มร. โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เข้าเป็นตัวแทนใน พิธีลงนามข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต, นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต, นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยาน ในวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565 ณ อาคารหอประชุม กรมสรรพสามิต
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เข้าร่วม พิธีลงนามข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อเข้าร่วมมาตรการการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตามแนวทางของ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยภายใต้การลงนามฯ นี้ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนพร้อมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการจำหน่ายรถยนต์ BEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ
โดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้นำรถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) มาขอรับสิทธิตามมาตรการฯ จำนวน 1 รุ่น คือ Toyota bZ4X และจะนำเสนอรถยนต์รุ่นดังกล่าวออกสู่ตลาดภายใต้ราคาขายปลีกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุนแล้วเป็นลำดับต่อไป เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในด้านราคาจำหน่ายที่ลดลง กระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น สอดคล้องกับพันธกิจใหม่ขององค์กร ในการนำเสนอ การขับเคลื่อนที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ทั้งนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของโตโยต้า ในการ เป็นผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม ได้กำหนดหนึ่งในพันธกิจหลักขององค์กร คือ การนำพาประเทศมุ่งสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality โดยหนึ่งในกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการแนะนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เป็นที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งโตโยต้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายระบบส่งกำลัง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของลูกค้าได้ทุกรูปแบบ รวมถึงมีการริเริ่มโครงการความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อศึกษารูปแบบการใช้งาน การยกระดับทักษะแรงงานเพื่อรองรับยานยนต์ยุคหน้า ระบบพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่อง เหมาะสมกับบริบทการใช้งานของประเทศไทย อาทิ โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ ร่วมกับเมืองพัทยา เป็นต้น เพิ่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร้รอยต่อ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคของโตโยต้าต่อไป