ปัจจุบัน ซอฟท์แวร์แก้ไขภาพถือว่ามีการเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต โดยหลายโปรแกรมมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาช่วยแล้ว ทำให้การแก้ไขภาพต่าง ๆ ทำได้ “เนียน” และสามารถทำได้ “ง่ายดาย” ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ภาพจาก The Guardian
แต่งรูปเพื่อหลอกเคลมประกัน
มีรายงานจาก
The Guardian ระบุถึง
“กระแส” ว่ามีมิจฉาชีพที่ใช้ซอฟท์แวร์แก้ไขภาพในคดีฉ้อโกงมากขึ้น ในรายงานนี้ระบุถึงคดีหนึ่งว่า
“LV=” บริษัทประกัน ได้รับภาพรถตู้ที่ถูกแก้ไขเพื่อให้เข้าใจว่ารถถูกชนที่ด้านหน้า พร้อมกับใบเสร็จปลอม โดยอ้างว่ารถคันดังกล่าวต้องใช้เงินมากกว่า
1,000 ปอนด์ (กว่า 46,000 บาท) ในการซ่อมครั้งนี้
เมื่อมีการตรวจสอบปัญหานี้ ทีมตรวจสอบของบริษัทค้นพบว่ารูปถ่ายนั้นไม่ใช่ของจริง เพราะพวกเขาได้เจอรูปที่แท้จริงในโซเชียลมีเดีย หาก LV= ไม่ได้ตรวจสอบรูปให้ดี มิจฉาชีพอาจได้รับเงินประกันโดยที่ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
กลโกงครั้งใหญ่สำหรับบริษัทประกัน?
สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงที่เดียว โดย
Clearspeed.com ระบุถึงรายงานของ
Allianz ที่เผยถึง
“คดีที่ใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อบิดเบือนภาพ วิดีโอ และเอกสารในชีวิตจริงนั้นเพิ่มขึ้นถึง 300% จากปี 2022 ถึง 2023” บริษัทยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการรูปภาพให้เข้าใจผิดมี
“สัญญาณของการกลายเป็นกลโกงครั้งใหญ่ล่าสุดที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมประกันภัย”
หากต้องจัดการเรื่องอย่างตรงไปตรงมา อาจทำให้บริษัทประกันภัยอาจต้องการหลักฐานเพิ่มเติมหรือสามารถเข้าถึงยานพาหนะที่คาดว่าจะเสียหายได้ ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าไม่พอใจหรือกระทั่งบริษัทประกันเองทำงานได้ยากขึ้น
เบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่เกี่ยวกับมิจฉาชีพ
แม้มิจฉาชีพที่หวังจะหลอกลวงจะมีอยู่ทั่วไป แต่ก็มีการเพิ่มเบี้ยประกันรถยนต์ในหลายประเทศ เช่นในสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน เบี้ยประกันมีการเพิ่มขึ้นถึง 22.2% ถือเป็นการเพิ่มเบี้ยประกันครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว โดยปัจจัยที่ทำให้เพิ่มขึ้นนั้นไม่เกี่ยวกับมิจฉาชีพ แต่เป็นเรื่องของความซับซ้อนของรถที่มากขึ้น, ประเด็นเรื่องซัพพลายเชน ไปจนถึงชิ้นส่วนที่ขาดแคลน