เช็คราคา ร่วมทดสอบเทคโนโลยี TNGA หมัดเด็ดใน Toyota C-HR ใหม่
โตโยต้า เผยแนวคิดใหม่ TNGA - Toyota New Global Architecture สร้างรถยนต์จากสถาปัตยกรรม เพื่อรถที่ดีที่สุดจากแนวคิด ไคเซ็น และ ความลงตัว
ฟังดูแล้วอาจไม่เข้าใจแต่เมื่อรับทราบข้อมูลแล้ว ทำให้รถยนต์ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ น่าใช้มากขึ้นอีกหลายเท่าจากที่คิดว่า "ก็แค่รถครอสโอเวอร์รุ่นใหม่คันหนึ่ง" เจ้าเทคโนโลยี TNGA ที่ว่านี้คือ การรวมทุกอย่างในอุสาหกรรมรถยนต์ของโตโยต้าทั้งหมดตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ การผลิต การกำจัดมลพิษของโปรดักส์หรือรถยนต์โตโยต้าไปจนถึงโรงงานผลิต ในทุกขั้นตอนให้ลดการปล่อยมลพิษให้น้อยที่สุดและตั้งเป้า ZERO Emission เป็น "0" ในปี 2050 และยังตั้งเป้าหมายในส่วนของโปรดักส์หรือรถยนต์รุ่นที่ใส่ TNGA นี้ให้มีอายุการใช้งานที่ทนทานไม่น้อยกว่า 10 ปีอีกด้วย
โดยมีแนวทางการพัฒนายึดหลักความต้องการของลูกค้าจากการสำรวจทั่วโลกว่าต้องการใช้งานรถยนต์ลักษณะใดบ้าง และผลออกมาและกลายเป็นแนวทางผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ นั่นคือ
- Speed and Agility - ความเร็ว และ คล่องตัว นั่นคือ รถต้องตอบสนองทันใจด้วยเครื่องยนต์ที่แรง พร้อมให้ความคล่องตัวเทียบเท่ารถขนาดเล็ก
- Sharp Moves - สามารถเข้าโค้งได้ทันที ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น เจอทางโค้งที่ไม่คุ้นเคย รถต้องสามารถเข้าโค้งและเกาะถนนได้ดี ในความเร็วที่เหมาะสม เท่ากับว่าขับได้มั่นใจและสนุกขึ้น
- World Class Performance - สมรรถนะระดับโลก รถยนต์คันนี้ต้องมีพละกำลัง การควบคุมการทรงตัว ที่ทั่วโลกยอมรับ
หลังจากนั้นจึงออกแบบและผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ภายใต้ TNGA ขึ้น โดยหนึ่งในรุ่นที่มีเทคโนโลยีนี้ก็คือ Toyota C-HR ใหม่ ที่จะได้ขับทดสอบในสนามจำลองการขับขี่ ณ สนามทดสอบ Toyota Driving Experience Park บางนา กม.3
สำหรับ TNGA ที่อยู่ใน C-HR ใหม่นี้ ประกอบด้วยการออกแบบให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลงมากที่สุด ในขณะที่มีระยะห่างพื้นถึงใต้ท้องที่เพียงพอ ลดระยะฐานล้อให้สั้นลงเพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น คิดค้นการใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าในชุดเกียร์สำหรับรุ่นไฮบริดใหม่ให้ลดจำนวนชิ้นส่วนลง โดยระบบเกียร์ใหม่ของระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 นี้คือ ไม่มีสายพานโซ่อีกต่อไป ใช้ระบบเฟืองขับแทน ซึ่งจะช่วยให้การออกตัวได้ดีและทนทานกว่า 10 ปี พร้อมกับย้ายชุดมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนให้มาอยู่แนวเดียวกับมอเตอร์สตาร์ทหรือเจนเนอเรเตอร์ ลดพื้นที่และน้ำหนักลงได้อีกมากมาย พร้อมกับแบตเตอรี่น้ำหนักเบาที่ถูกติดตั้งในจุดต่ำลงนั่นคือใต้เบาะผู้โดยสารตอนหลัง
โครงสร้างตัวถังออกแบบให้ลดการใช้จุดเชื่อมต่อ แต่เพิ่มความแข็งแรงด้วยโครงสร้างแบบ Circular structure (แบบห่วงยาง) แข็งแรงและน้ำหนักเบาลง พร้อมเสริมเหล็กในจุดต่างๆ เพื่อลดการบิดตัวของโครงสร้างและช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นไปอีก
ปรับระบบช่วงล่างด้านหลังแบบ Double Wishbone แต่ถูกออกแบบให้ลดจุดยึดต่างๆ ให้น้อยลง เพิ่มความยาวปีกนกมากขึ้น ส่งผลให้ระยะยืด-หดตัวของโช้คและผิวสัมผัสของหน้ายางกับถนนเป็นแนวตรงมากขึ้น และทีสำคัญให้ความทนทานกว่า 10 ปี
ในส่วนห้องโดยสารด้านคนขับก็ออกแบบให้มีวิสัยทัศน์ที่ดีเห็นได้ทุกมุมมอง เริ่มตั้งแต่ลดขนาดของเสากระจกบังลมหน้าให้เล็กลง เพิ่มช่องกระจกหูช้าง ตำแหน่งที่นั่งขับสะดวกในการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ ภายในรถมากที่สุด
การทดสอบขับ TNGA ใน Toyota C-HR
การขับทดสอบครั้งนี้เป็นระยะทางสั้นๆ ภายในสนามทดสอบ แต่กลับได้รับรู้ถึงเทคโนโลยี การขับขี่ที่หลากหลายทั้ง อัตราเร่ง การใช้งานของพวงมาลัยในการหักเลี้ยวระยะแคบเพื่อทดสอบความคล่องตัว การเบรกแบบเต้มแรง การเข้าโค้งยาวๆ ที่ความเร็ว 40 - 50 กม./ชม. เพื่อให้ระบบควบคุมการทรงตัวได้ทำงาน
นอกจากนี้ยังได้ขับผ่านจุดสลาลอมเพื่อทดสอบความว่องไวและการตอบสนองของพวงมาลัย และสุดท้ายคือ การขับผ่านพื้นผิวถนนที่มีสภาพ "พัง" โดยการจำลองจากถนนจริงในประเทศไทย ทั้งถนนที่เป็นปูนแตก ยางมะตอย คอสะพานสูงๆ ฝาท่อ เป็นต้น เพื่อจับอาการในเรื่องความนุ่มนวลและเสียงของช่วงล่างจากรถยนต์รุ่นที่ใส่เทคโนโลยี TNGA เข้าไปอย่างเจ้า C-HR รุ่นนี้
ทีมงานเช็คราคาได้มีโอกาสเข้าร่วมขับในครั้งนี้ด้วย ด้วยรถยนต์ Toyota C-HR รุ่นเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ทั้ง 2 รุ่นย่อยคือ Toyota C-HR 1.8 Mid 1,039,000 บาท Toyota C-HR 1.8 Entry 979,000 บาท
ผลจากการขับทดสอบในรูปแบบที่จัดเส้นทางวิ่งจำลองการใช้งานได้ครบทุกการรูปแบบ C-HR นับว่าให้ความคล่องตัว ขับง่าย ควบคุมได้ดั่งใจ พวงมาลัยตอบสองได้เฉียบคม น้ำหนักเบา ไม่เครียดเมื่อขับผ่านโค้งหรือการสลาลอม
ระบบช่วงล่างและเบรกนับเป็นจุดเด่นที่ทำให้ขับผ่านทุกรูปแบบไปได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องมีทักษะใดๆ ที่ต้องใช้แก้อาการรถเมื่อเกิดเสียการควบคุม เพราะว่าการออกแบบช่วงล่าง ระบบความปลอดภัยต่างช่วยให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น
เมื่อขับผ่านผิวถนนที่ขรุขระ ให้ความนุ่มนวลได้ดี แต่เมื่อขับผ่านพื้นผิวถนนที่เป็นผิวแตกเป็นกรวดชิ้นเล็กๆ ยังพอได้ยินเสียงช่วงล่างถูกกระเทือนอยู่บ้าง แต่อาการยวบของโช้คอัพไม่เด้งมากนัก และไม่สะเทือนถึงพวงมาลัย
สรุปสั้นๆ กับการทดลองขับแบบสั้นว่า C-HR ใหม่ ขับง่าย พวงมาลัยเบา คล่องตัว เข้าโค้งได้ดี ช่วงล่างนุ่มและให้ความเกาะในระดับน่าพอใจ อัตราเร่งสำหรับรุ่น 1.8 คันที่ขับทดสอบนั้น ออกตัวยังมีอาการรอรอบ แต่เมื่อลอยลำไปแล้วแรงใช้ได้ และสุดท้ายคือ เสียดายความแคบภายในห้องโดยสารเมื่อเทียบกับรูปทรงตัวรถ (ขนาดในห้องโดยสารใกล้เคียงกับวีออสหรือยารีส) เนื่องจากการลดระยะฐานล้อเพื่อให้ได้สมรรถนะการขับขี่ที่สนุกและทรงตัวดีขึ้น
Toyota Environmental Challenge 2050 โตโยต้ามุ่งมั่น สร้างสิ่งท้าทาย
- New Vehicle Zero CO2 Emissions Challenge - ผลิตรถยนต์ให้มีค่ามลพิษเป็น 0 ในปี 2050
- Life Cycle Zero CO2 - ชิ้นส่วนผลิตต้องน้อยที่สุด
- Plant Zero CO2 -ลดมลพิษจากโรงงานผลิต
- Challenge of Minimizing and Optimizing Water Usage - น้ำต้องสะอากหลังปล่อยสู่สาธารณะ
- Challenge if Establishing a Recycling-based Society snd Systems - กำจัดซากรถเก่ารีไซเคิลสร้างรถใหม่
- Challenge of Establishing a Future Society in Harmony with Nature - สร้างชถุมชมให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและพัฒนาส่งเสริมชุมชน