ชไนเดอร์ อิเล็คทริค และมูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อมอบชุดฝึกสำหรับการเรียนรู้และการฝึกอบรมทางด้านไฟฟ้าและออโตเมชัน ให้กับ 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานด้านการจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric Standard Training Center) ที่วิทยาลัยระดับอาชีวศึกษา 14 แห่ง และจะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric Center of Excellence) ที่สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส เพื่อผลิตกำลังพลคนรุ่นใหม่ด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมอัตโนมัติจำนวนมาก
นายฌอง ปาสคาล ตริคัวร์ ประธานบริหาร ชไนเดอร์ อิเล็คทริค และประธานมูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า “ตั้งแต่ปี 2552 มูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค พร้อมด้วยโครงการ Youth Education และ Entrepreneurship ได้ก้าวสู่การเดินทางอย่างจริงจังโดยมุ่งมั่นในการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาที่กำหนดโดยผลกระทบด้านความยั่งยืนของชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป้าหมายของเราก็คือการลดช่องว่างด้านการศึกษาโดยให้การสนับสนุนเรื่องการฝึกอบรมแก่เยาวชน 1 ล้านคน และผู้ประกอบการ 10,000 รายภายในสิ้นปี 2568 โดยมูลนิธิชไนเดอร์ มุ่งเป้าในการมีส่วนร่วมสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างความทัดเทียมมากยิ่งขึ้น ด้วยการอาศัยความเชี่ยวชาญ และบรรดาพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อจุดประกายให้กับคนรุ่นใหม่และชุมชนในวงกว้างเพื่อขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืน การร่วมมือระหว่างมูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค และชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย จะให้การสนับสนุนด้วยการมอบสื่อการสอน จัดซื้ออุปกรณ์ด้านเทคนิค และการฝึกอบรมผู้สอน โดย ทาง Asia Society for Social Improvement and Sustainable Transformation (ASSIST) จะประสานความร่วมมือในครั้งนี้ ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา”
สำหรับประเทศไทยทางมูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกในปี 2565 และกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในวันนี้ ตั้งเป้าฝึกอบรมนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาสาขาไฟฟ้าทั่วประเทศให้ได้ 55,000 คน ตลอดระยะเวลาความร่วมมือถึงปี 2570 โดยนักศึกษาแต่ละคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมทางด้านไฟฟ้าและออโตเมชันเป็นเวลา 180 ชั่วโมงหรือ 1 ภาคการศึกษา โดยมอบหมายให้ ASSISTเป็นผู้วัดผลการดำเนินการทุกไตรมาศ
นายสเตฟาน นูสส์ ประธานคลัสเตอร์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา เผยว่า “ทุกวันนี้ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมต่างมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน คือการทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล เรามีการรวมกันระหว่างเทคโนโลยี IT และ OT เข้าด้วยกัน และใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการทำงานในกระบวนการต่างๆ เช่น การมอนิเตอร์พลังงาน และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ในเชิงลึกได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในเชิงบวก รวมถึงการประหยัดพลังงาน และคาดการณ์แนวโน้มในการซ่อมบำรุงได้ พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนควบคู่กันไป ดังนั้นความท้าทายของผู้เริ่มทำงานคือการทำความเข้าใจกับระบบใหม่ๆ นี้ให้เข้าใจ ก่อนเข้าสู่การทำงานจริง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีความยินดีในการมอบสื่อการสอนที่จะทำให้นักศึกษาสามารถบ่มเพาะความรู้จากเทคโนโลยีของเราเพื่อการทำงานที่มั่นคงในอนาคต”
การส่งมอบเทคโนโลยีที่ใช้งานจริงให้กับสถาบันการศึกษานับเป็นการปูพื้นฐานสำหรับอนาคต ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้มีความต้องการบุคลากรมืออาชีพที่รู้ลึกด้านเทคโนโลยีดิจิทัลด้านไฟฟ้า พลังงาน และอุตสาหกรรมมากขึ้น มูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค และชไนเดอร์ อิเล็ค ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานและอุตสาหกรรมอัตโนมัติให้กับครูอาจารย์และนักศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้กลายเป็นกำลังหลักที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในด้านอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัย พร้อมรับเทรนด์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้งในอนาคต