บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นผู้ผลิตรถยนต์สปอร์ตลักชัวรีสายพันธุ์แรงระดับแถวหน้าของโลก พร้อมฉลองครบรอบ 55 ปีเมอร์เซเดส-เอเอ็มจี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย กับการยกทัพรถยนต์สายพันธุ์แรงตระกูลนี้แบบมากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา นำโดย
Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC, Mercedes-AMG C 43 4MATIC Coupe, Mercedes-AMG GLC 43 4MATIC Coupe, Mercedes-AMG GLE 53 4MATIC+, Mercedes-AMG CLS 53 4MATIC+ ฯลฯ เพื่อให้ได้ทดสอบขุมพลังกันอย่างเต็มที่
พร้อมพาลูกค้าและสื่อมวลชนก้าวข้ามขีดความสามารถของตนเองขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเรียนรู้เทคนิคการขับขี่แบบเต็มสมรรถนะ โดยมีทีมผู้ฝึกสอนมืออาชีพระดับโลกร่วมให้คำแนะนำในการฝึกทักษะการขับขี่ปลอดภัยขั้นสูงอย่างใกล้ชิด เปิดรับประสบการณ์แห่งสมรรถนะกับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ เมอร์เซเดส-เอเอ็มจีได้อย่างเต็มพิกัด ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเร็วๆ นี้
มร. โรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “วาระครบรอบ 55 ปีของ Mercedes-AMG นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของรถยนต์สายพันธุ์แรงจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแฟนพันธุ์แท้ของรถยนต์ตระกูลเอเอมจีในประเทศไทย เราจึงจัดการทดสอบสมรรถนะรถยนต์อย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้ พร้อมกับมีทีมผู้ฝึกสอนมืออาชีพระดับโลกจากเมอร์เซเดส-เบนซ์มาคอยให้คำแนะนำกับลูกค้าและสื่อมวลชนที่ได้เข้ามาร่วมทริปที่จังหวัดบุรีรัมย์ในครั้งนี้กับเรา โดยทุกท่านจะได้สัมผัสถึงสมรรถนะของรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ เมอร์เซเดส-เอเอ็มจีอย่างถึงแก่น ภายใต้การดูแลของมืออาชีพและความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งเรามุ่งหวังว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนจะได้สนุกและเก็บเกี่ยวความเร้าใจไปด้วยกันตลอดทริปนี้”
สำหรับไฮไลต์พิเศษของกิจกรรม Mercedes-Benz Driving Events 2022 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิตในครั้งนี้ก็คือ การที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้มาร่วมกระตุ้นอะดรีนาลีนให้สูบฉีดเหมือนกำลังแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ตในสนามจริง จากการได้สัมผัสและทดสอบรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ เมอร์เซเดส-เอเอ็มจีครบทั้งตระกูลเป็นครั้งแรกอย่างใกล้ชิด
“Mercedes-Benz Driving Events 2022” แบ่งผู้เข้ารับการอบรมออกเป็นกลุ่มเพื่อเข้าร่วมทั้งหมด 4 สถานีสลับหมุนเวียนกันอย่างทั่วถึง พร้อมแบบฝึกหัดสุดท้าทายในการขับขี่แบบเต็มสนาม โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับประสบการณ์จริงจากการฝึกทักษะแต่ละด้าน โดยมีผู้ฝึกสอนมืออาชีพ 2 ท่าน ได้แก่ “ปีเตอร์ แฮคเก็ตต์” นักขับผู้สร้างประวัติศาสตร์ในการคว้าแชมป์ในรายการ Australia Formula 4000 และ Formula 3 Championship ได้เป็นคนแรก และ “มิคโค เพ็ตเทอรี นาสซี” ผู้เป็นทั้งนักขับรถแข่งและโค้ชอาชีพที่ทำงานกับนักขับในทุกระดับ มาร่วมให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากสมรรถนะอันยอดเยี่ยม เทคโนโลยี และนวัตกรรมอันก้าวล้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของแนวคิดในการผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ รถยนต์เมอร์เซเดส-เอเอ็มจีทุกรุ่น หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกทุกฐานแล้ว ผู้ขับขี่จะมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากสมรรถนะ และเทคโนโลยีอันทันสมัยที่มาพร้อมกับตัวรถได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านที่ผ่านการฝึกอบรมฯ จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากทางบริษัทฯ อีกด้วย
สถานีทดสอบต่างๆ
สถานีที่ 1 “Emergency Brake and Avoid” เป็นการทดสอบระบบเบรก ระบบความปลอดภัยภายในรถยนต์ อันได้แก่ระบบ ESP® และระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) และเป็นการ
ทดสอบความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของตัวผู้ขับขี่เอง โดยผู้เข้าร่วมทดสอบจะได้ขับรถออกจากจุดเริ่มต้นด้วยความเร็วประมาณ 80-120 กม./ชม. และเมื่อได้รับสัญญาณจากผู้ฝึกสอน ผู้เข้าร่วมทดสอบจะต้องเหยียบเบรก และหักเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวาง รถยนต์ที่ใช้ในสถานีนี้ ได้แก่
รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น C 220 d AMG Dynamic, C 200 d Avantgarde, E 200 Coupe AMG Dynamic, S 350 d Exclusive และ S 580 e AMG Premium ข้อดีคือ คุณจะได้รับความรู้สึกการเบรกแบบฉุกเฉินจริงๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปชนกับรถคันหน้า เพราะมีแต่กรวย ! ทำให้เข้าใจตัวเองในภาวะตอนเบรกได้ดีขึ้น สถานีที่ 2 “Drag Race” เป็นการทดสอบอัตราเร่งของรถยนต์กลุ่มสมรรถนะสูง Mercedes-AMG พร้อมทั้งทดสอบปฏิกิริยาตอบรับของผู้ขับขี่และได้ทดสอบระยะเบรก รถยนต์ที่ใช้ในสถานีนี้ ได้แก่ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC ที่น่าทึ่งและตื่นเต้นมากในสถานีก็คือได้ลองออกตัวแบบ Race Start ฟังก์ชันเด็ดที่มีเฉพาะรุ่นเท่านั้น สัมผัสได้ถึงการออกตัวที่ยอดเยี่ยม และการเปลี่ยนเกียร์อย่างชาญฉลาดและฉับไว
สถานีที่ 3 “Gymkhana” เป็นสถานีที่จำลองมาจากกีฬามอเตอร์สปอร์ตชนิดหนึ่ง โดยสถานีนี้จะให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบได้ฝึกบังคับรถยนต์ในสนามจำลองเล็ก ๆ ที่มีอุปสรรคมากมายภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุด โดยไม่ชนสิ่งกีดขวางใด ๆ เลย รถยนต์ที่ใช้ในสถานีนี้ ได้แก่ รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น A 200 AMG Dynamic, A 200 Progressive, GLA 200 AMG Dynamic, GLA 200 Progressive และ C 200 Coupe AMG Dynamic ครั้งนี้ทางผู้ฝึกสอนได้วางเลย์เอ้าสนามจิมคาน่าให้ขับได้ง่าย เพื่อให้ทุกระดับฝีมือได้มีโอกาสแสดงทักษะการควบคุมรถในพื้นที่แคบ การประสานกันหว่างสายตา มือ และเท้า ที่ต้องสอดคล้องและให้ได้จังหวะที่สมูธเพื่อส่งรถผ่านกรวยไปได้อย่างรวดเร็วและกินเวลาน้อยที่สุด
สถานีที่ 4 “Corner Theory” เป็นสถานีทดสอบการเข้าโค้ง ที่จะใช้พื้นที่โค้งภายในสนามทั้งหมด 5 โค้งด้วยกัน ซึ่งแต่ละโค้งจะมีความกว้างแตกต่างกันไป ทำให้ผู้ขับขี่ได้ทดสอบการควบคุมความเร็วของรถยนต์ได้อย่างเต็มที่ โดยในแต่ละโค้งจะมีสิ่งกีดขวางที่วางไว้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ให้กับผู้เข้าร่วมการทดสอบได้ทราบถึงสิ่งที่ควรทำเมื่อเข้าโค้งนั้น ๆ เช่น จุดที่ต้องเบรก จุดที่ต้องหักเลี้ยว หรือจุดเอเป็กซึ่งเป็นจุดที่สามารถเดินคันเร่งส่งรถออกไปจากโค้งได้ปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด เป็นต้น รถยนต์ที่ใช้ในสถานีนี้ ได้แก่ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC, Mercedes-AMG C 43 4MATIC Coupe, Mercedes-AMG CLS 53 4MATIC+, Mercedes-AMG GLE 53 4MATIC+ และ Mercedes-AMG GLC 43 4MATIC Coupe ข้อดีคือ การได้เทียบอาการรถตอนเข้าโค้งระหว่าง ซีดานกับเอสยูวี ทั้งยังได้สัมผัสถึงลิมิตการเข้าโค้ง ที่ต้องใช้ความเร็วและเบรกอย่างเหมาะสม การเดินคันเร่งในโค้งเพื่อส่งต่อออกไปอย่างสมูธ
สำหรับ “Mercedes-Benz Driving Events 2022” เป็นกิจกรรมดีๆ ที่ให้ประโยชน์กับเจ้าของรถเมอร์ซิเดส-เบนซ์จริงๆ นับเป็นโอกาสที่หาได้ยากกับการได้มาลองขับรถหลากหลายรุ่นโดยเฉพาะ AMG แบบท้าทายสุดๆ เพราะช่วงสุดท้ายทุกคนยังได้ขับแบบเต็มรอบสนามแข่งเสมือนได้แข่งรถ โดยขับตามผู้ฝึกสอนที่พร้อมนำตามความเร็วที่เราไปได้จริง นับเป็นประสบการณ์ขับแบบเรซซิ่งในแทร็คสนามแข่งระดับโลกอย่าง ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และสิ่งที่ได้กลับไปคือ ประสบการณ์การขับจริงที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่เราไม่อยากเจอบนถนน แต่การได้มาขับ ทำซ้ำ พร้อมได้คำแนะนำจากผู้ฝึกสอนระดับโลกแบบนี้ ทำให้เราสามารถเอาความรู้และทักษะที่ได้ติดตัวออกไปเพื่อขับรถบนถนนได้อย่างมีสติ ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการขับในแทร็คสนามแข่งระดับโลก มีส่วนเอื้อให้การควบคุมรถ เลี้ยว และเบรกดีกว่าบนถนนทั่วไปที่มีอุปสรรคเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย พื้นผิวถนนจริงเทียบไม่ได้กับแทร็คสนามแข่ง ดังนั้นจุดเบรก ระยะต่างๆ ไม่สามารถเอาไปใช้อ้างอิงกับถนนจริงได้มากนัก