มิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส 2015 กระบะสมรรถนะสูง เปลี่ยนทุกความเชื่อ
มิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส ใหม่ ยอดรถกระบะที่พร้อมเปลี่ยนทุกความเชื่อ ทีมงานเช็คราคา.คอม นำมาทดสอบแล้วพบว่า เปี่ยมด้วยสมรรถนะรอบด้าน ให้ความคุ้มค่า และน่าใช้ รายละเอียดในด้านต่างๆ เป็นอย่างไรติดตามได้จากรีวิวด้านล่าง
เส้นทางการทดสอบ เริ่มจากที่ทำการเช็คราคา.คอม ย่านชิดลม มุ่งหน้าถนนพระราม 4 แล้วใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ 1 สู่ดินแดง เชื่อมต่อทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์จนถึงแยกเข้าถนนกาญจนภิเษก ทางหลวงหมายเลข 9 แล้วไปตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 347 ขับยาวจนถึงแยกวรเชษฐ์แล้วจึงตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 3263 ตรงเข้าสู่ ตำบลประตูชัย เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศเมืองกรุงเก่าด้วยรถกระบะมิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส เมก้าแค็บ ใหม่
การขับบนทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ด้วยความเร็วระดับ 160 กม./ชม.
นับเป็นความท้าทายในประสิทธิภาพของช่วงล่างและกล้องที่รอยิงจากด้านข้าง
บรรยากาศภายในสวนสมเด็จพระศรีนคริทร์ มีถนนตัดผ่านด้านใน
ซึ่งกว้างพอให้ได้ลองรัศมีวงเลี้ยวขนาด 5.9 ซึ่งกินพื้นที่ไหล่ถนนบ้าง
การเดินทางไปกับ ไทรทัน พลัส ใหม่ ให้ความมั่นใจในทุกเส้นทาง
ด้วยช่วงล่างทรงประสิทธิภาพโดยเฉพาะรุ่นเมก้าแค็บ ที่มีเหล็กกันโคลงขนาดใหญ่
แม้ขับในเมืองชั้นในที่ถนนหลายเส้นมักคับแคบและมีแยกย่อยเยอะ
แต่เมก้า แค็บ พลัส ให้มุมมองที่ดี สูงและกว้าง ขับง่ายกว่าที่คิด
การออกแบบภายนอก ดูล้ำสมัยในด้านหน้า แต่อาจแปลกในสายตาหลายคนนับตั้งแต่เปิดตัว สำหรับผู้เขียนการให้เวลาตกผลึกกับรูปลักษณ์ของ ไทรทัน ใหม่ ก็ทำให้เริ่มรู้สึกดูดีขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นรถที่มีรายละเอียดด้านหน้าไล่ตั้งแต่ฝากระโปรง ไฟหน้า กระจัง และกันชนหน้า โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะรุ่น
GLS NAVI ที่ไฟหน้าเป็นโปรเจคเตอร์แบบ HID
ด้านข้างแสดงให้เห็นถึงความยึดหยุ่นในการใช้งานตามสไตล์แค็บเปิดได้ ก้าวขึ้นง่ายด้วยบันไดข้างที่กว้าง
ไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบ HID ทำให้หน้าตาของ ไทรทัน ใหม่ ดูหรูหรา ล้ำสมัยขึ้น
ด้านหน้าดูนานๆ ลงตัวดี แม้หลายคนบอกว่ากระจังดูไม่สวย โดยรวมการออกแบบกันชนหน้ามีความดุดันและเส้นสายสวยงาม
กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว บนที่ครอบแบบโครเมียมสอดรับกับที่เปิดประตู-กุญแจอัจฉริยะ
ภายในห้องโดยสารกว้างนั่งสบายจริง โดยเฉพาะทรงเบาะที่โอบกระชับลำตัวกำลังดี ส่วนวัสดุภายในอาจดูธรรมดาไปนิดถ้ามองว่านี่คือรุ่นท็อปของเมก้าแค็บ ส่วนเบาะใช้ผ้าเกรดดีหุ่มเน้นโทนเข้มดูแลง่าย แต่วัสดุแผงข้างประตูและการออกแบบดูจืดไปนิดสำหรับผู้เขียน แต่ก็ทำความสะอาดง่าย คอนโซลตรงกลางมีจอทัชสกรีน ส่วนพวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชันหุ้มหนังนับเป็นจุดเด่นที่ช่วยให้ห้องโดยสารดูสปอร์ตและทันสมัยขึ้น ด้านหลังส่วนแค็บออกแบบพนักพิงเป็นผ้าลายเดียวกับเบาะคู่หน้ารองรับการติดตั้งเบาะเพิ่มเติม
ภายในเน้นวัสดุหุ้มเป็นผ้าเกรดดีนั่งสบาย
แป้นเกียร์แบบเกตไทป์เพื่อความแม่นยำ เสริมความหรูด้วยวัสดุสีเปียโนแบล็ค
แผงข้างประตูเป็นวัสดุพลาสติกขึ้นรูปสีอ่อนข้อดีคือ ช่วยให้ห้องโดยสารสว่างขึ้นและทำความสะอาดง่าย
ประตูแค็บยุคใหม่มีความอเนกประสงค์ขึ้น ใส่ขวดน้ำได้ และมีลำโพงฝังในตัวรองรับการอัพเกรดระบบเสียงภายในรถได้
SPECIFICATION - FAST FACTS
รุ่น | GLS NAVI AT | GLS MT |
แบบเครื่องยนต์ | ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว MIVEC VG เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ (4N15) | เบนซิน 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว (4G64) |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี) | 2,442 | 2,351 |
ระบบเกียร์ | อัตโนมัติ 5 สปีด พร้อมสปอร์ตโหมด | ธรรมดา 5 สปีด |
กำลังสูงสุด (PS) | 181 ที่ 3,500 รอบ/นาที | 128 ที่ 5,250 รอบ/นาที |
แรงบิดสูงสุด (Nm) | 430 ที่ 2,500 รอบ/นาที | 194 ที่ 4,000 รอบ/นาที |
ระบบขับเคลื่อน | ขับเคลื่อน 2 ล้อ | ขับเคลื่อน 2 ล้อ |
ไฟหน้า | โปรเจคเตอร์ HID | ฮาโลเจน มัลติรีเฟล็กเตอร์ |
ขนาดล้อ-ยาง | 245/65 R17 | 245/70 R16 |
การขับทดสอบเริ่มจากที่ทำการเช็คราคา ย่านชิดลม มุ่งหน้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ 1 บนถนนพระราม 4 มุ่งหน้าสู่ด่านดินแดง แล้วขับขึ้นทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ต่อจนสุดทาง ช่วงนี้สามารถลองอัตราเร่งและทำความเร็วสูงได้เป็นระยะ เพราะเส้นทางค่อนข้างเปิดโล่ง จากการลองเร่งช่วง 80 กม./ชม. โดยเดินคันเร่งขึ้นไปเรื่อยๆ แบบไม่รีบร้อน พบว่าแรงบิดที่ดีตั้งแต่รอบต่ำส่งตัวรถพุ่งไปข้างหน้าจนรู้สึกได้ตลอด เข็มความเร็วกวาดขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่เชื่องช้าจนถึง 160 กม./ชม. สร้างความประทับใจมาก เพราะเป็นช่วงความเร็วที่ใช้บ่อยในการขับทางไกล โดยเฉพาะการเร่งแซงรถช้า จากนั้นได้ลองเร่งความเร็วหลายช่วง เช่น 100 กม./ชม. และ 120 กม./ชม. ล้วนตอบสนองดีทุกย่านความเร็วอย่างไรก็ตามที่ระดับความเร็ว 160 - 170 กม./ชม. พบว่าสมรรถนะเครื่องยนต์ยังพาตัวถังไปได้อีก และช่วงล่างยังพอเอาอยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาทและทดสอบให้ตรงตามการใช้งานประเภทรถ ผู้เขียนจึงลดระดับความเร็วลงและใช้ความเร็วระดับ 100-120 กม./ชม. เป็นส่วนใหญ่
ภายในตัวเมืองอยุธยา ผู้เขียนได้ขับไปตามถนนย่อยต่างๆ มากมาย และพยายามเลาะเลี้ยวผ่านวัด โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยว เสมือนการใช้งานวันหยุดก็พบว่า ตัวรถเมก้าพลัสที่ยกสูง ให้มุมมองที่ดี ทำให้การเปลี่ยนเลนและเลี้ยวในเส้นทางคดเคี้ยวเป็นไปอย่างคล่องตัว การถอยหลังก็สะดวกกับกล้องมองหลัง ส่วนอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งเวลาติดไฟแดง เครื่องยนต์คลีนดีเซล ไมเวค ก็ตอบสนองได้อย่างฉับไว ให้น้ำหนักคันเร่งได้ง่าย ส่วนการเบรกก็ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและควบคุมพร้อมชะลอความเร็วได้ดั่งใจ แต่การเบรกที่ความเร็วต่ำจนหยุดนิ่งต้องเผื่อระยะไว้บ้าง ตามลักษณะของรถยกสูงที่มีโมเมนตัมเยอะ
การขับกลับบนทางหลวง 347 ที่เลนซ้ายมีพิ้นผิวถนนชำรุดเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนได้ลองขับผ่านพบว่าระบบกันสะเทือนสามารถเก็บอาการได้ดีอย่างน่าพอใจ ไม่สะเทือนมากถึงระดับรบกวนการขับ การเร่งความเร็วเพื่อแซงรถช้าที่มักวิ่งเลนขวายาว (พบเห็นได้บ่อยในบ้านเรา) แม้ต้องผ่านผิวทางแตกร่อนบ้าง แต่ตัวรถก็สามารถทะยานไปข้างหน้าได้อย่างเร้าใจ นอกจากนี้ยังได้ลองเปลี่ยนเลนกระทันหันหลายครั้งก็พบว่าตัวรถแทบไม่มีอาการเซ การยึดเกาะทำได้น่าพอใจเหนือมาตรฐานรถกระบะทั่วไป โดยรวมผู้เขียนคิดว่า ไทรทัน พลัส เมก้าแค็บ นอกจากตอบสนองการใช้งานหลักด้านบรรทุกได้ดีแล้ว ยังให้อารมณ์ขับเคลื่อนแบบสปอร์ตด้วย สมกับที่ใช้เครื่องยนต์ไมเวค คลีนดีเซล
ถ้าเลือกรถกระบะที่คุ้มค่าราคา ขับสนุก เครื่องยนต์เด่น ไทรทัน พลัส คือ ตัวเลือกลำดับต้นๆ ของผม
ด้วยระยะทางรวมทั้งหมด 341.5 กม. จากการขับทดสอบทั้งในและนอกเมือง พบว่าตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองแสดงผลบนหน้าจออยู่ที่ 10.7 กม./ลิตร ระดับน้ำมันจากเต็มถังเหลืออีกครึ่ง นับเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับการขับทดสอบครั้งนี้ เพราะมีการลองใช้อัตราเร่งแบบบ่อยครั้ง เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ความเร็วปกติตามการใช้งานทั่วไปตัวเลขน่าอยู่ที่ 14-15 กม./ลิตร
ภายในห้องโดยสารไทรทัน พลัส เด่นสุดด้วยหน้าจอสัมผัสพร้อมระบบนำทาง และสามารถเล่นแผ่นหนัง DVD รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ ส่วนระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติใช้งานง่าย ถัดลงมาเป็นแผงรวมสวิตช์ แต่มี่เพียงช่องต่อ USB เดี่ยว และไร้ช่องจ่ายกระแสไฟ 12 โวลต์ ในตำแหน่งที่คุ้นเคยด้านหน้า ซึ่งถูกย้ายไปซ่อนอยู่ภายในที่พักแขน ข้อดีคือ ถ้ามีการใช้งานเสียบชาร์จอุปกรณ์ ตัวปลั๊กต่อกับสายจะไม่เกะกะช่วงเกียร์ สำหรับรุ่นท็อป
GLS NAVI เน้นความสะดวกสบายขึ้นกับปุ่มสตาร์ท-สต็อป
กล่องใส่แว่น แต่ถ้าเป็นแว่นแพงมักไม่มีใครนิยมใช้
ปุ่มไฟฉุกเฉินอยู่ในตำแหน่งหลบสายตาและต่ำไปหน่อย
ช่องเสียบ USB หนึ่่งเดียวที่ดูโดดเดี่ยวจนรู้สึกแปลกกับความเป็นรุ่นท็อป
ปุ่มสตาร์ท-สต็อป ช่วยทำให้ภายในรุ่น GLS NAVI มีของดีเหนือคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน
ความปลอดภัยใน ไทรทัน ใหม่ นับว่าครบครันเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกันที่ราคาแพงกว่าหน่อย โดยมีจุดเด่นที่โครงสร้างนิรภัยเหล็กกล้า (SUPER FRAME) ที่มิตซูบิชิบอกว่า สามารถปกป้องห้องโดยสารให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เมื่อทำงานผสานกับช่วงล่างที่เสริมด้วยเหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ จึงช่วยให้การเกาะถนนดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยเหลือสำคัญต่างๆ เช่น ระบบกุญแจป้องกันการโจรกรรม (Immobilizer) / ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Lights) / ไฟตัดหมอกหน้า / ไฟเบรกดวงที่ 3 / ไล่ฝ้ากระจกหลังพร้อมระบบตัดการทำงานอัตโนมัติ / กล้องมองหลัง / ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก ABS / ระบบกระจายแรงเบรก EBD / คานเหล็กนิรภัยบริเวณประตู / ระบบถุงลมเสริมความปลอดภัยด้านผู้ขับและผู้โดยสาร ทั้งหมดช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ดีตามมาตรฐานรถกระบะยุคนี้
กล้องมองหลังช่วยได้มากขณะถอยจอด โดยเฉพาะรถยกสูงนับเป็นสิ่งจำเป็น
ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
การปรับโฉมใหม่หมดของ
มิตซูบิชิ ไทรทัน โดดเด่นที่การใช้เครื่องยนต์ไมเวค คลีนดีเซล และโครงสร้างนิรภัยเหล็กกล้า Super Frame การออกแบบภายนอกดูล้ำสมัยแต่ยังแปลกตาสำหรับบางคน ส่วนภายในดูสปอร์ตเรียบขรึมด้วยการใช้โทนเข้ม ตัวเบาะออกแบบได้นั่งสบายกระชับ สำหรับผู้เขียนประทับใจกับสมรรถนะเครื่องยนต์ที่ให้แรงบิดดีตั้งแต่รอบต่ำ อัตราเร่งก็ดีมากจนขับสนุก โดยรวมนับว่ามีโหวงเฮ้งดี สำหรับรุ่นท็อปของตัวถังเมก้าพลัส
GLS NAVI ที่นำมาทดสอบ ราคา 818,000 บาท นับว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้เหนือคู่แข่งระดับเดียวกัน เช่น ไฟหน้าโปรเจคเตอร์ HID, ปุ่มสตาร์ท-สต็อป อย่างไรก็ตาม ไทรทัน พลัส อาจไม่ใช่รถที่ใครเห็นแล้วชอบพร้อมซื้อทันที แต่ถ้าได้ลองขับแล้วผู้เขียนเชื่่อว่าจะต้องประทับใจและจัดเป็นตัวเลือกสำคัญรุ่นหนึ่ง