ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทรู ดิจิทัล พาร์ค จึงใส่ใจในทุกรายละเอียดนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาเพื่อสร้างทรู ดิจิทัล พาร์ค ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานระดับโลกในทุกมิติ และนับเป็นความภาคภูมิใจล่าสุดที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้รับ LEED Gold Certified จากสภาอาคารสีเขียวสหรัฐอเมริกา ขึ้นแท่นเป็นอาคารมิกซ์ยูสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ได้รับ LEEDv2009 certification ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานอาคารสีเขียว LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) เป็นการยอมรับในระดับนานาชาติด้านการออกแบบและก่อสร้างอาคารอย่างยั่งยืน โดยถูกนำมาใช้ประเมินอาคารต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกมานานกว่า 10 ปี
ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ความโดดเด่นของทรู ดิจิทัล พาร์ค คือการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นระบบนิเวศดิจิทัลสำหรับสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์แบบครบวงจรในพื้นที่เดียว ภายใต้แนวคิด “One Roof, All Possibilities – ที่เดียว ทุกความเป็นไปได้” พร้อมกันนี้ยังคำนึงถึงการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ มาช่วยประหยัดพลังงานและยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของทั้งโครงการ ซึ่งน่ายินดีและภูมิใจที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้รับประกาศนียบัตรการรับรองมาตรฐานในระดับ LEED Gold จากสภาอาคารสีเขียวสหรัฐอเมริกา อันเป็นการตอกย้ำความตั้งใจของโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่จะร่วมนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาร่วมลดการสร้างมลภาวะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เทคโนโลยี “โซล่าเซลล์” สร้างพลังงานไฟฟ้าทดแทน ระบบ “อาคารอัจฉริยะ” (Smart Building) ที่ช่วยให้ใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงหอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส” ที่ฟอกอากาศให้สะอาด ปลอดฝุ่น PM2.5 สำหรับผู้ที่อยู่ในโครงการและบริเวณใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านั้น ทางโครงการยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ภายนอกมากกว่า 20,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะและช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนปุณณวิถี ที่สำคัญยังสามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมให้แก่พื้นที่โดยรอบได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เกณฑ์การให้คะแนนของ LEED พิจารณาครอบคลุม 7 หัวข้อ ได้แก่
1. การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Sites: SS)
2. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency: WE)
3. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere: EA)
4. การเลือกใช้วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources: MR)
5. คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality: IEQ)
6. นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design: ID) และ
7. ลำดับความสำคัญของท้องถิ่น (Regional Priority: RP)