รีแมพ ECU แรง..ประหยัดขึ้นจริงไหมและประกันจะขาดหรือไม่?
เรามักจะได้ยินคำว่า...รีแมพ รีเฟลช หรือจูนกล่องหลัก เพิ่มสมรรถนะรถยนต์ให้ดีขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น แรงขึ้น ความจริงแล้วการจูนกล่องแบบนี้มีผลอย่างไรต่อเครื่องยนต์ จะทำให้รถวิ่งดีหรือประหยัดขึ้นได้จริงหรือ และมีผลอะไรต่อเครื่องยนต์และการรับประกันหรือไม่มาอ่านให้รู้ลึกกันครับ
รถยนต์รุ่นใหม่ตั้งแต่ช่วงปี 2005 ขึ้นไปหรือที่มีกล่องคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล สามารถเข้าไปปรับแต่งหรือเรียกง่าย ๆ ว่า "แฮก" ข้อมูลได้แล้ว ต่างจากสมัยก่อนที่ยังไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัย กล่องคอมพิวเตอร์หรือกล่องควบคุมที่เรียกกันว่า "ECU" (Electronic Control Unit) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานทุกอย่างของเครื่องยนต์ตั้งแต่สตาร์ท เช่น คุมการเปิด-ปิดลิ้นคันเร่ง ควบคุมรอบเดินเบา รับสัญญาณจากเซ็นเซอร์ต่าง ๆ รอบ ๆ เครื่องยนต์เพื่อมาประมวลผลและสั่งอัตราการฉีดจ่ายน้ำมันและองศาการจุดระเบิดให้เหมาะสมกับอากาศที่เข้าไปในเครื่องยนต์ เป็นต้น หรือง่าย ๆ คือ สั่งฉีดน้ำมันให้พอดีกับอากาศที่เข้าเครื่องยนต์เพื่อการเผาไหม้ให้ได้สมรรถนะที่ดีที่สุด โดยทางโรงงานผู้ผลิตจะปรับตั้ง ECU ให้มีความสอดคล้องกันในหลายองค์ประกอบทั้งกำลังแรงบิดและมลภาวะให้ได้ค่ามาตรฐานตามกฎหมายมากที่สุด จะเห็นว่ากล่อง ECU เดิมจากโรงงานนั้นทำเอาไว้ดีและเหมาะสมเพียงพอกับการใช้งานในระดับทั่วไปดีอยู่แล้ว
รีแมพทำไม?
จุดประสงค์ของการจูนกล่องนั้นเริ่มแรกเดิมทีคือการจูนรถเพื่อใช้ในการแข่งขันในสนามเป็นหลัก โดยรถที่จูนมักจะถูกโมดิฟายด์เครื่องยนต์อย่างเต็มระบบจึงจำเป็นต้องติดตั้งกล่องควบคุมเสริมขึ้นมาจากกล่องหลัก และต้องมีการปรับจูนให้เครื่องยนต์ที่โมดิฟายด์นี้สามารถเค้นกำลังเพิ่มแรงม้าแรงบิดได้มากที่สุดโดยที่ไม่พัง ไม่ว่าจะเป็นการปรับตั้งบูสต์เทอร์โบ ปรับตั้งคอยล์จุดระเบิด หรืออัตราการฉีดน้ำมัน แต่ในปัจจุบันโปรแกรมถูกพัฒนาให้สามารถเข้าไปปรับตั้งค่าของกล่องเดิมติดรถต่าง ๆ ได้ ทำให้ปรับแต่งการทำงานต่าง ๆ ได้เองโดยที่ไม่ต้องติดตั้งกล่องควบคุมเสริม
รถบ้านรีแมพได้ไหม?
โดยทั่วไปรถยนต์ที่ใช้งานมานาน ๆ ย่อมมีการเสื่อมสภาพของระบบการทำงานในเครื่องยนต์ ความจริงแล้วจะต้องมีการปรับสภาพหรือตรวจเช็คบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี เพียงแค่นี้สมรรถนะก็กลับมาเหมือนรถใหม่แล้ว แต่ในรถบางคันมีการปรับแต่งใส่ล้อโต มีควันดำมาก จากการใช้งานเป็นเวลานาน บางครั้งการบำรังรักษาโดยปกติก็อาจไม่เพียงพอ ส่งผลให้กำลังเครื่องยนต์ตก เร่งไม่ขึ้น หรือกินน้ำมันกว่าเดิม นั่งจึงเป็นที่มาของการรีแมพกล่องให้ค่าการทำงานต่าง ๆ กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม และยังสามารถปรับตั้งให้มีสมรรถนะดีขึ้นกว่าเดิมจากโรงงานได้อีกด้วยครับ
การรีแมพอาจแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบง่าย ๆ คือ รีแมพค่าการทำงานให้กลับมาเหมือนเดิมและรีแมพเพื่อเค้นสมรรถนะให้เพิ่มขึ้นจากเดิม การรีแมพค่าเดิมหมายถึงการเข้าไปเช็คค่าการทำงานต่าง ๆ ของกล่องว่ามีอะไรที่สั่งผิดเพี้ยนจากค่าเดิมโรงงานหรือไม่ก็ทำการแก้ไขให้กลับมาเท่าค่าเดิม ส่วนการเค้นสมรรถนะนั้นเป็นการตั้งค่าปลดล็อคระบบต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ที่ถูกตั้งจำกัดเอาไว้ให้มีประสิทธิภาพและกำลังที่ดีขึ้น
ขั้นตอนรีแมพ
การรีแมพหรือจูนกล่องนั้นนับเป็นการใช้โปรแกรมจากข้างนอกเข้าไปควบคุม ECU หลักเดิม โดยโปรแกรมนี้จะสามารถเข้าไปดูดข้อมูลเดิมในกล่อง ECU ผ่านปลั๊ก OBD ของรถยนต์และนำออกมาปรับแต่งเองได้ตามต้องการ เช่น ปรับระบบการสั่งจ่ายน้ำมัน องศาจุดระเบิด ปลดล็อคความเร็ว ฯลฯ โดยผู้ที่ทำการจูนนั้นต้องมีความรู้และเข้าใจในทุกระบบของโปรแกรม
ตังนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและปลอดภัย และเมื่อได้ค่าที่ต้องการแล้วก็นำข้อมูลที่ปรับแต่งใหม่โหลดกลับเข้าไปในกล่อง ECU อีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะต้องทดสอบติดเครื่องยนต์ดูและวัดค่าหลายอย่างเช่น รอบเครื่องยนต์กับองศาจุดระเบิด ปริมาณน้ำมันกับอากาศด้วยเครื่องมือวัดอัตราส่วนผสมของน้ำมันและอากาศหรือ (A/F) Air Fuel Ratio โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 14.7 : 1 (อัตราส่วนของอากาศ 14.7 ส่วน ต่ออากาศ 1 ส่วน) และสุดท้ายหากต้องการทราบว่าดีขึ้นขริงไหมก็ต้องวัดจากเครื่องวัดไดโนเทส (Dyno test) เพื่อให้ทราบถึงตัวเลขที่แท้จริงว่าหลังจากทำออกมาแล้วดีขึ้นจรือไม่เพราะตัวเลขไม่โกหกครับ ก็ขึ้นกับว่าราคารีแมพรวมการวัดแรงม้าไดโนเทสด้วยหรือไม่ครับ
แรงขึ้น..ประหยัดขึ้นจริงหรือ?
สำหรับการรีแมพให้เครื่องยนต์เดิมมีกำลังเพิ่มมากขึ้น เพราะได้มีการปรับแต่งระบบการทำงานใหม่หมดทั้งปรับให้จ่ายน้ำมันให้เหมาะสมกับอากาศมากขึ้น ตั้งคันเร่งให้ตอบสนองไว้ขึ้น ปลดล็อคความเร็วรอบ หรืออาจตั้งการเปิด-ปิดองศาของวาล์วแปรผันให้ทำงานเร็วขึ้นได้อีกด้วย ในกรณีที่รอบเครื่องยนต์เดิมทั้งหมด กรองอากาศ ท่อไอเสีย หัวเทียน หัวฉีดเดิม ในเครื่องยนต์ NA ไม่มีเทอร์โบจะเพิ่มแรงม้าได้ราว ๆ 1 - 5 แรงม้า ขึ้นกับสภาพผ่านการใช้งานเครื่องยนต์ ส่วนเครื่องยนต์เทอร์โบนั้นหากเป็นเบนซินและไม่มีการปรับบูสต์เพิ่มเติมจะเพิ่มขึ้นราว ๆ 5 - 10 แรงม้า และเครื่องยนต์ดีเซลก็อาจเพิ่มได้ถึง 15 แรงม้าเลยทีเดียวครับ (วัดจากไดโนเทส) ส่วนเครื่องยนต์ที่โมดิฟายล์หรือมีการขยับเพิ่มบูสต์ของเทอร์โบก็ขึ้นกับว่าทำมาเยอะน้อยแค่ไหนครับ
เรื่องความประหยัดอาจแตกต่างกันไม่มากนัก แต่พอจับความรู้สึกได้ เช่น เคยใช้คันเร่ง 5% เท่ากันแต่ตอบสนองเร็วขึ้น การเร่งแซงใช้เวลาสั้นลง เมื่อไม่ต้องแช่คันเร่งยาวในการเร่งแซง ระยะเวลในการใช้น้ำมันน้อยลง เป็นต้น แต่ถ้ารถที่สภาพเครื่องยนต์เริ่มเก่ามาก ๆ ก่อนจะรีแมพนั้นอาจจะต้องตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนอะไหล่ก่อน เพื่อให้การรีแมพคุ้มค่า เช่น รถยนต์ที่ใช้งานมากเกิน 150,000 กม. หัวฉีดเริ่มตันจ่ายน้ำมันไม่เท่ากัน จึงทำให้เครื่องยนต์สะดุดและกินน้ำมันมากขึ้น เมื่อล้างระบบหัวฉีดและเปลี่ยนใส้กรองแล้วก็เทียบเท่าของใหม่ พร้อมกับจูนกล่องก็ยิ่งเห็นผลชัดเจนครับ
เมื่อกล่อง ECU ผ่านการดาวน์-อัพโหลด ย่อมมีความร้อนสะสม หรือมีการทำงานที่ไม่ตรงตามสเปคผู้ผลิตที่ออกแบบเอาไว้ สิ่งที่อาจเป็นปัญหาในระยะยาวตามมาก็คือ "กล่องหลับ" หรือกล่องแฮงค์ ไม่ทำงาน เครื่องสตาร์ทไม่ติด เพราะกล่องไม่มีการสั่งงานนั่นเอง โดยอาการกล่องหลับนั้นอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการจูนหลาย ๆ ครั้ง แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากหากทำการจูนไม่เกิน 3-5 ครั้ง (ขึ้นกับสภาพกล่องและอายุรถ)
นอกจากนี้การเค้นกำลังเครื่องยนต์ที่มากเกินไปหรือไม่สมดุยล์ โดยที่ไม่มีการปรับแต่งอุปกรณ์รองรับก็อาจส่งผลเสียหายต่อเครื่องยนต์ได้อย่างเช่น เมื่อรอบเมื่อใช้เครื่องยนต์สูง ๆ จะเกิดความร้อนสะสมมากขึ้น น้ำมันเครื่องต้องรับภาระเยอะขึ้นการสึกหรอของชิ้นส่วนก็ตามมา อย่างเครื่องเทอร์โบที่มีการปรับบูสต์เพิ่มย่อมทำให้รับภาระมากขึ้นกว่าเดิมจากค่าที่โรงงานตั้งเอาไว้จึงมีโอกาสที่เทอร์โบหรือชิ้นส่วนอื่น ๆ พังเสียหายเร็วขึ้นได้ โดยเฉพาะรถที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ ชุดเกียร์จะรับภาระหนักจากแรงม้าแรงบิดที่เพิ่มมากกว่าเดิม และหากช่างที่รีแมพไม่ละเอียดพอก็อาจทำให้การจ่ายน้ำมันกับระบบไฟไม่สเถรียร ส่วนผสมหนาหรือบางไปก็อาจส่งผลให้ลูกสูบ วาล์ว หัวเทียนสึกหรอเร็วขึ้น
การรีแมพต้องเลือกคนจูนที่มีความรู้ชำนาญละเอียดมากพอ เพราะบางครั้งอาจเจอกับมือใหม่ที่ใช้วิธีโยนไฟล์สำเร็จรูป โดยไม่ได้ปรับแต่งข้อมูลแบบคันต่อคัน อาจส่งผลเสียมากกว่าเพราะรถแต่ละคันมีสภาพเท่าเหมือนกันครับ ส่วนวิธีที่ดีคือ ต้องเขียนหรือป้อนข้อมูลใหม่แบบคันต่อคัน จะได้ค่าใช้งานที่ตรงกับเครื่องยนต์คันนั้น ๆ มากที่สุดครับ
ประกันเครื่องยนต์หมดหรือไม่?
จริงอยู่ที่การรีแมพเครื่องยนต์นั้นเป็นการปรับแต่งข้อมูลหรือซอฟแวร์ในกล่อง ECU หากมองด้วยตาเปล่านั้นไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากล่องนั้นถูกปรับแต่งมาแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าถ้าทางศูนย์ฯ จะเช็คไม่ได้นะครับ เพียงแต่จะไม่ค่อยเข้าไปดูรายละเอียดตรงนี้มากนัก เพราะการตรวจทั่วไปเพียงหาสัญญาณที่ฟ้องความผิดปกติเท่านั้น ยกเว้นว่าเจ้าค่าที่ฟ้องเกิดมีผลต่อเนื่องจากการปรับแต่งกล่องก็อาจถูกปฏิเสธการรับประกันได้ครับ เช่น อาการกล่องหลับ หรือ มีการทำงานของเครื่องยนต์ผิดปกติจากล่งที่สั่งผิดเพี้ยนมาก ๆ เป็นต้น
ข้อดีคือ การขับขี่ดีขึ้นสมูทมากขึ้น ประหยัดมากขึ้นอัตราเร่งมาไวขึ้น ส่วนข้อเสียคือ ช่างต้องชำนาญและมีความรู้ละเอียดมาก ๆ หากไม่ชำนาญพออาจเกิดความเสียหายได้ และรถที่ยังอยู่ในระยะรับประกันก็อาจส่งผลให้การรับประกันคุณสิ้นสุดได้หากมีความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากการปรับแต่งข้อมูลกล่อง ECU และค่าใช้จ่ายที่มีตั้งแต่หลักพันไปถึงหมื่น ซึ่งระดับราคาก็อาจจะมีผลต่อคุณภาพที่ได้รับอีกด้วยครับ
อย่างไรก็ตามการรีแมพนับเป็นความต้องการส่วนตัวของเจ้าของรถจะต้องประเมินว่าคุ้มค่าต่อการใช้งานหรือไม่ รีแมพเพื่อจุดประสงค์อะไร และควรศึกษาข้อมูลคร่าวเอาไว้ นอกจากนี้ยังต้องเลือกอู่หรือช่างที่ชำนาญในการจูนและมีผลงานการันตีรับประกันเชื่อถือได้อีกด้วยครับ ส่วนผู้ที่เพียงพอในสมรรถนะรถเดิมอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องรีแมพก็ได้ครับ เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย