จีเอ็มใช้เทคโนโลยีขั้นสูงออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อก้าวสู่ยุคแห่งยานยนต์น้ำหนักเบา
เจนเนอรัล มอเตอร์ส ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และเป็นผู้ผลิตยานยนต์แบรนด์เชฟโรเลตได้นำเทคโนโลยีการออกแบบขั้นสูงด้วยซอฟต์แวร์ใหม่ มาใช้ในการออกแบบยานยนต์รุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบา โดยเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนารถยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีน้ำหนักเบาขึ้น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
จีเอ็ม เป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์รายแรกของโลกที่นำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ใหม่จากบริษัท ออโตเดสก์ ซึ่งเป็นบริษัทรับออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์จากเบย์ แอเรีย ซานฟรานซสโก โดยเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าวใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และอัลกอริทึมในปัญญาประดิษฐ์ (AI)* ซึ่งสามารถจัดเรียงและสับเปลี่ยนแบบชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้ตัวเลือกแบบที่มีประสิทธิภาพสูง และมักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบออแกนิค แบบที่ได้จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและการตั้งค่าของพารามิเตอร์ของผู้ใช้ โดยผู้ใช้จะต้องป้อนข้อมูลต่างๆ เช่น น้ำหนัก ความทนทาน ประเภทวัสดุ วิธีการผลิต และอื่นๆ จากนั้นผู้ใช้จะสามารถเลือกชิ้นส่วนที่เหมาะสมดีที่สุดเพื่อพิมพ์สามมิติ
*ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่มีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลักมีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ
มร.เคน เคลเซอร์ รองประธานกรรมการ ฝ่าย Global Vehicle Components and Subsystems บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) กล่าว "เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ทำให้เราสามารถออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคตของเราให้มีน้ำหนักเบาลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเรานำเทคโนโลยีการออกแบบมารวมกับความก้าวหน้าในการผลิต เช่น การพิมพ์สามมิติ ขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนายานยนต์ของเราจึงเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เราสามารถสร้างชิ้นงานโดยการออกแบบร่วมกับคอมพิวเตอร์ในแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้"
จีเอ็มนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต วิศวกรจีเอ็มและออโตเดสก์ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ในการผลิตชิ้นส่วนของโครงสร้างเบาะที่นั่ง ซึ่งมีน้ำหนักเบาลง 40% และแข็งแรงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับชิ้นส่วนเดิม นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังรวบรวมส่วนประกอบที่แตกต่างกัน 8 ส่วน แล้วพิมพ์ออกมาเป็นชิ้นส่วนแบบสามมิติ 1 แบบอีกด้วย
จีเอ็มและออโตเดสก์เป็นพันธมิตรทางนวัตกรรมร่วมกันมาหลายปี ทั้งจีเอ็มและออโตเดสก์จึงเตรียมทำโครงการร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิดการนำ AI มาใช้ออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรม (Generative Design) กระบวนการผลิตแบบ Additive Manufacturing ซึ่งคือการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการเติมเนื้อวัสดุเข้าไป และหลักการวัสดุศาสตร์ โดยผู้บริหารและวิศวกรจากทั้งสองบริษัทจะร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภูมิปัญญา และความชำนาญ นอกจากนี้ จีเอ็มยังสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ของออโตเดสก์ได้อย่างเต็มรูปแบบและสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของออโตเดสก์ได้
มร. สก็อตต์ รีส รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการผลิตและการก่อสร้าง จากบริษัท ออโตเดสก์ กล่าว "แนวคิดการนำ AI มาช่วยใช้ออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรมนับว่าเป็นอนาคตของวงการการผลิต และจีเอ็มถือเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในลดน้ำหนักรถยนต์ในอนาคตของจีเอ็ม การนำ AI มาใช้ในการออกแบบเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานทางวิศวกรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเราต้องคำนึงถึงขั้นตอนทางการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบ และด้วยเทคโนโลยีนี้ วิศวกรจีเอ็มจะสามารถตรวจสอบตัวเลือกในการออกแบบที่พร้อมผลิตและมีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยแบบ ได้เร็วกว่าการตรวจสอบการออกแบบทีละแบบตามวิถีเดิม"
จีเอ็ม คือผู้ริเริ่มการใช้กระบวนการผลิตแบบ Additive Manufacturing นับเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่จีเอ็มใช้การพิมพ์แบบสามมิติในการสร้างชิ้นส่วนโดยตรง จากข้อมูลดิจิตัลได้สำเร็จด้วยการเพิ่มชั้นของวัสดุ จีเอ็มเป็นที่แรกที่มีเครื่องพิมพ์สามมิติ ปัจจุบันมีเครื่องพิมพ์สามมิติที่ครอบคลุมมากกว่า 50 เครื่อง และสามารถสร้างชิ้นงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติได้มากกว่า 250,000 ชิ้น ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา