Honda โชว์นวัตกรรมสุดไฮเทค ในงาน CES 2019
ฮอนด้า จัดแสดงนวัตกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการเคลื่อนที่ (Mobility) โรโบติกส์ (Robotics) และการจัดการพลังงานสุดล้ำ (Energy Management) อีกทั้งเสนอแนวคิดของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ ในงานแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี และสินค้าอิเลกทรอนิคส์ เพื่อผู้บริโภคระดับโลก หรืองาน CES 2019 (The Consumer Electric Show 2019) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 11 มกราคม 2562 ซึ่งครั้งนี้ เทคโนโลยีที่จัดแสดง มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิต เพื่อสร้างสรรค์โลกที่สะอาด ปลอดภัย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยมีการสาธิตเทคโนโลยีการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ผ่านรถยนต์ ฮอนด้า พาสสปอร์ต โฉมใหม่ ปี 2019 และครั้งแรกของการเผยโฉมต้นแบบยนตรกรรมออฟโร้ดขับเคลื่อนอัตโนมัติ Honda Autonomous Work Vehicle ที่ผ่านการทดสอบการใช้งานจริง ซึ่งเป็นพาหนะต้นแบบรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความฝันของทีมวิศวกรฮอนด้า
นวัตกรรมของฮอนด้าที่จัดแสดงในงานนี้ สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่พร้อมนำเสนอคุณค่าใหม่และยกระดับการใช้ชีวิต และเผยให้เห็นวิสัยทัศน์ในการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยผู้ที่สนใจร่วมเป็นพันธมิตร สามารถมาเยี่ยมชมบูทฮอนด้า หมายเลข #7900 ภายในงาน ณ บริเวณ North Hall ของ Las Vegas Convention Center
ฮอนด้า อินโนเวชันส์ ซึ่งเป็นหน่วยงาน R&D หนึ่งของฮอนด้า ตั้งอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์ พร้อมเปิดเผยความร่วมมือใหม่ๆ กับกลุ่มธุกิจสตาร์ทอัพและแบรนด์พันธมิตรชั้นนำเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ผ่าน Honda Developer Studio และ Honda Xcelerator เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พร้อมทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสร้างการขับเคลื่อนเพื่อการค้นพบและทดลองเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของฮอนด้าในการส่งเสริมและเปิดกว้างในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)
ฮอนด้าในงาน CES 2019
Honda Autonomous Work Vehicle ต้นแบบยนตรกรรมออฟโร้ดขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงาน ฮอนด้าจะแสดงการทดสอบในสภาวะการใช้งานจริงของ Honda Autonomous Work Vehicle ต้นแบบ
ยนตรกรรมออฟโร้ดขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ผสานคุณสมบัติของรถ ATV (All-Terrain Vehicle) ของฮอนด้า และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติอันล้ำสมัยเข้าด้วยกัน ซึ่งได้รับการออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน สำหรับหน่วยงานราชการและธุรกิจต่างๆ เพื่อใช้ในงานก่อสร้าง เกษตรกรรม ภาระกิจค้นหาและช่วยชีวิต ตลอดจนการดับเพลิง
โดย Honda Autonomous Work Vehicle ใช้ช่วงล่างของรถ ATV ของฮอนด้าซึ่งผ่านการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับมายาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งมีจุดเด่นในการบุกตะลุยพื้นที่ทุรกันดารที่เข้าถึงยาก ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่แข็งแรงและสมบุกสมบัน มาพร้อมระบบจีพีเอสและระบบขับขี่อัตโนมัติที่ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ ซึ่งสามารถนำทางยานพาหนะได้ในทุกสภาพแวดล้อม อีกทั้งแท่นยึดอุปกรณ์ที่ออกแบบเป็นพิเศษให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้ไม่จำกัด และมีแหล่งพลังงานที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถ ซึ่งนับตั้งแต่เผยโฉมครั้งแรกในงาน CES 2018 ในชื่อ 3E-D18
ฮอนด้าได้ทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น บริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา หน่วยงานควบคุมไฟป่าในโคโลราโดและวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรและสิ่งแวดล้อมในแคลิฟอร์เนีย เพื่อทดสอบและประเมินผลลักษณะการใช้งานจริงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดย Honda Autonomous Work Vehicle ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮอนด้ายังคงแสวงหาพันธมิตรอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาอุปกรณ์เสริมและขยายขีดความสามารถในการใช้งาน ขยายประเภทธุรกิจที่ต้องการใช้งานพาหนะประเภทนี้ และพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและเซ็นเซอร์เพื่อปรับปรุงระบบขับขี่อัตโนมัติแบบออฟโร้ด หน่วยงานธุรกิจและพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่มีความสนใจ
SAFE SWARMTMสร้างสรรค์ประสบการณ์การขับขี่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
SAFE SWARTM คือ แนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงความฝันของฮอนด้าในการสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นจริง ทำให้การจราจรลื่นไหลและปลอดภัย ผ่านการเชื่อมต่อเทคโนโลยีในรถยนต์ที่สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติในการพัฒนาแนวคิด SAFE SWARMTM โดยมีจุดประสงค์ให้รถยนต์สามารถสื่อสารกันผ่านระบบไร้สายและการจราจรมีความลื่นไหลและคล่องตัว เหมือนการเคลื่อนไหวของฝูงปลา SAFE SWARMTM ใช้เทคโนโลยี Vehicle-to-Everything (V2X) เพื่อให้รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกับรถยนต์คันอื่นที่อยู่รอบข้าง และแชร์ข้อมูลสำคัญ เช่น ตำแหน่งและความเร็วของรถ ซึ่งข้อมูลต่างๆ นี้ จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์หรือระบบขับขี่อัตโนมัติสามารถนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งภายในรถ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้สภาพแวดล้อม สภาพการจราจรรอบตัว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในสถานการณ์ที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ฮอนด้า เชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนเข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการเดินทางที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดจำนวนอุบัติเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และในที่สุด จะนำไปสู่การสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
โดยอาศัยข้อมูลจากรถยนต์ที่วิ่งอยู่ด้านหน้ามาประมวลผล เพื่อลดการจราจรที่ติดขัด หรือคำนวณการเบรกรถยนต์ได้ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเบรกกระทันหัน หรือการเปลี่ยนเลนเมื่อจำเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถประมวลได้ผ่านระบบการสื่อสาร V2X ที่ติดตั้งในตัวรถ ที่ประสานการทำงานกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในรถ หรือแม้แต่เซ็นเซอร์ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่นั้นๆ
ฮอนด้า ได้ทำการทดสอบในสนามปิด และจะทำการประเมินแนวคิดนี้ในสภาพแวดล้อมการขับขี่จริงที่ 33 Smart Mobility Corridor ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งจะเป็นเส้นทางถนนที่มีการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์และระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรแบบต่อเนื่องที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งการทดสอบรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ฮอนด้ากำลังมองหาพันธมิตรด้านวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System - ITS) รวมถึงพันธมิตรทางด้านระบบการเชื่อมต่อและรถยนต์ไร้คนขับ (Connected and Automated Vehicle - CAV)
โรโบติกส์ เพื่อยกระดับ และเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิต
ฮอนด้า เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านโรโบติกส์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่อุปกรณ์หุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือและเสริมศักยภาพการใช้ชีวิตของมนุษย์ Honda P.A.T.H. (Predicting Action of the Human) Bot คือ หุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองในสถานที่สาธารณะโดยไม่รบกวนผู้คนรอบข้าง สร้างขึ้นจากเทคโนโลยี AI มาพร้อมกล้องและเซ็นเซอร์ติดตั้งในตัว ใช้ในการระบุตำแหน่งของตัวเองและจดจำสภาพแวดล้อมรอบข้าง ทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปยังที่หมายต่างๆ ได้ โดยไม่ชนสิ่งกีดขวางและสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งตอนนี้ ฮอนด้ากำลังมองหาพันธมิตรที่จะมาร่วมทดสอบการใช้งาน P.A.T.H. Bot ร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโรโบติกส์เป็นไปได้ง่ายขึ้น ฮอนด้าได้เปิดตัว Honda RaaS (Robotics as a Service) Platform ซึ่งเป็นแนวคิดแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานทั่วไป เช่น การเก็บและแชร์ข้อมูล การควบคุมการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสถานะ และการร่วมมือกันระหว่างหุ่นยนต์ ผ่านอินเทอร์เฟซหรือแพ็คเกจ API*2 และ SDK*3 โดยฮอนด้ามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการบูรณาการของบริการโรโบติกส์ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์หุ่นยนต์ ระบบ และแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งพัฒนาโดยฮอนด้าและพันธมิตร
และเผยโฉม Honda Omni Traction Drive System ซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัว ที่มาพร้อมระบบล้อขับเคลื่อนรอบทิศทาง ซึ่งพัฒนามาจากการค้นคว้าและวิจัยด้านโรโบติกส์ของฮอนด้า ซึ่งอยู่ในหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของฮอนด้า อาซิโม (ASIMO) ซึ่งช่วยให้ ยูนิ-คับ (UNI-CUB) พาหนะส่วนบุคคลสามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทางอย่างเป็นธรรมชาติ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโรโบติกส์ สามารถนำไปใช้ได้กับผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้มากมาย
ฮอนด้าจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ ในด้านเทคโนโลยีเพื่อการเคลื่อนที่ (Mobility) และการขนส่ง โดยประเดิมความร่วมมือครั้งแรกกับ นีเด็ค-ชิมโป คอร์ปอเรชั่น (Nidec-Shimpo Corporation) บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ ส่วนประกอบยานยนต์ และยานพาหนะต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น โดยนำ Honda Omni Traction Drive System ไปใช้ใน S-CART ซึ่งเป็นพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ใช้เพื่อการทำงานในโรงงานหรือโกดัง
Wireless Vehicle-to-Grid ลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมสร้างคุณค่าใหม่
ฮอนด้าเตรียมเผยโฉม Wireless Vehicle-to-Grid (V2G) ระบบบริหารจัดการพลังงานแบบสองทางที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ด้วยกระแสความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเติบโต ทำให้กริดไฟฟ้าหรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อสำหรับการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆ ไปยังผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้การใช้แหล่งพลังงานที่ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่เพิ่มสูงขึ้น และเกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากแบตเตอรี่ในรถยนต์สามารถใช้เป็นแหล่งเก็บพลังงานเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการใช้งานและการสำรองพลังงาน เจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของฮอนด้าสามารถเข้าร่วมโครงการ V2G และได้รับค่าชดเชยจากผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่ได้รับประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าฮอนด้าเพื่อช่วยลดความต้องการไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้าได้
ระบบจัดการพลังงานใหม่นี้ต่างจากการชาร์จไฟผ่านสายแบบเดิม โดยการชาร์จและปล่อยกระแสไฟฟ้า ทำได้อย่างง่ายโดยไม่ต้องทำการสัมผัส เพียงแค่นำรถยนต์จอดบนแผ่นชาร์จ ซึ่งมอบประสบการณ์ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นแก่ผู้ขับขี่ ฮอนด้าได้ทำการพัฒนาระบบนี้ร่วมกับ WiTricity ผู้บุกเบิกด้านการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สาย Wireless Vehicle-to-Grid ของฮอนด้า จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยจะทำการจ่ายไฟเข้าสู่รถในช่วงเวลาที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าการบริโภคไฟฟ้า และปล่อยกระแสไฟฟ้าออกจากรถสู่กริดไฟฟ้าเมื่อปริมาณการบริโภคไฟฟ้ามีสูงกว่าการผลิต ฮอนด้ามีความสนใจที่จะร่วมมือกับบริษัทด้านพลังงานต่างๆ ทั้งบริษัทรายใหญ่ที่เป็นผู้รวบรวมความต้องการใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ระบบนี้สามารถนำไปใช้งานจริงได้ในสังคม
Honda Dream Drive
ในงาน CES 2019 ครั้งนี้ Honda Developer Studio ได้นำรถยนต์ ฮอนด้า พาสสปอร์ต โฉมใหม่ปี 2019 มาใช้ในการสาธิตประสบการณ์การขับขี่แบบ Honda Dream Drive ที่เหนือชั้นกว่าเดิม โดย Honda Developer Studio ได้ร่วมมือกับ DreamWorks Animation สร้างสรรค์ Honda Dream Drive ขึ้น ซึ่งเป็นการจำลองประสบการณ์แบบเสมือนจริง (Virtual Reality - VR) ที่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของรถยนต์ และได้จัดแสดงในงาน CES 2017 ที่ผ่านมา โดยหลังจากนั้น มีการต่อยอดแพล็ตฟอร์ม Honda Dream Drive โดยเพิ่มฟีเจอร์และฟังก์ชั่นใหม่ๆ รวมทั้งการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
Honda Dream Drive - สำหรับผู้ขับขี่ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจากการต่อยอดแนวคิดเทคโนโลยีการชำระเงินในรถยนต์ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน CES 2017 เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถจองร้านอาหาร จ่ายค่าสินค้าและบริการ ทั้งค่าน้ำมัน บัตรชมภาพยนตร์ และค่าที่จอดรถ และแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ขับ โดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ผ่านระบบกระเป๋าเงินอัจฉริยะที่ติดตั้งอยู่ในรถฮอนด้า
สำหรับผู้โดยสาร ประกอบด้วย เกมแบบมิกซ์เรียลลิตี้ ภาพยนตร์ และแอปพลิเคชันด้านการเดินทาง รวมทั้งการควบคุมวิทยุและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องโดยสาร ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และในอนาคต แพลตฟอร์ม Honda Dream Drive ยังได้เตรียมเปิดตัวแนวคิดระบบสะสมคะแนนสำหรับลูกค้า
เทคโนโลยีที่ช่วยในการขับขี่
Honda Xcelerator และ Noveto จะสาธิตเทคโนโลยีระบบเสียงสามมิติซึ่งพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี Noveto Smart Audio ของ Noveto โดยสามารถส่งสัญญาณเสียงไปยังหูแต่ละข้างของผู้ฟัง พร้อมกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่สัมผัสได้สู่ผู้ขับขี่ โดยที่ไม่ต้องละสายตาจากท้องถนน ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) Perceptive Automata จะทำให้พาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีสัญชาตญาณเหมือนมนุษย์ ในการเข้าใจสภาวะทางจิตใจของผู้เดินถนน ผู้ขับขี่จักรยาน และผู้ขับขี่รถยนต์ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์จากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในรถยนต์ เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ขับรถเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยเตือนว่ามีสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างขัดเจน จากการจับสัญญาณผ่านเซ็นเซอร์ในรถยนต์ รวมทั้งช่วยให้ระบบนำทางในรถยนต์ทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น