ย้อนรอยอดีต การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

icon 8 ก.ค. 65 icon 2,079
ย้อนรอยอดีต การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร
สถานการณ์ในตอนนี้เชื่อเลยว่าถ้าทุกคนเข้า Social Media ไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม จะต้องเจอโพสต์เกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น หรือเงินเฟ้อนั่นเอง และอาจจะเห็นข่าวว่าหลายประเทศทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ก่อนอื่นเราไปดูกันก่อนว่า เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำไมถึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย?

สภาพเศรษฐกิจกับการขึ้นดอกเบี้ย
 
ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคา และสนับสนุนการจ้างงาน โดยใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรลุเป้าหมาย ธนาคารกลางจะกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนดเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ธนาคารแห่งประเทศไทยมีกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3%
 
เมื่อใดที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และสูงกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจเกิดได้ 2 สาเหตุ
  1. ความต้องการบริโภคที่สูงกว่ากำลังการผลิต (Demand-pull)
  2. ราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น (Cost-push) ธนาคารกลางก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยปัจจุบันสหรัฐฯ เผชิญกับเงินเฟ้อในระดับ 8.6% เป็นผลจากทั้งความต้องการบริโภค และราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 1.5% ขณะที่ทั่วโลกก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงเช่นกัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจึงเป็นขาขึ้น
 
อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชาชนหันมาเก็บเงินฝากกินดอกเบี้ยมากขึ้น ดังนั้นเงินในระบบที่ใช้สำหรับการบริโภคจึงลดลง ส่วนภาคธุรกิจจะชอลอการใช้จ่ายและลงทุนเช่นกัน ส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง
 
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคมากเกินไป ผู้ที่มีหนี้สินก็มีภาระเพิ่มขึ้น มีโอกาสทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้ บทความนี้จะพาทุกคนมาย้อนรอยอดีตไปด้วยกัน ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ย้อนรอยอดีตวัฏจักรเศรษฐกิจ 3 รอบสำคัญ
 
ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมวิกฤติเศรษฐกิจสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนชาวไทยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 รอบ ประกอบด้วย ปี 1997 วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2008 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และปี 2018 สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เราไปดูกันว่าการขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างไร

วิกฤติต้มยำกุ้ง (1997)
 
ปี 1989-1990 เศรษฐกิจไทยเฟืองฟูได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติ ประกอบกับการเปิดเสรีการเงิน ส่วนปี 1996 ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการ BIBF ลดค่าธรรมเนียมให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินต่างประเทศมาปล่อยสินเชื่อในประเทศง่ายขึ้น
 
ปี 1994 หนี้ระยะสั้นสกุลเงินดอลลาร์มากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งถูกใช้ไปกับการเก็งกำไรสินทรัพย์จนเกิดภาวะฟองสบู่ ตอนนั้นประเทศไทยแหกทฤษฎี Impossible Trinity ปล่อยให้เงินทุนเข้าออกเสรี ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ประกอบกับมีหนี้ต่างชาติในสกุลดอลลาร์มากกว่าทุนสำรอง จึงโดนกองทุนเฮดจ์ฟันด์โจมตีค่าเงินบาท ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 1997
 
อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์
 
ภายในเวลา 6 เดือน เงินบาทอ่อนค่าจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ไปที่ 56 บาท/ดอลลาร์ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หลังลอยตัวค่าเงินบาท อัตราเงินเฟ้อขึ้นจาก 4.48% ไป 10.58% ภายใน 1 ปี ในสถานการณ์นั้นแม้เศรษฐกิจจะหดตัว ซึ่งต้องใช้การปรับลดดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอมากขึ้นไปอีก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 12.43% ไปที่ 22.87% เมื่อหยุดเงินเฟ้อได้แล้ว จึงกลับมาปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
ดัชนี SET ของไทยได้รับผลกระทบโดยตรง ปรับตัวลงจาก 1,420 จุด เมื่อต้นปี 1996 มาแตะจุดต่ำสุดที่ 205 จุด (-85.63%) ในเดือน ก.ย. 1998 ช่วงเวลาเดียวกันดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมากกว่า 60% และถ้าใครมีทองแท่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 12.3% ซึ่งราคาที่ระดับสูงสุดช่วงเดือน ม.ค. 1998 มีกำไรถึง 45% เป็นเพราะว่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างหนัก
 
"จากวิกฤติครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้กับนักลงทุนว่าถ้าเกิดวิกฤติในประเทศเราเอง การกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศหรือสินทรัพย์อื่นเป็นสิ่งสำคัญ"

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (2008)
 
ปี 2001 สหรัฐฯ เผชิญกับเศรษฐกิจหดตัวจากฟองสบู่ dot-com และเหตุการณ์ 9/11 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดดอกเบี้ยจาก 6.5% เหลือ 1% กระตุ้นการกู้ยืม และใช้จ่ายภาคครัวเรือน มีการเก็งกำไรในอสังหาฯ ในช่วงนั้นธนาคารพาณิชย์นำสินเชื่อบ้านจำนวนมาก สร้างเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่เรียกว่า CDO ขายให้นักลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ เกิดการเก็งกำไร CDO ในโลกการเงินเช่นกัน เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ปี 2004-2006 เศรษฐกิจเติบโต 3-4% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3.5% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 4-5% FED จึงทยอยขึ้นดอกเบี้ยจาก 1% ไปที่ 5.25%
 
ดัชนี S&P 500
 
การขึ้นดอกเบี้ยแม้จะสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อตามเป้าหมายของธนาคารกลาง แต่ก็เพิ่มภาระหนี้เช่นกัน วิกฤติเริ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตช้าลง การเก็งกำไรสร้างผลตอบแทนไม่พอจ่ายภาระหนี้จนมีการผิดชำระหนี้จำนวนมาก ด้าน CDO ก็ถูกเทขายเช่นกัน
 
ปี 2008 เหตุการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ล้มละลาย และอีกหลายธนาคารเจอปัญหาอย่างหนัก เรียกได้ว่าฟองสบู่ทั้งภาคเศรษฐกิจจริง และโลกการเงินระเบิดพร้อมกันเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
 
FED เห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปี 2006 เริ่มปรับลดดอกเบี้ยจาก 5.25% มาเหลือ 2% ในต้นปี 2008 และเมื่อวิกฤติเกิดขึ้นตอนปลายปี 2008 ก็ปรับลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเหลือ 0.25% ในเดือน ธ.ค. 2008
 
ระหว่างเดือน พ.ค. 2008 - มี.ค. 2009 ดัชนี S&P 500 ร่วงกว่า 53% ดัชนี SET ร่วง 53% ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรปร่วง 50.5% ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้น 10%
 
"บทเรียนวิกฤติรอบนี้ชี้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ สร้างผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก มีเพียงทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่รอด"

สงครามการค้า 2018
 
หลังผ่านวิกฤติปี 2008 FED ลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมพิมพ์เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2015 GDP เติบโตที่ 2-3% ส่วนอัตราการว่างงานลดลงมาที่ 5% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 0% เดือน ธ.ค. 2015 FED จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.25% มาที่ 0.5% ปี 2016 GDP เติบโตที่ 1-1.5% อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อย ส่วนเงินเฟ้อขึ้นมาที่ 1% FED จึงขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งช่วงปลายปี 2016 จากนั้นตลอดปี 2017 ด้วย GDP ที่เติบโต 1-3% เงินเฟ้อยืนเหนือ 2% อัตราการว่างงานลดมาที่ 4.5% FED ขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.75% มาที่ 1.5%
 
ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ปี 2017 ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทน 20% ดัชนี SET ได้อานิสงส์เช่นกัน ปรับตัวขึ้น 16% ราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้น 15% นับเป็นช่วงที่สินทรัพย์ทุกชนิดได้ผลดีจากเศรษฐกิจที่เติบโต พร้อมเงินเฟ้อระดับเหมาะสม โดยเรียกภาวะนี้ว่า Goldilocks
 
ตลอดปี 2018 FED ยังขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.5% ไปที่ 2.5% พร้อมเริ่มลดสภาพคล่องจากการพิมพ์เงิน ในปีนั้นอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เปิดสงครามการค้ากับประเทศจีน แม้อัตราการว่างงานจะลดลงต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3% แต่ด้วยความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวประกอบกับสภาพคล่องเริ่มลดลง ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ผันผวนหนักปรับตัวลงไป 10% ดัชนี STOXX600 ร่วง -11.5% ดัชนี SET ก็รับผลไปเช่นกัน ปรับตัวลง -11% ส่วนราคาทองคำลดลงเล็กน้อย -1.5% ส่วน GDP ยังเติบโตที่ 2% ต่อเนื่อง จนหดตัวเมื่อเผชิญกับ COVID-19 ระบาด
 
ซึ่งนักวิเคราะห์สรุปว่าปีนั้นตลาดการเงินโลกรับผลกระทบจากความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวท่ามกลางดอกเบี้ยที่ยังขึ้น และปัจจัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็คือ การลดสภาพคล่อง ราคาสินทรัพย์ทุกชนิดจึงลดลง ปีนั้นมีเพียงเงินสดที่สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวก สถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูงมาก แต่การกระจายความเสี่ยงช่วยได้
 
ปัจจุบันโลกเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงระดับ 8-10% ธนาคารกลางทั่วโลกจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และเริ่มลดสภาพคล่องที่เพิ่มเข้ามาช่วง COVID-19 ระบาด ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงอย่างหนัก ราคาทองคำถูกกดดันเคลื่อนไหวในกรอบ มีเพียงราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น สถานการณ์ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากในช่วงแรกเงินเฟ้อเกิดจากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ได้รับแรงหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้มากนัก หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย
 
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ
 
ซึ่งเมื่อมองย้อนไปในอดีต จะเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ย แม้จะมีเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ถ้าถูกใช้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ก็อาจสร้างปัญหาได้ นอกจากนี้ผลตอบแทนสินทรัพย์แต่ละรอบเศรษฐกิจที่มีการขึ้นดอกเบี้ยก็แตกต่างกัน สำหรับรอบนี้ไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ แต่อดีตชี้ว่าการกระจายความเสี่ยงมีความสำคัญ นักลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยงไปทั้งหุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อไหร่
แท็กที่เกี่ยวข้อง วางแผนการเงิน เงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อ วิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพ
Economy Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Economy Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)