โฟตอน ค่ายรถใหญ่แดนมังกรที่มียอดขายในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ในจีนสูงเป็นอันดับหนึ่ง 19 ปีติดต่อกัน จับมือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งที่ 2 เปิดแนวรุกปักหมุดในไทย ทำพิธีเปิดโรงงานผลิตรถบรรทุกแห่งแรกนอกประเทศจีน ภายใต้ชื่อ โฟตอน ซีพี มอเตอร์ (FOTON CP Motor) ในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท
เพื่อเป็นฐานการผลิตรถบรรทุกโฟตอนพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศ 80% และส่งออก 20% โดยมีกำลังการผลิต 1,800 คันต่อปี คาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถผลิตรถเข้าสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 7,200 คัน พร้อมรองรับการเติบโตอย่างมั่นคงในตลาดรถยนต์เมืองไทยและตลาดเอเชียแปซิฟิก
โดยยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ ซีพี โฟตอน ในประเทศปีนี้เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อนหน้า ตอกย้ำความสำเร็จในการทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าด้วยทางเลือกที่หลากหลาย และพร้อมขับเคลื่อนวงการโลจิสติกส์ไทยให้เข้าสู่ตลาดพลังงานใหม่ หรือ EV โดยมี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตร โฟตอนจากนานาประเทศมาร่วมแสดงความยินดี
นายชาง รุ่ย (Mr.Chang Rui) ประธาน โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป เผยว่า “โรงงาน โฟตอน ซีพี มอเตอร์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถโฟตอนแห่งแรกนอกประเทศจีน เป็นการต่อยอดความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัท หลังจากได้เห็นผลลัพธ์การเติบโตอย่างมั่นคงภายในเวลาเพียง 5 ปีของ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกในการดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คุณภาพสูง ซีพี โฟตอน หลากหลายรุ่นในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine หรือ ICE) และยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) โดยมียอดจดทะเบียนโดยกรมการขนส่งทางบกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนตุลาคมของปีนี้ มียอดฯ เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว (YTD Oct.2023: 436 คัน, YTD Oct.2024: 603 คัน) อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นตลาดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์พลังงานใหม่ในระดับโลก จึงเป็นความเหมาะสมทุกประการในการตั้งโรงงานขึ้นในประเทศไทย และพร้อมแล้วที่จะผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ระดับแนวหน้าที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม”
ด้านผู้ร่วมทุนฝ่ายไทย นายนพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวเสริมว่า “การจัดตั้งโรงงาน โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จะมีส่วนผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และตลาดแรงงานให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจมหภาคระดับโลก และสามารถเป็นฐานปฏิบัติการรถเพื่อการพาณิชย์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคต โดยใน 3 ปีแรก โรงงานจะสามารถผลิตรถเข้าสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 7,200 คัน อีกทั้งยังเป็นการขยายความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มพันธมิตรชิ้นส่วนชั้นนำให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น อาทิ Foton Cummins, Yuchai, Fangsheng และ Fast เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิต ความรวดเร็วในการสนับสนุนทางเทคนิค และบริการอะไหล่ รวมถึงการขยายขอบเขตธุรกิจเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เช่น การประกอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์พลังงานใหม่ เป็นต้น”
นายชัชชัย นาคประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คุณภาพสูงแบรนด์ ซีพี โฟตอน ในประเทศไทย เผยว่า “การตั้งโรงงานผลิตในไทยเป็นการตอกย้ำการลงทุนที่มองเห็นการเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการที่เลือกใช้รถ ซีพี โฟตอน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนส่งและก่อสร้างที่มีความจำเป็นต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนั้นตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จึงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทฯ มีรถเพื่อการพาณิชย์ให้บริการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งเครื่องยนต์สันดาปและอีวี (EV) โดยยอดจำหน่ายรถบรรทุกอีวี เติบโตมากขึ้น 260% (EV Truck YTD Oct.2023: 105 คัน, YTD Oct.2024: 377 คัน) แสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและเทคโนโลยีในระดับโลก และสอดคล้องกับความต้องการในการใช้งานของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานพาหนะพลังงานใหม่ที่สามารถตอบรับการขนส่งในเมืองและตลาดโลจิสติกส์ระยะไกล ทำให้ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากกลุ่มองค์กรชั้นนำเพื่อการนำไปใช้เสริมกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม(CARBON NEUTRALITY) ด้วยเพราะเชื่อมั่นในมาตรฐานงานบริการ และความพร้อมของอะไหล่จากผู้แทนจำหน่าย-เครือข่ายศูนย์บริการกว่า 25 แห่งทั่วประเทศ และด้วยผลประกอบการที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องทุกปี โดยยอดจดทะเบียนกรมการขนส่งทางบกสะสม ณ เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 603 คัน ทำให้เชื่อมั่นว่าในเร็วๆ นี้ “ซีพี โฟตอน” จะครองส่วนแบ่งการตลาดติดอันดับ 1 ใน 3 ผู้นำในตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย และร่วมผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งของเมืองไทยให้ก้าวสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนในอนาคต”
พร้อมกันนี้ยังได้เดินหน้าส่งมอบไลน์การผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ โฟตอน สำหรับตลาดต่างประเทศนอกประเทศจีนคันที่ 1 ล้านให้กับโรงงาน โฟตอน ซีพี มอเตอร์ ซึ่งเป็นรถบรรทุกรุ่น Auman C รวมทั้งจัดประชุม FOTON ASIA PACIFIC PARTNERS CONFERENCE 2025 สำหรับกลุ่มพันธมิตร FOTON จากนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด TOGETHER WIN FUTURE เพื่อแถลงวิสัยทัศน์ระดับโลก ปูความพร้อมสู่การเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์แห่งอนาคต ทั้งในด้านนวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงานใหม่
รวมถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของ โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป นับตั้งแต่ปี 2004 และตลอด 20 ปีของการขยายธุรกิจและการเจาะตลาดโลก ทำให้ FOTON ได้กลายเป็นแบรนด์รถยนต์เชิงพาณิชย์ระดับโลก ที่มียอดส่งออกสะสมกว่า 1 ล้านคัน โดยในปี 2023 ส่งออกรถยนต์ 131,000 คัน พร้อมตั้งเป้ามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 150,000 คันในปี 2024 170,000 คันในปี 2025 และ 300,000 คันภายในปี 2030
“ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน และศักยภาพด้านการฝีมือผลิตยานยนต์ของไทยที่ไม่แพ้ใดในโลกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นจุดเปลี่ยนของระบบโลจิสติกส์แห่งอนาคตที่ยานยนต์พลังงานใหม่ตอบสนองได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มั่นใจได้ว่าเป้าหมายอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียวของรัฐบาลนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม” นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย
โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 และจดทะเบียนในปี 1998 เป็นบริษัทผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางเทคนิคที่หลากหลายที่สุด โดยมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของจีนติดต่อกันมาเป็นเวลา 19 ปี ปัจจุบันได้ก่อตั้งระบบโครงสร้างธุรกิจที่ผสานรวมรถยนต์ ชิ้นส่วน เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบนิเวศทางธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยมีฐานการผลิตรถยนต์ 16 แห่งและฐานการผลิตชิ้นส่วน 6 แห่งในประเทศจีน โดยมีโรงงาน โฟตอน ซีพี มอเตอร์ ในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีน และโรงงาน KD (Knocked Down) 27 แห่งในต่างประเทศ มีกำลังการผลิตมาตรฐาน 800,000 คันต่อปี เครือข่ายการขายครอบคลุมมากกว่า 130 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก