Honda CR-V เจเนอเรชั่นที่ 2 ถือเป็น SUV ขนาดไม่ใหญ่เลยเมื่อเทียบกับซีอาร์-วียุคปัจจุบัน การบรรทุกผู้โดยสารจำนวน 5 คนถือว่าตัวรถทำได้ดีที่สุดแล้ว แต่ Honda Philippines มองเห็นถึงศักยภาพของรถที่ไม่มีใครเห็น โดยทำให้ CR-V สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 10 คนและขายตั้งแต่ปี 2002-2005 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางภาษีของแบรนด์ในแดนฟิลิปปินส์
ภายนอกจะเหมือนกับ CR-V รุ่นอื่นทุกอย่าง
เปลี่ยน SUV เป็น 'AUV'
สำหรับในฟิลลิปปินส์มีรถที่เรียกว่า AUV ซึ่งย่อมาจาก “Asian Utility Vehicle” เป็นกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถอเนกประสงค์ที่อยู่บนพื้นฐานรถกระบะ เช่น Toyota Tamaraw และ Mitsubishi Adventure
รถประเภทนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายผู้คนจำนวนมากได้ในทุกภูมิประเทศ แต่จุดประสงค์ของ Honda ในการทำ AUV ครั้งนี้คือต้องการงดเว้นภาษีสรรพสามิตบางส่วนจากรถประเภทนี้นั่นเอง
ราคาถูกลงแสนกว่าบาท
การงดเว้นภาษีของ AUV ทำให้ราคาของ CR-V ลดลงจากรุ่น 5 ที่นั่งปกติไปถึงประมาณ 240,000 เปโซฟิลิปปินส์ หรือราว 150,000 บาทเลยทีเดียว และดูเหมือนว่าชาวฟิลลิปปินส์จะชื่นชอบมาก
โดย AutoIndustriya รายงานว่า เมื่อ CR-V AUV เริ่มเข้ามาในปี 2002 ก็มียอดขายมากกว่ารุ่น 5 ที่นั่งถึง 4 เท่า ซึ่งในปี 2003 CR-V มียอดขายอยู่ที่ 9,664 คัน และมีประมาณ 100 คันเท่านั้นที่ไม่ใช่ AUV
ภาพจาก Autoindustriya
นั่ง 10 คนได้อย่างไร?
สำหรับวิธีที่ Honda จัดการให้สามารถยัดคน 10 คนเข้าไปได้นั้น มาตรฐานของ AUV กำหนดไว้ว่าจะต้องมีความยาวอย่างน้อย 60 ซม.ต่อผู้โดยสารหนึ่งคน และฮอนด้าระบุว่าว่าข้อกำหนดนี้ไม่ส่งปัญหามากนักแม้จะมีเบาะแถวหลังเพิ่มขึ้นมา
แต่สำหรับความกว้างนั้น มาตรฐานถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องมีความกว้างที่นั่ง 35 ซม. สำหรับทุกคน ทำให้เบาะแถวสองที่มีความยาว 140 ซม. หารออกมาเป็น 4 ได้พอดี ทำให้เบาะแถวนี้สามารถนั่งได้ 4 คน ตามข้อกำหนดเป๊ะ ๆ และแถวที่สามก็นั่งได้ 3 คนแบบพอดี ๆ เช่นกัน
ส่วนเบาะแถวหน้าก็เป็นวิธีอันชาญฉลาดของ Honda เช่นกัน เนื่องจากเดิมที่เป็นเบาะ 2 ที่นั่งซึ่งมีถาดวางของตรงกลางและสามารถพับเพื่อเดินผ่านได้ เบาะผู้โดยสารด้านหน้าถูกเปลี่ยนเป็นเบาะนั่งยาวซึ่งนั่งได้ 2 คน ซึ่งการปรับเปลี่ยนเช่นนี้กับ CR-V เจนสองไม่ได้ยากอะไร เนื่องจากคันเกียร์ของรถอยู่หลังพวงมาลัยอยู่แล้ว
สำหรับการจัดที่นั่งของ CR-V AUV ประกอบด้วย 3 คนที่เบาะแถวหน้า, 4 คนที่เบาะแถวกลาง และ 3 คนที่เบาะแถวหลัง โดยเบาะแถวสามสามารถพับเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระได้
นอกจากเรื่องของการบรรทุกผู้โดยสารแล้ว Honda ยังต้องเพิ่มการใช้วัสดุและการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อให้ CR-V เป็น AUV ได้ตามกฎหมาย ผลออกมาคือวัสดุโดยรวมมีคุณภาพลดลง รวมถึงเบาะแถวหลังไม่มีเข็มขัดนิรภัย (แม้ว่าจะใส่เพิ่มได้จากในรีวิวของ PhilStar เมื่อตอนที่รถเปิดตัว)
ขุมพลังเดียวทั้งอาเซียน
ขุมพลังของ CR-V AUV ยังใช้เครื่องยนต์ K20A4 ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 148 แรงม้า ตัวเดียวกันกับ CR-V เจนสองทุกรุ่นที่ขายในภูมิภาคอาเซียน และสำหรับเวอร์ชัน AUV 10 ที่นั่งจะมีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเท่านั้น
รัฐบาลรับรู้เรื่องนี้
แม้ว่า CR-V AUV จะทำให้การเข้าถึงเอสยูวีค่ายเอชของชาวฟิลลิปปินส์ทำได้ง่ายขึ้น แต่ตัวรถก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ AUV พื้นฐานกระบะรุ่นอื่น ๆ ทำได้ เพราะมีข้อมูลว่า เจ้าของ CR-V AUV หลายคนเปลี่ยนเบาะหน้าให้เป็น Captain Seat ทันทีที่ได้รถมา โดยซื้อเพราะราคาที่ถูกกว่าจากการงดเว้นภาษีเท่านั้น ซึ่งแนวทางของ Honda เป็นแรงบันดาลใจให้ค่ายอื่นทำตามอีกด้วย
แต่ต่อมาในปี 2004 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนมาเก็บภาษี AUV เหมือนกับรถยนต์นั่งปกติ ทำให้ในช่วงปีแรกหลังการเปลี่ยนนโยบาย ยอดขาย AUV ลดลงจากเดิมถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว โดยนโยบายดังกล่าวส่งผลต่อยอดการผลิตในประเทศอีกด้วย
ต่อมาเมื่อ Honda เปิดตัว CR-V เจน 3 ในปี 2006 ก็ไม่มีรุ่น 10 ที่นั่งอีกแล้ว
ประวัติศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์
สำหรับ Honda CR-V AUV ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญที่ Honda Philippines พยายามปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ขายในตลาดโลก ให้เข้ากับตลาดและข้อกำหนดในประเทศได้เป็นอย่างดี เป็นที่ซึ่งความต้องการค่ายรถยักษ์ใหญ่และความต้องการผู้คนในประเทศนั้น ๆ เข้ามาบรรจบกันได้พอดี