รีวิว Xiaomi Mi Band 3 สายรัดข้อมือสำหรับออกกำลังกาย เพื่อคนรักสุขภาพ
Xiaomi Mi Band 3 เป็นสายรัดข้อมือตรวจจับการออกกำลังกาย ที่มีคนให้ความสนใจเยอะพอสมควร เพราะราคาวางจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายทุกวัย และฟังก์ชั่นที่ใส่มาก็สามารถตอบโจทย์พื้นฐานของคนที่ออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี จึงทำให้กลายเป็นสายรัดข้อมือ Activity Tracker ยอดนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศไปโดยปริยาย
แต่แน่นอนว่านอกจากราคาและฟังก์ชั่นที่น่าสนใจแล้ว Mi Band 3 ยังมาพร้อมความสามารถใหม่ที่ถูกปรับปรุงขึ้นมาจากรุ่นก่อนหลายอย่าง เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไร และความน่าซื้ออยู่ตรงไหน แล้วใครที่เหมาะจะนำไปใช้งาน ไปหาคำตอบผ่านบทความนี้พร้อมกันได้เลยครับ
Design (ดีไซน์)
Xiaomi Mi Band 3 มาพร้อมหน้าจอแสดงผล OLED (ขาว-ดำ) แบบทัชสกรีนขนาด 0.78 นิ้ว ความละเอียด 128x80 พิกเซล รองรับการแสดงผลตัวอักษร (ในหนึ่งหน้า) ได้สูงสุด 24 ตัวอักษร ส่วนใต้หน้าจอจะมีแป้นสัมผัสสำหรับใช้งานเป็นปุ่มนำทาง หรือกดยืนยันเมนูต่างๆ
ด้านบนมีพอร์ทแบบ PIN สำหรับชาร์จไฟ ซึ่งจะใช้งานร่วมกับที่ชาร์จที่แถมมาให้ในกล่อง
ด้านหลังมีเซ็นเซอร์ IR แบบ PPG สำหรับตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และเซ็นเซอร์ Accelerometer Axis แบบ 3 แกน
สำหรับตัวสายรัด จะใช้วัสดุเป็นยางพลาสติก (Thermoplastic elastomer) มีความยาวประมาณ 247 มิลลิเมตร สามารถเลือกปรับขนาดได้ตั้งแต่ 155 - 216 มิลลิเมตร และสามารถถอดเปลี่ยนจากตัว Mi Band 3 ได้เลยแค่ดันออกเท่านั้น
คุณสมบัติ Xiaomi Mi Band 3
- แบตเตอรี่ขนาด 110 mAh
- กันน้ำตามมาตราฐาน IP ระดับ 5 ATM (กันน้ำลึก 50 เมตร)
- Bluetooth 4.2 BLE
- รองรับสมาร์ทโฟน Bluetooth 4.0 ขึ้นไป
- รองรับสมาร์ทโฟน Android 4.4 และ iOS 9.0 ขึ้นไป
- แสดงผลข้อความเข้า, ข้อความไลน์ และแอปฯ อื่นๆ
- รองรับการตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจแบบรีลไทม์
- รองรับการตรวจจับการนอน
เริ่มต้นใช้งาน
Mi band 3 จะเริ่มใช้งานได้ ต้องทำการเชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชั่น "Mi Fit" ผ่าน Bluetooth บนสมาร์ทโฟนก่อน ซึ่งใครใช้ระบบไหนก็เข้าไปดาวน์โหลดบนสโตร์กันได้เลย
ภายในแอปพลิเคชั่นจะสามารถเรียกดูข้อมูลค่าสถิติต่างๆ ที่เก็บผ่านตัว Mi band 3 ได้เลย แต่จำเป็นต้องทำการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนกับตัวสายรัดให้เรียบร้อยก่อน ตัวแอปพลิเคชั่นจึงจะสามารถดึงข้อมูลขึ้นมาแสดงผลให้เราทราบได้
นอกจากนี้ภายในแอปฯ ยังมีเมนูโหมดการใช้งานต่างๆ ให้เลือกเรียกใช้ได้ตามต้องการ เช่น โหมดการออกกำลังกายที่จะรูปแบบกิจกรรมให้เราเลือก พร้อมมีแผนที่แสดงให้ดู รวมถึงโหมดการจับอัตราการเต้นของหัวใจ ระยะทาง หรือเวลาให้อัตโนมัติ หรือจะปรับแต่งตัว Mi Band 3 ให้แสดงผลรูปแบบต่างๆ เปิด-ปิดการตรวจจับการนอน และอื่นๆ อีกหลายฟังก์ชั่น ซึ่งเราสามารถเรียกใช้จากในแอปพลิเคชั่นได้เลย
โหมดการใช้งานเด่น
นับจำนวนก้าว (Step)
สำหรับโหมดนับจำนวนก้าวบน Mi Band 3 ตัวสายรัดจะทำการตรวจจับและนับจำนวนก้าวให้เราทันที เมื่อเกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งหากเราซิงค์ข้อมูลเข้ากับสมาร์ทโฟนก็จะสามารถใช้งานคู่กับการแสดงแผนที่ได้ด้วย สำหรับจุดสังเกตของโหมดนี้คือ Mi Band 3 จะอาศัยเซ็นเซอร์ Accelerometer ในการตรวจจับการเดินของผู้ใช้งาน ทำให้บางครั้งหากเราแกว่งมือเฉยๆ ตัวสายรัดก็จะนับก้าวให้เองด้วย
คำนวณ Cal ที่เราเผาผลาญไปได้ด้วย
วัดอัตราการเต้นหัวใจ (Heart rate)
สำหรับโหมดวัดอัตราการเต้นหัวใจ จะสามารถวัดได้แบบทั้งแมนนวลและแบบอัตโนมัติ โดยในโหมดอัตโนมัติจำเป็นต้องเปิดใช้งานจากในแอปพลิเคชั่นก่อน จากนั้นตัว Mi Band 3 ก็จะตรวจจับตามรอบนาทีที่เราตั้งค่า และเมื่อเราซิงค์กับสมาร์ทโฟนค่าสถิติทั้งหมดตลอดวันก็จะถูกนำไปแสดงผลเป็นกราฟให้เราดูผ่านแอปฯ ทันที
ส่วนการตรวจวัดการเต้นหัวใจแบบแมนนวล ทำได้เพียงแตะปุ่มทัชใต้หน้าจอค้างไว้แล้วปล่อย ตัว Mi Band 3 ก็จะตรวจวัดให้ทันที โดยใช้เวลาในการตรวจวัดอัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ประมาณ 1 - 2 นาที เท่านั้น
Activity (โหมดการออกกำลังกาย)
สำหรับโหมดการออกกำลังกายบน Mi Band 3 จะแสดงผลให้เลือกใช้งานได้เพียงสองโหมดเท่านั้นคือ โหมดวิ่งบนลู่วิ่งกับโหมด Exercise ซึ่งภายในสองโหมดนี้ตัวสายรัดจะเริ่มแสดงผลจับเวลา พร้อมแสดงจำนวนแคลที่เราผลาญไปแบบรีลไทม์ให้ทันที
แต่ถ้าหากอยากได้ Activity ที่มากกว่านี้ เราต้องเข้าไปเลือกโหมดจากในแอปพลิเคชั่น "Mi Fit" แทน ซึ่งตัวสายรัดก็จะเปลี่ยนรูปแบบการตรวจวัดให้ตาม Activity ที่เราเซ็ต ตรงนี้อาจจะไม่สะดวกเท่าไรนัก เพราะเราต้องตั้งค่าก่อนเริ่มออกกำลังกายถึงจะได้ค่าสถิติต่างๆ ที่ตรงกับรูปแบบออกกำลังกาย
Notification (การแจ้งเตือน)
หากเราเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธไว้ เมื่อมีข้อความ (SMS) หรือการแจ้งเตือนจากบนมือถือ ตัว Mi Band 3 ก็จะแสดงผลให้ทราบด้วยเช่นกัน ซึ่งอัปเดทล่าสุด (เมษายน 2019) จะรองรับการแสดงผลเป็นภาษาไทยแล้ว
เพิ่มเติม
ในส่วนโหมดการใช้งานอื่นๆ บน Mi Band 3 นั้นจะเป็นเมนูแนวจิปาถะ เช่น นาฬิกาจับเวลา, ปรับแต่งหน้าจอหลัก, หรือแสดงปริมาณแบตเตอรี่ เป็นต้น
สรุป
Xiaomi Mi Band 3 จัดว่าเป็นสายรัดข้อมือสำหรับออกกำลังกาย ที่น่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นออกกำลังกาย หรือมีความสนใจในเรื่องของสุขภาพ เช่น อยากรู้จำนวนก้าวในแต่ละวัน ปริมาณแคลอรี่ที่เราเผาผลาญไป เป็นต้น และกำลังมองหาอุปกรณ์แนว Fitness Tracking ในราคาไม่แพง อารมณ์ประมาณว่า ถ้าล้มโครงการออกกำลังกายไป ก็ไม่เสียใจ รับรองว่า Mi Band 3 สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้หมด
แต่ถ้าหากเป็นคนที่ออกกำลังกายจริงจัง เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว แนะนำว่าขยับไปหา Fitness Tracking ที่ราคาสูงขึ้นกว่านี้อีกหน่อยจะดีกว่า เพราะได้การวัดหรือการตรวจจับกิจกรรมที่แม่นยำ และฟีเจอร์ให้เล่นหลากหลายกว่า