เมื่อคนสองคนตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน นอกจากความรักและความเข้าใจแล้ว "การวางแผนทางการเงิน" ย่อมมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนสองคนราบรื่น หากเราไม่ได้วางแผนการเงินและตกลงกันไว้ให้ดี เรื่องเงินๆ ทองๆ นี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนความรักให้จืดจางจนอาจถึงขั้นเลิกรากันได้นะคะ แต่จะว่าไปแล้ว...ชีวิตคู่ของคนสมัยนี้มักจะเป็นแบบที่ทั้งสองฝ่ายต่างทำงาน และมีรายได้เป็นของตัวเอง ดังนั้น
CheckRaka.com จึงขอแนะนำกลยุทธ์การบริหารเงินแบบ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" ให้ทั้งคู่นำไปปรับใช้กันดูค่ะ
กลยุทธ์การบริหารเงินของชีวิตคู่แบบ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" พูดง่ายๆ ก็คือ การที่สามี-ภรรยาใช้จ่ายเงินกันแบบแยกกระเป๋า แต่ยังคงกันเงินของแต่ละคนไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเป็น "ค่าใช้จ่ายกองกลาง" นั่นเองล่ะค่ะ ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้ผลดีกับคู่ที่ต่างฝ่ายต่างทำงาน สองแรงแข็งขัน ช่วยกันเก็บ ช่วยกันสร้างครอบครัว รวมถึงคู่ที่มีความแตกต่างในด้านรสนิยมการใช้เงินมากๆ ด้วยนะคะ ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า กลยุทธ์ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" ที่ว่านี้จะมีข้อดีอะไรบ้าง
6 เหตุผลดีๆ ที่สามี-ภรรยาควรวางแผนการเงินแบบ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง"
หลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันหลังจากที่หักเงินของทั้งสองคนไว้เป็น "ค่าใช้จ่ายกองกลาง" แล้ว การแยกกระเป๋ากันใช้จ่ายสำหรับเงินในส่วนที่เหลือจะช่วยให้แต่ละฝ่ายรู้สึกว่าคล่องตัวและมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น อย่างน้อยก็จะไม่มีใครรู้สึกว่าต้องถูกจำกัดหรือควบคุมการใช้เงินมากจนเกินไปนัก เพราะตามธรรมดาแล้ว ฝ่ายที่มีอำนาจก็มักจะต้องการควบคุม ดูแล และจัดการเงินทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่เท่าเทียม ไม่พอใจ นำไปสู่ความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ค่ะ
ลดความขัดแย้งด้านนิสัยการใช้เงินที่แตกต่างนิสัยการใช้จ่ายเงินของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันออกไป เราต่างก็คุ้นชินกับการใช้เงินอย่างอิสระตามสไตล์และความชอบของตัวเองมานานก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเสียอีกจริงไหมคะ? หากต้องมาใช้เงินกระเป๋าเดียวกันทั้งหมด บางครั้งอาจเกิดความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยที่อีกฝ่ายนำเงินส่วนรวมไปช้อปปิ้ง หรือแต่งรถ ทำให้เกิดปัญหาต้องปรับตัวยกใหญ่ แต่หากยังเหลือเงินส่วนตัวไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่แต่ละคนชอบบ้าง เช่น นวดสปา ดูหนัง ท่องเที่ยว โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากอีกฝ่ายทุกครั้ง ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลยล่ะค่ะ
ช่วยรักษาวินัยทางการเงินของทั้งสองฝ่ายการใช้เงินแบบแยกกระเป๋าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีวินัยทางการเงินมากกว่า เพราะรู้ข้อจำกัดวงเงินที่ตัวเองสามารถใช้ได้ในแต่ละเดือน ต่างจากการใช้เงินแบบกระเป๋ารวมที่แต่ละฝ่ายอาจใช้เงินโดยไม่ระวัง เพราะคิดว่าใช้ไปก่อน ซื้อไปก่อนก็ได้ไม่เป็นไร ยังไงก็ยังมีเงินของอีกฝ่ายสำรองจ่ายอยู่ ซึ่งหากทั้งคู่คิดแบบนี้พร้อมกัน รับรองว่า "หนี้" คงมาเยือนในไม่ช้าเป็นแน่ค่ะ
แบ่งเบาความเครียดของกันและกันการดูแลและบริหารเงินของคนทั้งครอบครัวก็อาจเป็นเรื่องน่าปวดหัวในบางครั้ง ไหนจะต้องคำนวณรายรับ-รายจ่าย ค่าใช้จ่ายกองกลาง ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของแต่ละคนทั้งพ่อ-แม่-ลูกๆ และหากยิ่งต้องหมุนเงินมาผ่อนบ้าน ผ่อนรถด้วยแล้ว เดือนไหนที่รายจ่ายเยอะมากๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ค่ะ การกันเงินกองกลางไว้ให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน (อาจมีเงินเผื่อสำรองไว้นิดหน่อย) แล้วบริหารจัดการเงินที่เหลือในกระเป๋าของตัวเองให้ดี มีเงินออม รวมถึงสามารถต่อยอดเงินให้งอกเงยขึ้นได้นั้น ย่อมเป็นการแบ่งเบาภาระและช่วยลดความเครียดให้กันได้อีกทางหนึ่งด้วยนะคะ
แม้จดทะเบียนสมรสก็ "แยกกระเป๋า" ได้
ไม่จำกัดเฉพาะแต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเท่านั้นนะคะ เพราะคู่ที่ตั้งใจว่าจะจดทะเบียนสมรส แต่ยังต้องการแยกเรื่องเงินๆ ทองๆ นี้ให้เป็นสินทรัพย์ส่วนตัว ก็สามารถนำวิธี "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" ไปใช้ได้เช่นกัน เพียงแค่...
- ก่อนสมรสจะต้องทำสัญญาระบุให้ชัดเจนว่าอะไรบ้างที่เป็น "สินส่วนตัว" (สินทรัพย์ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ก่อนสมรส, สินทรัพย์ที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว, เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ และของหมั้น)
- หากได้รับมรดกมาระหว่างการสมรส ก็ให้ผู้โอนระบุให้ชัดเจนว่าจะยกมรดกนี้ให้เป็นสินทรัพย์ส่วนตัวแก่ฝ่ายใดค่ะ
ทั้งนี้ หลังจากที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว สินทรัพย์ที่แต่ละคนหามาได้ (รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัว) ตามกฎหมายจะถือว่าเป็น "สินสมรส" ที่คู่สามี-ภรรยามีกรรมสิทธิ์กันคนละครึ่ง ซึ่งตรงนี้ทั้งคู่ก็สามารถตกลงกันได้ค่ะว่า รายได้หรือทรัพย์สินอะไรบ้างที่นำไปใช้ "ส่วนตัว" และส่วนใดจะนำไปใช้เป็น "กองกลาง" จัดการเรื่องเงินได้ง่ายหากต้องเลิกกัน
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เลิกราหย่าร้างเกิดขึ้น แต่เมื่อสุดวิสัยที่จะประคองชีวิตคู่ไว้แล้วจริงๆ หากคู่ไหนที่ใช้เงินกระเป๋าเดียวกันหมดทุกอย่าง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจ่ายเงินเลี้ยงดูอีกฝ่ายไปเป็นจำนวนมากๆ ก็อาจเกิดปัญหาการเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินต่างๆ คืนจากอีกฝ่ายในภายหลัง ซึ่งการใช้เงินแบบ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดการเงินนี้ลงไปได้ส่วนหนึ่งค่ะ และหากคู่ไหนที่ได้จดทะเบียนสมรสกันและทำสัญญาระบุแยกสินทรัพย์ส่วนตัวไว้ด้วย ก็จะช่วยให้การจัดการสินทรัพย์ต่างๆ หลังจากที่ตกลงหย่ากันแล้วเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยค่ะ ต้องจ่าย "เงินกองกลาง" คนละเท่าใด
รู้ข้อดีกันไปแล้ว หลายคู่คงอยากนำกลยุทธ์ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" ไปลองใช้กันดูแล้วใช่ไหมล่ะคะ? สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า "สัดส่วนของ'เงินกองกลาง' ที่แต่ละคนต้องจ่ายควรเป็นเท่าใด?" คงต้องบอกก่อนค่ะว่าคำตอบนี้ไม่มีสูตรตายตัวนัก ขึ้นอยู่กับการปรึกษาหารือและตกลงกันของทั้งสองฝ่าย โดยหลักพิจารณาง่ายๆ คือให้ลองนำค่าใช้จ่ายกองกลางที่ต้องจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ฯลฯ (รวมถึงเงินออมที่วางแผนว่าจะใช้ร่วมกันในอนาคต) มารวมกันดูว่าเป็นยอดเงินเท่าใด แล้วจึงคำนวณและจัดสรรให้เหมาะสมค่ะ ซึ่งแนวคิดเรื่องการจัดสรรเงินที่ใช้กันส่วนใหญ่จะแบ่งได้ ดังนี้ค่ะ
ออกค่าใช้จ่ายกองกลางคนละเท่าๆ กันแนวคิดนี้เหมาะกับคู่ที่มีรายได้ใกล้เคียงกันทั้งสองคน สมมติว่าค่าใช้จ่ายกองกลางของครอบครัว รวมทั้งหมดแล้วเป็นเงิน 20,000 บาท หากตกลงกันว่าจะออกค่าใช้จ่ายกองกลางคนละเท่าๆ กัน ทั้งสามี-ภรรยาจะต้องนำเงินคนละ 10,000 บาท มารวมกัน ซึ่งอาจทำในรูปแบบ "บัญชีกองกลาง" ก็ได้นะคะ สำหรับเงินที่เหลือของแต่ละคนก็สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งก็แล้วแต่ไลฟ์สไตล์และความชอบของแต่ละคนค่ะ
ออกค่าใช้จ่ายกองกลางตามสัดส่วนรายได้ข้อนี้เหมาะกับคู่สามี-ภรรยาที่มีรายได้ค่อนข้างต่างกันค่ะ การออกค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของรายได้จะช่วยลดปัญหากรณีที่อีกฝ่ายมีรายได้น้อยกว่า หากจ่ายเท่าๆ กัน อีกฝ่ายอาจเหลือเงินไม่พอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพราะค่าใช้จ่ายกองกลางของ
ครอบครัวนั้นมียอดสูงเกินไป ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่สามี-ภรรยาจะตกลงกันว่าจะออกเงินกองกลางเป็นสัดส่วนคนละเท่าไร หากค่าใช้จ่ายกองกลางของครอบครัวเท่ากับ 20,000 บาท ฝ่ายที่มีรายได้มากกว่า ก็อาจจะจ่ายกองกลาง 65% คือ 13,000 บาท ส่วนฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่าก็อาจจะจ่ายค่ากองกลางลดลงเหลือ 35% คือ 7,000 บาท เป็นต้น ทำไมบางครอบครัวเลือกบริหารเงินด้วยวิธีอื่น?
อย่างที่ได้บอกไปค่ะว่า การบริหารเงินสำหรับครอบครัวไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เราจึงเห็นภาพที่บางครอบครัวนั้นฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว หรือฝ่ายหญิงเป็นผู้ควบคุมการเงินทั้งหมด บางบ้านอาจรวมเงินกันเป็นกองกลางทั้งหมด หรือแม้กระทั่งบ้านที่จัดการเงินกันแบบไม่ได้กะเกณฑ์อะไรไว้เลย ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไปนะคะ
แบบที่ฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบเรื่องเงินทั้งหมด
การมอบสิทธิ์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย) เป็นผู้รับผิดชอบ และบริหารจัดการเงินทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้น จะต้องใช้ความเชื่อมั่น เชื่อใจในกันและกันอย่างมาก ว่าอีกฝ่ายจะจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม ซื่อสัตย์ และไม่ทำให้สถานะการเงินของครอบครัวล่มจม เหมาะกับครอบครัวที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน หรือไม่มีวินัยทางการเงินดีพอ
ข้อดี | ข้อเสีย |
- เห็นภาพรวมของกระแสเงินทั้งหมดของครอบครัว
- ง่ายต่อการควบคุมรายรับ-รายจ่ายภายในบ้าน
- หากบริหารจัดการเงินได้ดี สถานะทางการเงินของครอบครัวนั้นก็จะมั่นคงเร็วขึ้น
| - ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเงินอาจรู้สึกว่าเป็นเพียงผู้ตาม
- อาจต้องเสียเวลาอธิบายเหตุผลและตกลงกัน หากต้องการนำเงินนั้นไปซื้อของส่วนตัว แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย
|
แบบที่ออกค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่ง
หลายคนอาจบอกว่า อยู่ด้วยกันก็ควรออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดกันคนละครึ่งแบบแฟร์ๆ วิธีนี้อาจใช้ได้ดีกับคู่ที่ต้องการลดความยุ่งยาก ซับซ้อนเรื่องการเงินของชีวิตคู่ลง และยังช่วยให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยค่ะ
ข้อดี | ข้อเสีย |
- บริหารจัดการเงินได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพียงนำทุกอย่างมาหาร 2 ก็จะสามารถเคลียร์ทุกบิลได้อย่างง่ายดาย
- ไม่เสียเวลาคำนวณเงินเพื่อควบคุมรายจ่ายมากนัก
| - ของบางอย่างที่ตั้งใจซื้อไว้ใช้ร่วมกัน เช่น รถยนต์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค ฯลฯ อาจถูกอีกฝ่ายนำไปใช้บ่อยจนกลายเป็นของส่วนตัว
- หากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน plan เกิดขึ้น ก็อาจต้องมาคุยกันว่าส่วนนี้จะช่วยกันออกอยู่หรือไม่
|
แบบไร้กฎเกณฑ์
บางคู่อาจบอกว่าอยากใช้ชีวิตคู่แบบอิสระ ไม่อยากต้องกะเกณฑ์อะไร รวมทั้งเรื่องการเงินด้วย จึงแล้วแต่ว่าใครอยากจ่ายส่วนไหน หรืออาจสลับกันจ่ายกันบ้างแล้วแต่ครั้ง เช่น วันนี้เราจ่ายค่าเติมน้ำมันรถไปแล้ว ครั้งหน้าอาจเป็นอีกฝ่ายที่รูดบัตรฯ ให้บ้าง เป็นต้น
ข้อดี | ข้อเสีย |
- เป็นการใช้ชีวิตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยสลับกันหรือช่วยกันจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
- ลดความรู้สึกว่าต้องถูกกำหนด หรือบังคับให้ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้
| - เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ก็อาจมีค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่ไม่มีใครอยากจ่ายเพิ่ม หรือตกลงกันไม่ได้ว่าใครควรจ่าย
- ในระยะยาวอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดว่าตัวเองรับผิดชอบค่าจ่ายเยอะเกินไป
|
ไม่ว่าทั้งคู่จะเลือกใช้วิธีบริหารเงินแบบ "แยกกระเป๋า...แต่เรายังมีเงินกองกลาง" หรือไม่ อย่างไรแล้ว การวางแผนทางการเงินสำหรับครอบครัวก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ โดยขึ้นอยู่กับความถนัด ความเหมาะสม และสไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคู่นะคะ สิ่งที่เป็นหลักสำคัญเลยก็คือ การพูดคุยและตกลงกันให้เรียบร้อยถึงรูปแบบวิธีการบริหารจัดการเงิน เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง และหากมีข้อข้องใจในการใช้จ่ายเงินของอีกฝ่ายก็ควรพูดคุยกันโดยดี ซึ่งเราอาจให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะได้ แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายก็ควรปรับตัวและเคารพการตัดสินใจของกันด้วยนะคะ
นอกจากนี้ หากครอบครัวของเรามีรายรับ-รายจ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งคู่ก็ควรนำปัจจัยนี้มาพิจารณา ปรับเปลี่ยนแผนการเงินให้เหมาะสม เพื่อให้สถานะทางการเงินของครอบครัวเติบโตอย่างมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไปค่ะ