รู้เขารู้เรา...เตรียมตัวให้พร้อมก่อนขอสินเชื่อ

icon 5 มิ.ย. 56 icon 28,175
รู้เขารู้เรา...เตรียมตัวให้พร้อมก่อนขอสินเชื่อ

รู้เขารู้เรา...เตรียมตัวให้พร้อมก่อนขอสินเชื่อ
หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการกู้หนี้นอกระบบอย่างแน่นอนในการขอสินเชื่อ เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในหลายๆ เรื่องเพื่อให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด โดยหลักๆ เราต้องเตรียม และทำความเข้าใจเรื่องต่อไปนี้
1. หาข้อมูลให้เยอะ และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนก่อน เราควรศึกษาเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์สินเชื่อแต่ละประเภทที่แต่ละสถาบันการเงินนำมาเสนอ [คลิกที่นี่เพื่อดูสินเชื่อเงินสดทุกประเภทจากทุกสถาบัน] ทั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบรายละเอียดสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ก่อนตัดสินใจเลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสม และได้สินเชื่อตรงกับความต้องการ อาทิ อัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน ค่าปรับกรณีชำระหนี้ล่าช้า ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ รวมไปถึงคุณภาพการให้บริการความสะดวกในการติดต่อหรือเดินทางไปยังสถาบันการเงิน

2. เตรียมเอกสารให้พร้อม เวลาสถาบันการเงินจะให้กู้ ก็จะดูและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ จากเอกสารที่เราให้เป็นสำคัญ ซึ่งถ้าเตรียมไม่ครบหรือไม่เรียบร้อย โอกาสจะโดนปฏิเสธเงินกู้ก็สูง ในทางปฏิบัตินั้น เอกสารในการขอสินเชื่อโดยทั่วไปจะประกอบด้วย
  • เอกสารแสดงรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน หลักฐานการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของกิจการ หรือของตนเองย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายของกิจการใบคำสั่งซื้อสินค้า ใบส่งของใบแสดงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 
  • เอกสารแสดงตน เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนสมรส หนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน/บริษัท 
  • หลักฐานอื่นๆ เช่น เอกสารแสดงหลักประกัน สำเนาใบแสดงภาษีเงินได้ งบการเงินของกิจการปีล่าสุดฉบับยื่นกรมสรรพากร
**ข้อแนะนำเพิ่มเติมในทางปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ไม่มีสลิปเงินเดือนหรือสเตทเมนต์ (Statement) ก็ขอสินเชื่อได้เพียงแต่ต้องทำให้สถาบันการเงินรู้จักเรามากขึ้น โดยให้เขาเห็นความมีวินัยทางการเงินของเรา ซึ่งทำได้ง่ายๆ เช่น เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารและฝากเงินอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้สถาบันการเงินก็จะเริ่มรู้จักเราและทำให้โอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้มากขึ้น

3. ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เงื่อนไขหรือกฏเกณฑ์ที่ผู้ให้สินเชื่อแต่ละรายจะกำหนดนั้นมักจะมีรายละเอียด และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน และแต่ละช่วงเวลา แต่โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาก็จะเป็นประมาณนี้คือ
  • นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง 
  • วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น เพื่อไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจหรือเพื่อขยายโรงงาน 
  • ความสามารถในการชำระหนี้ โดยดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น แหล่งที่มาของรายได้ โอกาสในการขยายตัวของธุรกิจ ภาระหนี้สิน ประวัติในการชำระหนี้ 
  • ปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน เช่น สภาพเศรษฐกิจ คู่แข่งและระดับการแข่งขัน 
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุ อาชีพ ที่อยู่ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดทอนโอกาสการได้รับอนุมัติสินเชื่อ เช่น หากมีหลักประกันที่มีมูลค่าสูง และแปลงเป็นเงินสดได้ง่ายหรือมีผู้ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือ สถาบันการเงินก็จะมีความมั่นใจที่จะให้สินเชื่อสูงขึ้น เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินจะนำหลักประกันขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ หรือเรียกให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ชำระหนี้แทนได้

นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งที่คนทั่วไปอาจเข้าใจผิดก็คือว่า หากเซลส์หรือพนักงานขายของสถาบันการเงินบอกกับเราว่า เงื่อนไขอย่างหนึ่งของการอนุมัติสินเชื่อคือ เราต้องทำประกันภัยกับบริษัทประกันที่เซลส์หรือพนักงานขายคนนั้นกำหนดด้วย ขอให้รู้ไว้เลยว่าเซลส์หรือพนักงานขายคนนั้นพูดโกหก เพราะตามหลักการคือสถาบันการเงินไม่สามารถบังคับให้ลูกหนี้ทำประกันภัยผ่านสถาบันการเงินหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ แต่สิ่งที่สถาบันการเงินหรือเซลส์เหล่านั้นจะทำได้ก็คือ อาจเสนอเงื่อนไขอื่นๆ ให้เรา เช่น จะมีส่วนลดดอกเบี้ยให้หากเราเลือกบริษัทประกันตามที่เขาเสนอ เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ที่จะตัดสินใจขอกู้ตามนั้น
4. หาหลักประกันหรือผู้ค้ำประกันมาเสริม แน่นอนว่าการหาหลักประกันเข้ามาเสริม เช่น เงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือการหาคนที่เครดิตดี หรือเครดิตใช้ได้เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ถ้าคนที่เราเอาเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเป็นญาติสนิทมิตรสหายเรา หรือเราเองต้องไปค้ำประกันหนี้เพื่อนหรือคนในครอบครัว เราเองควรจะต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตามข้อควรจำในเรื่องเหล่านี้ ดังนี้
  • อ่านเงื่อนไขในการค้ำประกันให้ละเอียด เช่น เริ่มเมื่อไร สิ้นสุดเมื่อไร ค้ำประกันหนี้ของใคร เป็นต้น 
  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกัน เช่น ต้องรับผิดชอบในกรณีไหนบ้าง รับผิดชอบเป็นจำนวนสูงสุดเท่าไหร่ เป็นต้น 
  • ตรวจสอบความถูกต้องของวงเงินค้ำประกันที่ระบุในสัญญา และประเภทของสินเชื่อที่ค้ำประกัน (แบงก์ชาติกำหนดว่าจะต้องมีการระบุวงเงินของเงินต้นที่ค้ำประกันในสัญญาให้ชัดเจน และห้ามทำข้อตกลงว่าให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน) 
  • หากสงสัยอะไรรีบถามก่อนลงชื่อในสัญญา เช่น ถ้าข้อไหนอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง หรือไม่ตรงกับที่เราตกลงกับธนาคาร หรือคนที่เป็นคนกู้เงิน เราควรต้องสอบถามและแก้ไขให้ถูกต้องชัดเจนก่อนลงนาม

5. ทำตัวให้มีประวัติที่ดี ประวัติทางการเงินก็คือ ประวัติการชำระเงินของเราที่มีอยู่ในเครดิตบูโร ซึ่งหากข้อมูลที่แสดงในเครดิตบูโรแสดงให้เห็นการมีวินัยทางการเงินของเรา เช่น จ่ายเงินตรงเวลาทุกครั้ง มีภาระหนี้ไม่มาก ก็จะมีส่วนช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อมั่นใจมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลงในการตัดสินใจให้สินเชื่อแก่เรา ในทางกลับกันหากประวัติการเงินแสดงการค้างชำระ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็อาจลดลง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประวัติทางการเงินของเราเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคในการขออนุมัติสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สินเชื่อแต่ละแห่งมีนโยบายสินเชื่อเป็นของตนเอง บางแห่งไม่ให้สินเชื่อแก่ผู้มีประวัติค้างชำระในช่วงระยะเวลาที่กำหนด บางแห่งเห็นว่าประวัติในเครดิตบูโรเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่ใช้พิจารณา เช่น หากปัจจุบันเราได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วหรือมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็อาจได้รับอนุมัติสินเชื่อ

หากที่ผ่านมาประวัติการเงินที่ถูกบันทึกไว้ในเครดิตบูโรไม่สู้ดีนัก สิ่งที่ควรทำคือ
  • ติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างให้เสร็จสิ้น หรือเจรจาต่อรองเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ 
  • เริ่มสร้างประวัติสินเชื่อใหม่ ชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพราะทุกความเคลื่อนไหวในการชำระหนี้ของเราจะถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโร
ข้อมูลการชำระหนี้ใหม่ที่ตรงตามกำหนด (จ่ายครบและจ่ายตรง) จะค่อยๆ ทยอยแทนที่จนประวัติค้างชำระหายไปจากฐานข้อมูลได้ในที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะใช้เวลาทยอยแทนที่ประวัติเดิมประมาณ 3 ปี และในกรณีอื่นๆ จะใช้เวลาประมาณ 5 ปี แล้วหลังจากนั้นเราก็จะมีประวัติทางการเงินที่ดีได้อีกครั้ง
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)