เปรียบเทียบหุ้นรถไฟฟ้า BTS vs BEM ตัวไหนน่าลงทุนมากกว่ากัน

icon 16 ธ.ค. 65 icon 4,580
เปรียบเทียบหุ้นรถไฟฟ้า BTS vs BEM ตัวไหนน่าลงทุนมากกว่ากัน
นับตั้งแต่ระบบขนส่งทางรางในกรุงเทพ และปริมณฑลเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2542 โดยเริ่มจากรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท และสายสีลม ปัจจุบันเส้นทางขยายไปครอบคลุมการเดินทางทั้งในกรุงเทพ และปริมณฑลรวมแล้วกว่า 10 สาย การบริหารงานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
  • เจ้าของโครงการเป็นผู้ให้บริการเดินรถเอง
  • เจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการแทน
บริษัทที่ทำหน้าที่บริหารงานเกือบทั้งหมดคงหนีไม่พ้น BTS และ BEM ซึ่งเป็นที่คุ้นหูทุกคนกันมาอย่างยาวนาน บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ 2 บริษัทชื่อดังแห่งระบบขนส่งมวลชนกันนะครับ

ส่องธุรกิจ BTS

BTS หรือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ นอกจากจะเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าแล้วยังมีอีกหลายธุรกิจ สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

ธุรกิจ MOVE ธุรกิจขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า BTS และยังมีเครือข่ายครอบคลุมทั้งรถประจำทาง เรือด่วนข้ามฟาก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และสนามบิน ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลโครงการรถไฟฟ้าที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก สถานีหมอชิต-อ่อนนุช โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง กรุงธนบุรี-คลองสาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง

นอกจากนี้ยังรับบริหารระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ร่วมทุนกับเอกชนและรัฐบาลพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ร่วมทุนพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง
 
ธุรกิจ MIX จะเห็นว่าธุรกิจ MOVE ส่วนใหญ่พึ่งพาสัมปทานจากภาครัฐ จึงมีความเสี่ยงหากไม่ได้ต่อสัมปทาน BTS จึงเพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่น รายได้ส่วนนี้ส่วนใหญ่จะมาจากการถือหุ้นผ่าน VGI ที่ทำธุรกิจมีเดีย แบ่งย่อยได้อีก 3 กลุ่มธุรกิจ คือ
  1. ธุรกิจโฆษณา ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สื่อโฆษณานอกบ้าน เช่น สื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน สื่อโฆษณากลางแจ้ง และการตลาดออนไลน์
  2. ธุรกิจบริการการชำระเงิน โดยชำระเงินผ่าน Rabbit Card และ Rabbit LINE Pay และยังมี Rabbit Cash ที่ให้บริการสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อดิจิทัล
  3. ธุรกิจโลจิสติกส์ BTS ลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ผ่านบริษัท VGI ที่เข้าไปถือหุ้น 17.9% ใน KERRY มีธุรกิจการจัดจำหน่ายดำเนินการโดย Fanslink และบริการการทดลองและสาธิตสินค้าดำเนินการโดย Demo Power อีกทั้งถือหุ้น JMART ผ่าน VGI และ U ทำให้มีสัดส่วนในธุรกิจค้าปลีกมือถือและบริการติดตามหนี้
ธุรกิจ MATCH เป็นการหาโอกาสผ่านความร่วมมือกับบริษัทอื่น อาจมีทั้งการร่วมทุน และเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น เช่น ลงทุนธุรกิจอสังหาฯ ด้วยการร่วมทุนกับ SANSIRI มีธุรกิจอาหารผ่านการถือหุ้น AFTER U 7.39%

รายได้งวดปี 2564/2565 (เม.ย. 64-มี.ค. 65) อยู่ที่ 31,195 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจ MOVE คิดเป็น 80.8% ธุรกิจ MIX คิดเป็น 16.6% และธุรกิจ MATCH คิดเป็น 2.5%
ส่องธุรกิจ BEM

BEM หรือ บมจ. ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ ให้บริการระบบคมนาคมทั้งบริการทางพิเศษ และระบบขนส่งมวลชน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
 
ธุรกิจทางพิเศษ BEM ได้รับสัมปทานก่อสร้างและบริหารทางพิเศษรวม 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช, ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และทางพิเศษอุดรรัถยา โดยบริษัท BEM จะได้รับส่วนแบ่งค่าผ่านทางตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
 
ธุรกิจระบบราง รับสัมปทานบริการเดินรถไฟฟ้า 2 โครงการจาก รฟม. คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน BEM มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสาร การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในโครงการ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่ง รฟม. จ้าง BEM บริหารการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี
 
ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ BEM ให้บริษัทเอกชนและบุคคลใช้พื้นที่เพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ระบบราง ทั้งป้ายโฆษณา ป้ายรายงานสภาพจราจร ให้เช่าพื้นที่ทำร้านค้า ใช้พื้นที่ติดตั้งระบบกระจายสัญญาณ 3G

ไตรมาส 3 ปี 2565 มีรายได้ 3,739 ล้านบาท กำไรสุทธิ 862.78 ล้านบาท สำหรับรายได้ 9 เดือนปี 2565 อยู่ที่ 1,833 ล้านบาท พบว่าปีนี้ทั้งรายได้และกำไรสุทธิฟื้นตัวกลับขึ้นมารับอานิสงส์การเปิดเมืองเต็มรูปแบบ

เปรียบเทียบผลประกอบการ BTS vs BEM
 

ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 (ไตรมาส 2 งวดปี 2565/2566) BTS มีรายได้ 5,911 ล้านบาท ลดลง 13.9% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน กำไรสุทธิ 474 ล้านบาท ลดลง 17.7% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน สาเหตุมาจากรายได้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเหลืองปรับลดลงจากการอยู่ในช่วงท้ายของการพัฒนา

ส่วนผลประกอบการ BEM ไตรมาส 3 ปี 2565 มีรายได้ 4,004.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.67% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน กำไรสุทธิ 862.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 696.11% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัว ปริมาณผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ข้อมูลถึงวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ราคาหุ้น BTS ปรับตัวลง 11.23% ส่วนราคาหุ้น BEM ปรับตัวขึ้น 13.61% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ BTS ยังต้องรับรู้การขาดทุนจากธุรกิจที่เข้าไปมีสัดส่วนการถือหุ้น ส่วนผลประกอบการส่วนธุรกิจหลักยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน สวนทาง BEM ที่เห็นการฟื้นตัวจากผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน BTS มีอัตราส่วน P/E อยู่ที่ 37.99 เท่า BEM มีอัตราส่วน P/E อยู่ที่ 65.83 เท่า นักวิเคราะห์คาดว่าปี 2566 อัตราส่วน P/E ของ BTS จะอยู่ที่ 40.69 เท่า และปี 2567 อัตราส่วน P/E จะอยู่ที่ 34.3 เท่า ด้านอัตราส่วน P/E ของ BEM ปี 2566 จะอยู่ที่ 38.71 เท่า และปี 2567 จะอยู่ที่ 35.56 เท่า

หุ้นตัวไหนน่าลงทุนมากกว่ากัน

ถ้าพิจารณาจากรูปแบบธุรกิจ และแนวโน้มผลประกอบการก่อน COVID-19 พบว่า 2 บริษัทนี้มีลักษณะเป็นหุ้น Defensive จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการหุ้นความผันผวนต่ำในพอร์ตการลงทุน มีรายได้ และกำไรสม่ำเสมอ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า BEM มีความน่าสนใจมากกว่าทั้งในแง่มูลค่าในอนาคตที่นักวิเคราะห์คาดการณ์สะท้อนว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับรูปแบบธุรกิจที่ทำให้รายได้มีแนวโน้มสม่ำเสมอมากกว่า

สุดท้ายนี้อยากจะบอกนักลงทุนว่าต้องติดตามแนวโน้มกิจการอยู่เสมอ และต้องบริหารพอร์ตการลงทุนไม่ให้มีความเสี่ยงมากกว่าที่รับได้ มิฉะนั้นอาจสูญเสียเงินไปกับการลงทุนโดยไม่จำเป็นนะครับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง บทความลงทุน 2565 หุ้นรถไฟฟ้า BTS หุ้นรถไฟฟ้า BEM เปรียบเทียบหุ้นรถไฟฟ้า
Economy Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Economy Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)