Bosch ผู้นำชิ้นส่วนยานยนต์โตต่อเนื่องพร้อมลงทุนเทคโนโลยี AI
กลุ่มบริษัทบ๊อชยังคงเพิ่มยอดขายได้ในปี 2559 จากตัวเลขเบื้องในปีที่แล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้น 3.5% เป็น 73.1 พันล้านยูโร และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อัตราการเติบโตของยอดขายจะอยู่ที่ 5.4% อนึ่ง ยอดขายของกลุ่มได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน คิดเป็นประมาณ 1.3 พันล้านยูโร ในเยอรมนี
ภาพรวมธุรกิจปี 2559 ธุรกิจแห่งการเชื่อมต่อยังคงขับเคลื่อนบ๊อชให้เติบโตต่อเนื่อง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือที่สุดของความเชี่ยวชาญด้าน IoT (Internet of Think) ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 73.1 พันล้านยูโรกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ขึ้นไปแตะระดับ 4.3 พันล้านยูโรภาคธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อนเติบโตเร็วกว่าภาคการผลิตรถยนต์มูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นเป็น 6.6 พันล้านยูโร ลงทุน 300 ล้านยูโร สำหรับศูนย์ด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยเฉพาะผุดตลาดด้านผู้ช่วยอัจฉริยะและการให้บริการเฉพาะบุคคล มูลค่าหลายพันล้านยูโร
ดร.เดนเนอร์ ซีอีโอของกลุ่มบ๊อชเผย "บ๊อชกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรูปแบบของเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา"
"แม้ว่าสถานการณ์จะไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก แต่เราก็ยังสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตได้ตามที่คาดการณ์สำหรับปี 2559" ดร. โฟล์คมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบ๊อชกล่าว "บ๊อชกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรูปแบบของเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมาไม่ว่าจะในแวดวงอุตสาหกรรม ตลาดต่างๆ หรือด้านเทคโนโลยี บ๊อชกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซลูชั่นแห่งการเชื่อมต่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ไล่ไปจนถึงเทคโนโลยี IoT และเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electromobility) ซึ่งบ๊อชลงทุนไปแล้วหลายพันล้านยูโร และในปี 2559 บริษัทได้เพิ่มงบการวิจัยและพัฒนาเป็นประมาณ 6.6 พันล้านยูโร
ดร. สเตฟาน อเซ็นเคอสช์เบาเออร์ ซีเอฟโอและรองประธานบริษัทอธิบายว่า "ผลงานที่เราทำได้สำเร็จในทุกวันนี้ จะเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญเพื่อความสำเร็จในวันข้างหน้า" ในปี 2559 บ๊อชในฐานะผู้นำการผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก มีรายได้จากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT จากการดำเนินงาน) ราว 4.3 พันล้านยูโร บ๊อชมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี IoT ชั้นนำ และเล็งเห็นโอกาสทองในธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้ช่วยดิจิทัลอัจฉริยะ "เทคโนโลยี IoT กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งได้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามา ยิ่งทำให้เราพัฒนาโซลูชั่นแห่งการเชื่อมต่อต่างๆ ให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคลได้" ซีอีโอของบ๊อช กล่าว ด้วยเหตุนี้ บ๊อชจึงลงทุนกว่า 300 ล้านยูโรในการสร้างศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นบทสรุปให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IoT
ในปีนี้ เราจะได้เห็นศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งใหม่ของบ๊อช (Bosch Center for Artificial Intelligence-BCAI) เริ่มดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ "ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ทำให้บ๊อชสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่จับความรู้สึกได้ และตอนนี้บ๊อชก็ทำให้มันเรียนรู้และทำอะไรฉลาดๆ ได้" ดร. เดนเนอร์ ผู้รับผิดชอบด้านการวิจัยและวิศวกรรมขั้นสูงในฐานะคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าว
"ภายใน 10 ปีนับจากนี้ แทบจะไม่มีผลิตภัณฑ์ของบ๊อชชิ้นไหนที่ไม่เป็นปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งอาจจะเป็นอุปกรณ์ที่มีความฉลาดในตัวของมันเอง หรือมี AI เป็นส่วนสำคัญในขั้นการพัฒนาหรือการผลิต" ดร. เดนเนอร์กล่าว สำหรับศูนย์ BCAI จะเริ่มว่าจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญราว 100 ตำแหน่งในอินเดีย (เบงกาลูรู) สหรัฐอเมริกา (พาโล อัลโต) และเยอรมนี (เรนนิงเก็น) บ๊อชจะลงทุนขยายศูนย์ฯ แห่งนี้รวม 300 ล้านยูโร และจะเพิ่มจำนวนพนักงานให้มากกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่า ภายในปี 2564
การพัฒนาเทคโนโลยี IoT ให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละคนนับเป็นอีกระดับโซลูชั่นการเชื่อมต่อ "บ๊อชจะใช้ AI เปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ สุดท้ายแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะกลายเป็นคู่หู เพื่อนที่รู้ใจ และผู้ช่วยส่วนตัวของเรา" ซีอีโอของบ๊อชกล่าว บริษัทวิจัยตลาด Tractica ประมาณการว่าจำนวนคนที่ใช้ผู้ช่วยดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าร้อยละ 350 ภายในปี 2564
"ผู้ช่วยดิจิทัล (digital assistants) คือ อินเทอร์เฟซสำหรับลูกค้า และด้วยผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกันได้ บ๊อชก็จะสามารถรักษาความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าไว้ได้ ยิ่งเรารู้ใจลูกค้าแต่ละคนได้มากขึ้นเพียงใด เราก็ยิ่งสามารถจัดบริการที่เหมาะกับแต่ละคนให้ได้ดีขึ้นเท่านั้น" ดร. เดนเนอร์ กล่าวต่อ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่บ๊อชภูมิใจนำเสนอในการแสดงนวัตกรรม CES ที่ลาสเวกัสคือ หุ่นยนต์ประจำบ้าน Kuri ซึ่งในเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์นั้น บ๊อชเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการของแต่ละคน ซึ่งก็คือ การทำให้หุ่นยนต์สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้
นอกจากนี้ บริษัทยังได้แนะนำ Mykie หรือผู้ช่วยที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะกับความต้องการต่างๆ ในห้องครัวอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น Mykie รู้ว่ามีอะไรเก็บไว้ในตู้เย็นบ้าง และสามารถเขียนรายการซื้อของได้เองโดยอัตโนมัติ และยังช่วยในการทำครัวได้ ในงาน CES บ๊อชยังได้นำรถยนต์ต้นแบบออกมาโชว์ชิมลาง โดยแสดงให้เห็นว่าผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับ ‘ยานยนต์’ นั้นจะเป็นอย่างไร จากการศึกษาร่วมกันระหว่างบ๊อชและพร็อกนอส (Procnos) ชี้ให้เห็นว่ายานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ จะช่วยทำให้คนมีเวลาพักและใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเกือบ 100 ชั่วโมงต่อปี
อนาคตของโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน วิชั่นซีโร่ (Vision Zero) ปลอดกังวล ปลอดอุบัติภัย และปลอดการปล่อยมลพิษ: นี่คือวิสัยทัศน์ของบ๊อชที่มีต่อการจราจรแห่งอนาคต "อุบัติเหตุเป็นศูนย์ การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และความเครียดเป็นศูนย์ คือเป้าหมายหลักของเราสำหรับโซลูชั่นการขับเคลื่อนแห่งอนาคต" ดร. เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อชกล่าว ในทางเทคโนโลยีแล้ว สิ่งเหล่านี้หมายถึง การขับขี่อัตโนมัติ (automation) ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electrification) และการเชื่อมต่อ (connectivity)
ดร. เดนเนอร์กล่าวต่อว่า "เราจะมุ่งมั่นในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแก่แวดวงโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง บ๊อชจะยังเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตระดับโลกด้านโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน รวมทั้งเทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้า" ขณะนี้ บ๊อชกำลังทำวิจัยเชิงลึก โดยหวังว่าจะเกิดการค้นพบครั้งใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี ที่จะทำให้การขับขี่ด้วยพลังงานไฟฟ้ามีราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง บริษัทได้จัดตั้งศูนย์วิจัยด้านแบตเตอรี ที่ฟอยเออร์บาค ในเมืองสตุ๊ตการ์ต เพื่อรวมงานพัฒนาด้านเซลล์แบตเตอรี และแบตเตอรีแพ็ค เข้ามาไว้ที่นี่ ปัจจุบันมีทีมงานกว่า 300 คนที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยแบตเตอรี เพื่อเทคโนโลยีเซลล์แบตเตอรีในอนาคต เพื่อให้พร้อมรองรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อยอดขายแตกต่างกันไปตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจ "หลังจากการปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายของทุกภาคธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น ยกเว้นเทคโนโลยีอุตสาหกรรม บางภาคธุรกิจมียอดขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ" ดร. อเซ็นเคอสช์เบาเออร์ กล่าว
ในปี 2559 ภาคธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อนเติบโตในอัตราร้อยละ 5.5 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าธุรกิจการผลิตยานยนต์ทั่วโลก หลังจากที่ได้ปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อัตราการเติบโตที่แท้จริงจะอยู่ที่ร้อยละ 7 ทั้งนี้ จากตัวเลขเบื้องต้น ยอดขายมีมูลค่าราว 44 พันล้านยูโรในปี 2559 บ๊อชได้สร้างสถิติใหม่ในธุรกิจระบบฉีดเชื้อเพลิงแก๊สโซลีน โดยสามารถขายหัวฉีดแรงดันสูงชนิดต่างๆ กว่า 250 ล้านเครื่อง บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูงกับระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบอินโฟเทนเม้นต์
ในปี 2559 ภาคธุรกิจสินค้าเพื่อผู้บริโภค มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เป็น 17.7 พันล้านยูโร โดยเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว การเติบโตที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ 6.2 โดยทั้งกลุ่มเครื่องมือไฟฟ้าและในส่วนของบริษัทบีเอสเอช เฮาส์เกเรท จีเอ็มบีเอช จำกัด (BSH Hausgeräte GmbH) ถือเป็นธุรกิจที่เป็นตัวแทนสะท้อนภาพของธุรกิจแห่งการเชื่อมต่อในปี 2559 ได้เป็นอย่างดี
ยอดขายของกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานและอาคารในปี 2559 เติบโตร้อยละ 0.8 (หรือร้อยละ 3.2 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว) คิดเป็นมูลค่ารวม 5.2 พันล้านยูโร ส่วนธุรกิจเทคโนโลยีระบบความร้อน ระบบรักษาความปลอดภัย และโซลูชั่นการบริการ ต่างมียอดขายที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อมีโซลูชั่นแห่งการเชื่อมต่อเข้ามาประกอบ อาทิ ระบบทำความร้อนอัจฉริยะ เทคโนโลยีด้านวิดีโอ รวมถึงการบริการต่างๆ อาทิ บริการฉุกเฉิน eCall และการบริการผู้ช่วยส่วนตัว
สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม มียอดขายลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายรวม 6.3 พันล้านยูโร และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงร้อยละ 4.5 ปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดคือ พัฒนาการในตลาดต่างๆ เช่น จีน รัสเซีย และบราซิล ที่ยังคงมีความท้าทายต่อธุรกิจเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนและควบคุม ส่วนด้านธุรกิจเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ปี 2559 ยังคงถือว่าใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
ผลประกอบการทางธุรกิจปี 2559 แยกตามภูมิภาค ตัวเลขเบื้องต้นสำหรับผลประกอบการในทวีปยุโรป แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางธุรกิจในเชิงบวกสำหรับกลุ่มบริษัทบ๊อชในปี 2559 ในภูมิภาคนี้ บ๊อชในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีและการบริการต่างๆ สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึงร้อยละ 3.4 (หรือร้อยละ 4.8 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) คิดเป็นยอดขายรวม 38.6 พันล้านยูโร
ในทวีปอเมริกาเหนือที่มียอดขาย 12.4 พันล้านยูโร ถือว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราที่ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 2 หรือร้อยละ 1.8 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในทวีปอเมริกาใต้ กลุ่มบริษัทบ๊อชมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน หากไม่ปรับผลกระทบ ยอดขายลดลงร้อยละ 5.7 เป็น 1.3 พันล้านยูโร สำหรับเอเชียแปซิฟิกรวมถึงแอฟริกา บ๊อชมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งพบว่าตัวเลขก่อนปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมีอัตราการเติบโตของยอดขายเท่ากับร้อยละ 8.1 หรือคิดเป็น 20.8 พันล้านยูโร
บุคลากรในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และเยอรมนี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มบริษัทบ๊อชทั่วโลกมีพนักงานรวม 390,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 คนในปี 2559 โดยมีการรับพนักงานใหม่ในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปกลางและตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในเยอรมนี มีพนักงานเพิ่มขึ้น 2,100 คน
สำหรับปี 2560 บ๊อชได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการเติบโตปานกลางที่ร้อยละ 2.3 ผู้ผลิตเทคโนโลยีและบริการต่างๆ อย่างบ๊อช ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงต่างๆ ทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยเด่นทางการเมืองในสหรัฐฯ และยุโรป ปี 2560 นี้ บ๊อชจึงยังคงมุ่งรักษาอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และมุ่งขยายตัวให้ได้เร็วกว่ากิจการอื่นในแต่ละตลาด บ๊อชต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและอัตราการทำกำไรของทุกภาคธุรกิจได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต