เช็คราคา ค่าธรรมเนียมโอนเงินไปต่างประเทศ วิธีไหนประหยัด และสะดวกที่สุด?
เวลาจะโอนเงินไปต่างประเทศ เพื่อส่งให้ญาติ หรือลูกๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศ เคยเกิดคำถามกับตัวเองไหมว่า จะโอนยังไง? จะไปโอนที่ไหน? ค่าธรรมเนียมที่ไหนจะถูกกว่า ระหว่างโอนกับธนาคาร หรือว่าโอนที่จุดบริการโอนเงิน แล้วจะมั่นใจได้ยังไงว่า โอนไปแล้วถึงปลายทางไหม? วันนี้ CheckRaka.com ได้นำการโอนเงินไปต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ มาให้ได้ดูเพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ง่ายขึ้นค่ะ
1. โอนเงินระบบ "SWIFT" กับธนาคาร
ระบบนี้ถือว่าเป็นระบบมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกต่างยอมรับ เพราะมีการใช้ SWIFT Code หรือ IBAN (International Bank Account Number) ที่มีรูปแบบมาตรฐานของรหัสธนาคาร ที่ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศประกอบอยู่ด้วย โดยส่วนใหญ่จะมีให้บริการที่ธนาคารเพราะต้องโอนเข้าบัญชีเท่านั้น จึงทำให้ระบบการโอนเงินนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ นอกจากจะโอนไปบัญชีบุคคลแล้ว ยังสามารถโอนไปบัญชีนิติบุคคลได้ด้วย เช่น เวลาจ่ายค่าเทอมเข้ามหาวิทยาลัย หรือจ่ายค่าสินค้าไปยังบริษัทโดยตรง เป็นต้น
ส่วนค่าธรรมเนียมในการโอนจะถูกหรือแพงก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละธนาคารนั้นๆ บางธนาคารยังมีระบบ Online Baking ให้ลูกค้าสามารถโอนผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วย ค่าธรรมเนียมก็จะถูกกว่าการโอนผ่านเคาน์เตอร์สาขา แต่อาจจะจำกัดวงเงินในการโอน เช่น ไม่เกิน 50,000 USD หรือเทียบเท่า แต่ถ้าต้องการโอนมากกว่านั้นก็สามารถทำได้ที่สาขาธนาคารโดยไม่มีการจำกัดวงเงิน จะโอนมากเท่าไรก็ได้ ไม่มีผลต่อค่าธรรมเนียม (ยกเว้นสกุลเงิน JPY) ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 2 - 3 วันทำการ ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของแต่ละธนาคาร
ขั้นตอนการโอนเงินแบบ SWIFT - เตรียมเอกสารที่จะใช้ในการโอน เช่น พาสปอร์ต บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น รวมถึงเอกสารสำคัญในกรณีที่บางธนาคารร้องขอเพื่อใช้ประกอบคำขอโอนเงิน เช่น ใบเรียกเก็บค่าสินค้า ใบเรียกเก็บค่าเทอม เป็นต้น
- ติดต่อธนาคารเพื่อกรอกแบบฟอร์มคำขอโอนเงินไปต่างประเทศ ระบุรายละเอียดที่สำคัญในใบคำขอโอน เช่น ชื่อ-ที่อยู่ผู้โอน, ชื่อ-ที่อยู่ผู้รับ, เลขที่บัญชี (รูปแบบมาตรฐานที่ธนาคารกำหนด บางธนาคารใช้ IBAN, บางธนาคารไม่ต้องระบุ IBAN แต่ต้องมี SWIFT Code), ชื่อ-ที่อยู่ของธนาคารผู้รับเงิน และระบุวัตถุประสงค์ในการโอนเงิน เป็นต้น
- จ่ายเงินจำนวนที่โอนพร้อมค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจจ่ายเป็นเงินสดหรือหักจากบัญชีธนาคารที่ทำรายการโอนเงินนั้นๆ ก็ได้
- เมื่อทำรายการเสร็จสิ้น จะได้รับใบ Advice เพื่อเป็นหลักฐานการโอนเงิน
ตัวอย่าง อัตราค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินผ่านระบบ SWIFTของบางธนาคาร
ธนาคาร | สกุลเงิน | ผู้รับเงินรับภาระค่าธรรมเนียม ที่ธนาคารต่างประเทศเรียกเก็บ (ต่อรายการ) | ผู้โอนเงินรับภาระค่าธรรมเนียม ที่ธนาคารต่างประเทศเรียกเก็บ (ต่อรายการ) | Full Value Transfer | ขั้นต่ำ |
ธนาคารกรุงเทพ
| JPY | 400 บาท | 400 + 0.05% ของจำนวนเงินที่โอน | - | 2,100 บาท |
HKD | 400 บาท | 1,350 บาท | - | - |
สกุลอื่นๆ | 400 บาท | 1,150 บาท (กรณีธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่พอชำระให้ธนาคารต่างประเทศ ธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มตามที่ถูกเรียกเก็บจริง) | - | - |
ธนาคารกรุงไทย
| EUR, GBP | 400 บาท | 400 + 1,200 บาท | - | - |
JPY | 400 บาท | 400 + 0.05% ของจำนวนเงินที่โอน | - | JPY 5,000 |
สกุลอื่นๆ | 400 บาท | 400 + 800 บาท | - | - |
พิเศษ! หากทำรายการผ่าน KTB netbank อัตราค่าธรรมเนียม จะลดลงเหลือ 300 บาท/รายการ (กรณีผู้รับเงินรับภาระค่าธรรมเนียมที่ธนาคารต่างประเทศเรียกเก็บ) |
ธนาคารออมสิน
| AUD,DKK, NOK, SEK, SGD,USD | 400 บาท | 400 + 750 บาท | - | - |
JPY | 400 บาท | 400 + 0.05% ของจำนวนเงินที่โอน | - | JPY 2,500 |
USD | 400 บาท | - | 400 + 1,100 บาท | - |
EUR, GBP, CHF | 400 บาท | - | 400 + 1,300 บาท | - |
กรุงศรี ออนไลน์
| USD และอื่นๆ | 350 บาท | 1,150 บาท | | |
EUR, GBP | 350 บาท | 1,550 บาท | | |
JPY | 350 บาท | 350 + 0.05% ของจำนวนเงินที่โอน | - | JPY 5,000 |
2. โอนเงินระบบของ "WESTERN UNION"
ด้วยจุดบริการที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วโลก และจุดบริการในไทยประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีฯ และธนาคารยูโอบี ห้างสรรพสินค้า ที่ทำการไปรษณีย์หรือที่จุดบริการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการผ่านร้านสะดวกซื้อ (แบบลงทะเบียนล่วงหน้า) ยิ่งทำให้สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว สามารถรับเงินได้ทันที ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ไม่มีบัญชีก็สามารถโอนได้ แต่ค่าธรรมเนียมก็ค่อนข้างแพง (ซึ่งจะแสดงให้ดูตามตารางด้านล่าง) และยังมีการจำกัดวงเงินในการโอนไม่เกิน 10,000 USD หรือ ประมาณ 320,000 บาท เพราะเนื่องจากบางประเทศของผู้รับเงินจะมีเงื่อนไขจำกัดเรื่องวงเงินในการรับเงินอยู่ด้วย
สามารถค้นหาจุดบริการ Western Union ได้ที่ www.westernunion.co.th ตัวอย่าง จุดบริการของ Western Union ในกรุงเทพและปริมณฑล
ขั้นตอนการโอนเงินระบบ Western Union - ไปที่ธนาคารซึ่งเป็นตัวแทนของ Western Union หรือที่จุดบริการของ Western Union โดยตรงได้เลย
- กรอกรายละเอียดใน "แบบฟอร์มการโอนเงิน" พร้อมยื่นเอกสารแสดงตนต่อตัวแทน Western Union
- ชำระเงินที่ต้องการโอนพร้อมค่าธรรมเนียมแก่ตัวแทนผู้ให้บริการ
- ตรวจสอบรายละเอียดของใบเสร็จ พร้อมทั้งเซ็นชื่อรับใบเสร็จเพื่อยืนยันความถูกต้อง ในใบเสร็จจะระบุหมายเลขกำกับการโอนเงิน หรือ Money Transfer Control Number (MTCN) ซึ่งสามารถนำไปใช้ตรวจสอบสถานะการส่งเงินทางระบบออนไลน์ได้
- แจ้งผู้รับเงินให้ทราบรายละเอียดเพื่อติดต่อขอรับเงิน เช่น ชื่อผู้ส่ง จำนวนเงินที่ส่ง หมายเลขกำกับการโอนเงิน (MTCN) และประเทศต้นทางที่ส่ง
- สามารถตรวจสอบสถานะการส่งเงินทางบริการออนไลน์ โดยพิมพ์ชื่อผู้ส่งและหมายเลขกำกับการโอนเงิน (MTCN) โดยกด "ตรวจสอบสถานะ"
ตัวอย่าง อัตราค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินผ่านระบบ Western Union
3. ระบบโอนเงิน "MONEYGRAM"
ระบบโอนเงินแบบ MoneyGram เป็นระบบการโอนเงินสำหรับบุคคลถึงบุคคลเท่านั้น มีให้บริการมากกว่า 300,000 แห่งทั่วโลก ในเมืองไทยส่วนใหญ่จะต้องใช้บริการ MoneyGram ผ่านธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารออมสิน หรือธนาคารไทยพาณิชย์ วิธีการโอนง่าย สะดวกและรวดเร็ว สามารถรับเงินโอนได้ภายในหนึ่งวัน (บางเว็บไซต์มีการประชาสัมพันธ์ว่าสามารถรับเงินได้ภายใน 10 นาที) เหมาะสำหรับการโอนเงินจำนวนไม่มาก เช่น จำนวนเงินไม่เกิน 10,000 USD หรือประมาณ 320,000 บาท เพราะเนื่องจากบางประเทศของผู้รับเงินจะมีเงื่อนไขจำกัดเรื่องวงเงินในการรับเงินอยู่ด้วย ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนเงินระบบ MoneyGram นั้นค่อนข้างแพง พอๆ กับ Western Union เลยทีเดียว
ขั้นตอนการโอนเงินระบบ MoneyGram - ติดต่อตัวแทน MoneyGram เช่น สาขาธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น
- เตรียมเอกสารแสดงตนเพื่อใช้ในการโอนเงิน เช่น พาสปอร์ต บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หรือบัตรอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ เป็นต้น
- กรอกแบบฟอร์มในการโอนเงิน สามารถใส่ข้อความ 10 คำ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบนแบบฟอร์ม
- จ่ายเงินพร้อมค่าธรรมเนียมการโอน เมื่อทำรายการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้รับใบเสร็จ และหมายเลขอ้างอิงจำนวน 8 หลักเพื่อเป็นหลักฐานในการโอนเงิน
- ติดต่อผู้รับเงินปลายทางเพื่อแจ้งหมายเลขอ้างอิงในการดำเนินการ ซึ่งผู้รับเงินต้องใช้หมายเลขอ้างอิงนี้ประกอบการขอรับเงินปลายทางได้ทุกที่ ที่มีจุดให้บริการ MoneyGram
ตัวอย่าง อัตราค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินระบบ MoneyGram ของธนาคารทหารไทย
ค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านระบบ MoneyGram ไปทุกประเทศ ยกเว้น ประเทศฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย, จีน, ฮ่องกง |
จำนวนเงิน (บาท) | อัตราค่าบริการ (บาท) |
0.01 - 2,500.00 | 300 |
2,500.01 - 8,000.00 | 550 |
8,000.01 - 20,000.00 | 800 |
20,000.01 - 32,000.00 | 1,300 |
32,000.01 - 60,000.00 | 1,800 |
60,000.01 - 75,000.00 | 2,500 |
75,000.01 - 90,000.00 | 2,700 |
90,000.01 - 105,000.00 | 3,000 |
105,000.01 - 225,000.00 | 4,000 |
225,000.01 - 270,000.00 | 6,000 |
270,000.01 - 315,000.00 | 8,000 |
315,000.01 - 330,000.00 | 10,000 |
ค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านระบบ MoneyGram สำหรับ ประเทศฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย, จีน, ฮ่องกง |
จำนวนเงิน (บาท) | อัตราค่าบริการ (บาท) |
0.01 - 2,500.00 | 280 |
2,500.01 - 20,000.00 | 400 |
20,000.01 - 40,000.00 | 500 |
40,000.01 - 60,000.00 | 900 |
60,000.01 - 90,000.00 | 1,200 |
90,000.01 - 135,000.00 | 3,500 |
135,000.01 - 200,000.00 | 5,000 |
200,000.01 - 300,000.00 | 7,000 |
300,000.01 - 330,000.00 | 10,000 |
ข้อแตกต่างหลักๆ ของแต่ละระบบคือ การโอนเงินแบบ SWIFT นั้น ใช้เวลาในการโอนนานกว่า แต่ค่าธรรมเนียมไม่แพงมากเกินไป และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเงินที่จะโอน ส่วนการโอนแบบ Western Union และ MoneyGram นั้น เป็นการโอนแบบเร่งด่วน เหมาะสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน และกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีบัญชี สามารถรับเงินได้ไวกว่า แต่ค่าธรรมเนียมค่อนข้างแพง และยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเงินในการโอนอีกด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงเรื่องของความปลอดภัยในการโอนแล้ว ทั้งสามแบบถือว่ามีความปลอดภัยใกล้เคียงกัน เพราะมีระบบบริการที่รัดกุมและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ก็อาจขึ้นอยู่กับทั้งผู้ส่งเงินและผู้รับเงินว่าจะสะดวกใช้การโอนเงินแบบใดค่ะ