นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) สินเชื่อใหม่ ... สำหรับใคร?
หากใครได้ตามข่าวเศรษฐกิจในช่วงนี้ จะได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อสำหรับประชาชน นั่นคือ "ไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance)" กับ "นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)" เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ!!! สงสัยกันหรือไม่คะว่า สินเชื่อทั้ง 2 แบบนี้แตกต่างกันอย่างไร? วันนี้เราเลยอยากบอก และชี้ให้เห็นกันชัดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อดังกล่าวนี้ โดยขอเริ่มจาก
ไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance) (โครงการนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร)
เกิดขึ้นจากการผลักดันของกระทรวงการคลังผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้ารายย่อย เพื่อแก้ไขปัญหาการกู้เงินนอกระบบ แต่โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากธนาคารของรัฐเหล่านี้มีเกณฑ์ในการปล่อยกู้ที่ยุ่งยาก เช่น ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องมีรายได้ที่แน่นอน ต้องมีข้อมูลทางการเงินครบถ้วน (Statement) จึงส่งผลทำให้ผู้กู้หลายคนไม่สามารถเข้าถึงการกู้ในลักษณะนี้ได้ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ทำให้ผู้กู้หลายรายยังหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบอีก ดังนั้น จึงทำให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยเงินกู้จาก "ไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance)" มาเป็น "นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)"
"นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)" คืออะไร ?
นาโนไฟแนนซ์ คือรูปแบบการปล่อยกู้ให้ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าปรับและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเดือนละ 3% (สูงกว่าสินเชื่อบุคคลที่ดอกเบี้ย 28% และดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบอาจสูงถึง 60-120%) โดยผู้ให้กู้จะต้องเป็นบริษัทเอกชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ นาโนไฟแนนซ์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เหตุที่รัฐมั่นใจว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จมากกว่า "ไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance)" เนื่องจากสถาบันการเงินที่จดทะเบียนเหล่านี้จะผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้กู้เงิน โดยผู้กู้จะมีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ รวมทั้งอาจจะไม่มีรายได้ที่ชัดเจนก็ได้ ติดเครดิตบูโรก็ไม่มีปัญหา รวมทั้งลดขั้นตอนให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เพื่อนำเงินกู้นี้ไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่กู้เพื่อไปใช้จ่าย
ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยกู้ "นาโนไฟแนนซ์" แล้ว 5 ราย ได้แก่
- บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด
- บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด
- บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด
- บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
*ข้อมูลล่าสุด วันที่ 3 มิ.ย. 2558
นาโนไฟแนนซ์ เหมาะกับใคร?
จากที่ได้รู้จักกับ "นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)" ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เรามาดูกันต่อเลยว่า นาโนไฟแนนซ์ เหมาะกับใครบ้าง? ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ รัฐบาลต้องการปล่อยกู้ให้กับผู้ที่จะหาเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ แต่มีหลักฐานทางการเงินไม่เพียงพอ และเคยต้องไปกู้เงินนอกระบบ ซึ่งต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูงมาก และเจอวิธีคิดดอกเบี้ยแบบไม่เป็นธรรม ซ้ำร้ายบางกรณียังมีการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่มีมนุษยธรรม หรือทวงหนี้โหด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้เข้าถึงเงินกู้ในระบบที่ถูกกฎหมาย
นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) ถือเป็นสินเชื่อเงินกู้อีกหนึ่งทางเลือกของบุคคลทั่วไป ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง แต่เพื่อนๆ ที่คิดจะกู้จงจำไว้ว่า นาโนไฟแนนซ์ ไม่ได้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวอย่างเดียว ในทางกลับกันนาโนไฟแนนซ์นี้ ก็อาจจะกลายเป็นมัจจุราชขึ้นมาได้เช่นกัน หากเราใช้ไม่ถูกทาง หรือออกนอกลู่นอกทาง โดยไม่มีวินัยในการใช้จ่าย และไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากสินเชื่อโครงการนี้อย่างคุ้มค่าที่สุดนะคะ