รายงานจาก AlixPartners บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ระบุว่า มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนเพียง 19 จาก 137 แบรนด์เท่านั้นที่จะยังคงกำไรอยู่ภายในสิ้นปี 2030 รายงานดังกล่าวถูกอ้างอิงโดย Bloomberg ระบุว่า บริษัทที่ไม่ทำกำไรเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะปิดตัวลงไป ควบรวมกิจการกัน หรือยอมเป็นแบรนด์รอง
หลายแบรนด์ปิดตัวลงแล้ว
หนึ่งในผู้ผลิตรถจากจีนที่ไม่ได้ไปต่อนั่นคือ WM Motor ซึ่งยื่นล้มละลายไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากต้องแบกรับหนี้สินและความขาดทุนที่เพิ่มขึ้น สงครามราคาที่เกิดขึ้นในจีนมากว่า 2 ปี ทำให้บริษัทรถ EV ทำกำไรได้น้อยลงมาก
WM Motor EX5
ถ้าผู้เล่นรายใหญ่ยังมีกำไร ก็ยังมีสงครามราคาอยู่
ผู้ผลิตรถ EV หลายรายประสบปัญหานี้ แต่ด้วยความเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น BYD และ Tesla จึงทำให้ยังสามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมนี้ได้
“ตราบใดที่ผู้เล่นใหญ่อย่าง BYD ยังคงมีกำไรอยู่ ก็ยังคงมีพื้นที่สำหรับสงครามราคา” Stephen Dyer กรรมการผู้จัดการของ AlixPartners ที่อยู่ในเซี่ยงไฮ้กล่าว
ในปีที่ผ่านมา ราคาจำหน่ายรถยนต์เฉลี่ยในจีนลดลงไปถึง 13.4% แม้ว่าอัตรากำไรเฉลี่ยของผู้ผลิตรถยนต์นั้นสูงขึ้น 7.8% ใน 2023 จาก 6.3% ในปี 2022 โดยมีแรงผลักดันจากมาตรการลดต้นทุนของซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเร่งเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด
ส่วนแบ่งการตลาดรถจีนในยุโรปจะลดลงเพราะนโยบายใหม่
ภายในสิ้นทศวรรษนี้ คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์จากจีนจะครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกที่ 33% และ 45% สำหรับยอดขายรถพลังงานใหม่ (NEV) อย่างไรก็ตาม AlixPartners มองว่า ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตรถจีนในยุโรปจะลดลงจาก 15% ไปยัง 12% เนื่องด้วยการกำหนดอัตราภาษีชั่วคราวใหม่จากสหภาพยุโรป
วัฒนธรรมองค์กรส่งผลให้ขายรถได้เยอะ?
มีการค้นพบบางอย่างที่น่าสนใจในรายงาน นั่นคือ พนักงานที่อยู่ในผู้ผลิตรถจากจีนส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลาถึง 140 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งมากกว่าเวลาทำงานล่วงเวลาสูงสุด 20 ชั่วโมงต่อเดือน ของผู้ผลิตรถยนต์ทั่วไปถึง 7 เท่า
ผลผลิตที่เกิดจากการทำงานหนักนี้ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนสามารถส่งมอบรถยนต์ได้มาก ขณะเดียวกันยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการลงทุนพัฒนาแบตเตอรี่และเทคโนโลยีวัสดุในระดับประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเออร์ มีการแยกพัฒนากันระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ รวมถึงการสร้างแบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่แยกอิสระจากกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล