าของเงินระอาใจ และไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไปนัก ก็อาจได้เงินมาแก้ขัด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นนั้นไปได้ค่ะ
ผู้ที่คิดจะยืมเงินอาจต้องใช้ความระมัดระวังกันสักนิด เพราะถ้าไม่สนิทและไม่ไว้ใจกันจริงๆ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง และถ้าจะให้ดี... ขอแนะนำว่าเมื่อเราพอจะหาเงินได้แล้ว หรือมีสภาพคล่องทางเงินขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ควรรีบนำเงินไปใช้คืนโดยเร็วที่สุดนะคะ หากยังมีเงินไม่มากพอก็อาจทยอยคืนเป็นส่วนๆ หรือกรณีที่หาเงินมาได้มากหน่อยก็อาจแถมด้วยดอกเบี้ยเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความรับผิดชอบ และไม่ได้นิ่งดูดายกับเงินที่ยืมมาแต่อย่างใดค่ะ
ข้อดี - ข้อเสียของการหาเงินสดแต่ละวิธี
วิธีหาเงินสด | ข้อดี | ข้อเสีย |
จำนำ | - สามารถไถ่ทรัพย์คืนได้
- เข้าถึงได้ง่าย ได้เงินเร็ว
- ชั้นตอนการจำนำไม่ยุ่งยาก
| - เป็นการกู้เงินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ย
- ทรัพย์อาจตกเป็นของผู้รับจำนำ หากไม่เสียดอกเบี้ยหรือไม่ไถ่ทรัพย์ในเวลาที่กำหนด
|
ขายฝาก | - สามารถไถ่ทรัพย์คืนได้ (ในเวลาที่กำหนด)
- สามารถตกลงไม่ให้ผู้ซื้อ เอาทรัพย์นั้นไปขายต่อได้
- อาจเสียหรือไม่เสียดอกเบี้ยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาตกลงกัน
| - หากไม่ไถ่ทรัพย์คืนในเวลาที่กำหนด จะไม่สามารถไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้อีก
- ผู้ซื้อบางรายอาจกดราคาขายฝากในทรัพย์นั้นลงกว่าการซื้อ-ขายปกติ
|
ขายทรัพย์สิน | - ไม่เสียดอกเบี้ย
- ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สิน
- ช่วยลดจำนวนของที่ไม่ได้ใช้ หรือมีมากเกินความจำเป็น
| - อาจหาซื้อของชิ้นนั้นอีกครั้งได้ยากขึ้นในภายหลัง
- ของที่เป็นที่ต้องการของตลาด (เช่น Limited Edition) อาจมีราคาสูงขึ้นหลังจากที่ขายไปแล้ว
|
กู้สินเชื่อ | - ได้เงินมาใช้ก่อนโดยที่ยังไม่เสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์
- สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้
| - ต้องเสียดอกเบี้ย
- ต้องเผื่อเวลาไว้สำหรับขั้นตอนการยื่นกู้ พิจารณา และอนุมัติวงเงิน
- หากไม่ชำระหนี้ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
|
หารายได้เพิ่ม | - ไม่เสียดอกเบี้ย
- เพิ่มรายได้จากหลายช่องทาง
- สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้
| - หากต้องการเงินจำนวนมาก อาจใช้ระยะเวลานาน
- เวลาพักผ่อนน้อยลง เพราะทำงานหลายอย่าง
|
ยืมคนใกล้ชิด | - ไม่เสียดอกเบี้ย
- มีความยืดหยุ่นในเรื่องการชำระคืน (ตามที่ตกลง)
| - หากมีปัญหาผิดนัดหรือไม่ชำระคืน อาจเสียสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง
- หากไม่ชำระหนี้ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
|
หวังว่าเพื่อนๆ จะเลือกแหล่งที่มาของเงินสดที่จะนำมาหมุน ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินกันได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคนกันนะคะ อย่างไรแล้ว... วิธีดังกล่าวก็เป็นเพียงทางเลือกสำหรับช่วงเวลาที่ต้องการเงินในระยะกระชั้นเท่านั้น แต่ทางที่ดีแล้วก็ควรเตรียมการไว้เสียแต่เนิ่นๆ เช่น รู้จักเก็บออม วางแผนหารายได้เพิ่ม และหาวิธีบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ให้งอกเงย พร้อมทั้งพัฒนาตัวเองและหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อจะได้มีความสามารถในการแข่งขัน และสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นในอนาคตได้ค่ะ