การซื้อขายรถทั้งรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์มีกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่การตกลงราคาที่พอใจทั้งสองฝ่าย และทำการซื้อ-ขายกัน โดยจะต้องมีเอกสารสำคัญมากมาย เช่นเอกสารแบบคำขอโอนและรับโอน เล่มทะเบียนรถยนต์ เอกสารการโอนรถ เป็นต้น แบ่งได้เป็นหลายกรณีทั้งโอนแบบมีการซื้อขาย พ่อแม่พี่น้องโอนให้กัน หรือรับมรดก ฯลฯ แต่ก็ล้วนเป็นการโอนจากคนซื้อกับคนขายโดยตรง
แล้วโอนแบบไหนที่ต้องระวัง!
โดยทั่วไปการซื้อ-ขายรถส่วนใหญ่แล้วก็จะซื้อขายกับนายหน้า เต้นท์หรือศูนย์จำหน่ายรถมือสอง ซึ่งหากเป็นศูนย์จำหน่ายใหญ่ได้มาตรฐานก็มักจะให้ทำสัญญาเรียบร้อยนั่นคือ การโอนที่สมบูรณ์มีชื่อผู้ครอบครองหรือผู้เป็นกรรมสิทธิ์ระบุในเล่นทะเบียนชัดเจนถือว่าการซื้อขายเรียบร้อยสบบูรณ์
การโอนลอยคืออะไร?
ในบางกรณีเช่นการขายต่อให้กับเต้นท์หรือนายหน้า (บางแห่ง) อาจจะต้องการให้ผู้ซื้อรีบทำการโอนลอยเอาไว้ก่อน และทางผู้ซื้อหรือเต้นท์นั้นก็จะนำไปโอนชื่อตนเองที่ขนส่งฯ ใส่ในเล่มทะเบียนที่หลัง ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเสียเวลาไปทำการโอนที่กรมการขนส่งทางบกที่จะต้องรอเรียกตามคิวนำรถเข้าตรวจสภาพก่อนยื่นเอกสารที่ส่วนงานทะเบียน "จ่ายจบรับเงินกลับบ้าน" ได้ทันที แต่........!!!
การโอนลอยคือ ผู้ขายเซ็นต์เอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านของผู้โอน ผู้รับโอน แบบคำขอโอนและรับโอน หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ นั่นหมายความว่า "ชื่อเจ้าของรถเดิม (คือผู้ขาย) ยังอยู่ในเล่มทะเบียนจนกว่าจะถูกเปลี่ยนชื่อเจ้าของคนใหม่
ดังนั้นการโอนลอยรถนั้นยังถือว่ามีผลการซื้อขายไม่สมบูรณ์หากยังไม่ได้ไปดำเนินการที่กรมขนส่งฯ ให้ครบถ้วน สรุปคือ หากเกิดเหตุการณ์ใดใดกับรถคันที่ขายไปแบบโอนลอยภายหลังอย่างเช่น การนำรถไปใช้ลักษณะผิดกฏหมาย หรืออุบัติเหตุ แม้จะมีสัญญาซื้อขายก็ตาม ถ้าชื่อในเล่มทะเบียนยังเป็นเจ้าของเดิมก็อาจต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์นั้นไปด้วย ซึ่งกว่าจะเคลียร์จบก็เล่นเอาเหนื่อยและเสียเวลามากมายเลยครับ
แล้วการโอนต้องเตรียมอะไรบ้าง?
- แบบคำขอโอนและรับโอน ซึ่งกรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว
- เล่มทะเบียนรถยนต์
- เอกสารการโอนรถ
- สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้โอน และผู้รับโอน
- กรณีเจ้าของรถยนต์เดิมเสียชีวิตให้นำใบมรณะบัตรของเจ้าของรถยนต์มาด้วย
- ต้องนำรถยนต์ไปยื่นเรื่องติดต่อที่กรมขนส่งทางบก
- ผู้โอนและผู้รับโอนรถยนต์จะต้องบอกกับนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับจากวันที่โอนรถยนต์กันจริง
- ต้องนำรถยนต์เข้าตรวจสอบสภาพ ก่อนยื่นเอกสารที่ส่วนงานทะเบียน
- หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ ในกรณีโอนลอย
- หลังจากนั้นรอใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อยทุกขั้นตอน
ค่าธรรมเนียม
- ค่าอากรแสตมป์ ขึ้นกับราคาประเมินสภาพรถ
- ค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท
- ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 200 บาท (กรณีหากต้องการเปลี่ยน)
- กรณีเล่มทะเบียนชำรุดเสียค่าเปลี่ยน 100 บาท
- ค่าคำขอ 5 บาท
กรณีโอนให้กันเอง (พ่อ-แม่-ลูก-ญาติโอนให้กัน)
- เอกสารได้แก่ หนังสือยกให้, สำเนาคู่มือรถตัวจริง, บัตรประชาชนตัวจริง (กรณีมาทั้งสองฝ่าย) แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาก็มอบอำนาจมาได้ โดยถ่ายสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย
- นำรถคันที่จะโอนมาตรวจสภาพเพื่อโอนที่ สนง.ขนส่งด้วย
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความผิดพลาดได้ที่ ฝ่ายทะเบียนรถ โทร. 043777392, 043777609 ต่อ 14
ผ่อนไฟแนนซ์หมดแล้วทำอย่างไรต่อ?
เอกสารที่ต้องยื่นทางไฟแนนซ์รถเมื่อผ่อนชำระสินเชื่อรถยนต์หมดแล้ว
1. ใบคำขอโอนรถยนต์ (เซ็นต์ในช่องผู้รับโอน โดยลายเซ็นต์หรือลายมือชื่อให้ตรงกับที่เซ็นต์ในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์)
2. สำเนาบัตรประชาชน รับรองสำเนาถูกต้อง ลายเซ็นต์เหมือนสัญญาเช่าซื้อ (ระบุใช้โอนรถยนต์ ทะเบียน………….)
3. สำเนาทะเบียนบ้าน รับรองสำเนาถูกต้อง ลายเซ็นต์เหมือนสัญญาเช่าซื้อ (ระบุใช้โอนรถยนต์ ทะเบียน………….)
4. หนังสือมอบอำนาจในการโอนรถยนต์ เซ็นต์ในช่องผู้มอบอำนาจ (ทางไฟแนนซ์รถส่วนใหญ่จะนำไปกรอกรายละเอียดเอง แต่ถ้าคุณไม่สบายใจที่เซ็นต์ใบมอบอำนาจลอยไว้ ก็ระบุในใบมอบอำนาจในข้อที่ 1 ว่าใช้ในการโอนรถยนต์ ทะเบียน……………….. ก็ย่อมได้)
ไฟแนนซ์รถบางแห่งอาจจะให้คุณเป็นผู้รับมอบอำนาจจากไฟแนนซ์
โดยปกติแล้ว ทางไฟแนนซ์รถจะมีเอกสารใบคำขอโอนและใบมอบอำนาจให้อยู่แล้ว ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชนกับสำเนาทะเบียนบ้านก็พอ ทางไฟแนนซ์รถอาจจะส่งเอกสารทางไปรษณีย์มาให้คุณตามที่อยู่จัดส่งเอกสาร ในกรณีที่คุณไม่สะดวกเดินทางมาติดต่อยังไฟแนนซ์รถ หรือถ้าสะดวกในการติดต่อไฟแนนซ์รถ แนะนำว่าติดต่อโดยตรงน่าจะดีกว่าเพื่อความรวดเร็ว และเอกสารไม่ตกหล่นทางไปรษณีย์
เมื่อทางไฟแนนซ์รถโอนให้เสร็จเรียบร้อย ก็จะเลือกรับเล่มทะเบียนรถยนต์ของคุณได้ด้วยกัน 2 แบบ
1. จัดส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ให้ไว้
2. ติดต่อรับเองที่ไฟแนนซ์รถ ในกรณีที่ไม่มารับเองสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาแทนได้
ระยะเวลาในการโอนเล่มทะเบียนรถยนต์เมื่อผ่อนรถหมดแล้ว ทางไฟแนนซ์รถส่วนใหญ่จะโอนกรรมสิทธิรถกลับคืนอยู่ในเวลาประมาณ 4-7 วันทำการ ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ถ้าต่างพื้นที่ ต่างจังหวัดอาจจะต้องใช้เวลา 15-30 วัน อย่างไรก็ตามควรสอบถามทางเจ้าหน้าที่ ว่าระยะเวลาในการโอนรถยนต์จะใช้เวลาเท่าไรถึงจะได้รับเล่มทะเบียนรถยนต์
กรณีเจ้าของรถเสียชีวิต ?
หลักฐาน
1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ
2. แบบคำขอโอนและรับโอน ซึ่งบันทึกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียบร้อยแล้ว
3. ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
4. หลักฐานการได้มาของตัวรถ เช่น ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี สัญญาซื้อขาย (ถ้ามี)
5. กรณีโอนรับมรดก แนบสำเนาใบมรณบัตรเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือเอกสารของทางราชการที่ระบุชื่อผู้รับมรดก/ผู้จัดการมรดก
6. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
สถานที่ติดต่อ - สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 5 สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือสำนักงานขนส่งสาขา ที่ผู้โอนมีที่อยู่ปรากฎอยู่ปรากฎในใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือที่ขอแจ้งใช้รถไว้
ขั้นตอนการโอนรถ
1. นำรถเข้ารับการตรวจสอบ ที่ฝ่ายตรวจสภาพรถ (ยกเว้นกรณีโอนปิดบัญชีจากผู้ให้เช่าซื้อไปยังผู้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน ไม่ต้องตรวจสอบรถ)
2. ยื่นตรวจสอบคำขอพร้อมหลักฐาน และผลการตรวจสอบรถ (ถ้ามี)
3. ชำระเงินค่าธรรมเนียม
4. รอรับเอกสารคืน
ขอย้ำอีกครั้งว่า....การโอนลอยไม่ใช่สิ่งไม่ดีทั้งหมด แต่ต้องทำธุรกรรมกับผู้ที่ไว้ใจและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ผู้ที่รับมอบอำนวจในการโอนลอยเอาไว้จะต้องรีบไปดำเนิดการต่อที่กรมการขนส่งทางบกให้เร็วที่สุด อย่างน้อยไม่เกิน 15 วันทำการหลังจากมีการทำสัญญา แต่ทางที่ปลอดภัยมากที่สุดหากทำการซื้อขายกับผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่สามารถเชื่อมั่นได้ ควรนัดไปเจอพร้อมกันที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อความเรียบร้อยและถูกต้องปลอดภัยต่อทั้ง 2 ฝ่ายเองนะครับ
หมายเหตุ การโอนกรรมสิทธิ์รถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันโอน (หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ฝ่ายทะเบียนรถ 043-777392 หรือ 043-777609 ต่อ 14
ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก