ช่วงนี้ก็ใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันอีกครั้งแล้วนะครับ โดยจะเลือกกันในวันที่ 3 มีนาคม 2556 ปีนี้มีผู้สมัครจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ และผู้สมัครอิสระรวมแล้วมากถึง 25 คน ชาว Checkraka.com ท่านใดที่มีสิทธิเลือกตั้งก็อย่าลืมไปตรวจสอบสิทธิ และใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้กันด้วยนะครับ
เอาละครับ มาเข้าประเด็นที่เราจะนำเสนอกันดีกว่ากับ 10 อันดับรถที่ผู้สมัครผู้ว่ากทม.นิยมใช้ในการหาเสียงปีนี้ครับ
1. รถขยะ
นับเป็นเรื่องคนที่พูดถึงมากที่สุดสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากมีผู้สมัครผู้ว่ากทม. ท่านหนึ่งหาเสียงแบบ "ถึงลูกถึงคน" ด้วยการปีนขึ้นไปโหนรถขยะหาเสียง รวมถึงคัดแยกขยะด้วยตัวเอง เพื่อเข้าใจถึงการทำงานของกลุ่มคนในหลากหลายอาชีพ ทั้งพนักงานเก็บขยะ และพนักงานขับรถขยะ
2. รถเมล์
ในปีนี้ผู้สมัครผู้ว่ากทม.หลายๆ ท่าน ใช้รถเมล์เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงกันมากมาย มีทั้งรถเมล์ฟรี (ทั้งแบบไม่ปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ) หรือราคาเดียวตลอดทั้งสาย เป็นต้น สีสันของการหาเสียงในปีนี้คงอยู่ที่ผู้สมัครบางคนมาลองขับรถเมล์ หรือไม่ก็นั่งรถเมล์หาเสียงไปพร้อมๆ กับผู้โดยสารเลยทีเดียว
3. จักรยาน
นับตั้งแต่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับปัญหารถติด ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่เกิดความเบื่อหน่ายในสภาพการจราจรของกรุงเทพ หันมาใช้จักรยานในการเดินทาง ที่ช่วยทั้งประหยัดน้ำมัน และได้ออกกำลังกายไปในตัว ปีนี้จึงผู้สมัครหลายๆ คนที่ให้ความสนใจไปที่กลุ่มคนใช้จักรยาน อย่างที่เราได้เห็นกันตามสื่อที่ผู้สมัครบางคนมาขี่จักรยานหาเสียงกันด้วย
4. รถไฟฟ้า BTS / รถไฟใต้ดิน MRT
สิ่งสำคัญในการเดินทางของคนเมืองยุคปัจจุบันที่ทั้งสะดวก และรวดเร็ว นั่นคือรถไฟฟ้า BTS และ MRT ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการที่จะสร้างรถไฟฟ้ากันอยู่หลายสาย ทั้งที่กำลังสร้าง หรืออยู่ในระหว่างรอประมูล เช่น โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน , โครงการรถไฟฟ้า (สายสีน้ำเงิน) ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค โครงการรถไฟฟ้า (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ (สถานีคลองบางไผ่) เป็นต้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามักเป็นเรื่องที่ผู้สมัครหลายๆ คนนำมาเป็นนโยบายในการหาเสียงทั้งเรื่องการลดราคา หรือราคาเดียวตลอดสาย แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ได้นั้นก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป
5. มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
แม้ว่าเหล่าผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับข้างส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด แต่ก็มีไม่น้อยที่ลงหลักปักฐานอยู่ในกรุงเทพฯ แบบถาวร มอเตอร์ไซค์รับจ้างนับเป็นขนส่งมวลชนรูปแบบหนึ่งที่ชาวกรุงเทพต้องใช้เดินทางเป็นประจำ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยที่รถยนต์เข้าออกไม่สะดวก มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นอีกทางหนึ่งในการไปถึงที่หมายอย่างรวดเร็วในชั่วโมงเร่งด่วน กรุงเทพฯจึงมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างประมาณ 300,000 คัน หรือราวๆ 4,400 วิน ทุกๆ ปี เราจะเห็นได้ว่าผู้สมัครหลายๆ คนมักจะให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ และมาหาเสียงกับชาววินมอเตอร์ไซค์อยู่เสมอ
6. รถโฟล์คตู้ คาราเวล
สุดยอดรถตู้ยอดนิยมของเหล่าบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจ ที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนาน คือ คาราเวล แม้แต่ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ก็ยังต้องหาซื้อมาใช้งาน จากการทำตลาดในประเทศไทยมานานเกือบ 30 ปี ทำให้รถโฟล์คตู้ ได้รับความไว้วางใจจากเหล่านักธุรกิจและนักการเมืองมากมาย ปัจจุบันมีวิ่งในประเทศไทยประมาณ 5,000-6,000 คัน รุ่นใหม่ล่าสุดคือคาราเวล 2.0 BiTDi ภายในที่ลงตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบความปลอดภัยครบครัน เบาะตอนหลังแบบ 5 ที่นั่ง สามารถปรับ-เปลี่ยน-หมุนได้ตามต้องการด้วยระบบไฟฟ้า และวัสดุที่ประกอบอย่างประณีต เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล 2.0 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว เทอร์โบ 180 แรงม้า เกียร์อัจฉริยะดูอัลคลัตช์ DSG 7 จังหวะ ราคา 3,350,000-3,450,000 บาท
7. ตุ๊กตุ๊ก
สำหรับรถตุ๊กตุ๊ก หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า "รถสามล้อเครื่อง" นั้นเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกปี พ.ศ. 2503 เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ในช่วงแรกเป็นการนำเข้ารถไดฮัทสุ มิทเจ็ตจากญี่ปุ่น ภายหลังที่ญี่ปุ่นเลิกผลิต คนไทยก็หันมาออกแบบและดัดแปลงตัวถังทำขึ้นเองจนกลายเป็นสัญลักษณ์กรุงเทพฯ ไปแล้ว สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ครั้งนี้ รถตุ๊กตุ๊กก็เป็นหนึ่งในการสร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน
8. รถแท็กซี่
ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีแท็กซี่วิ่งอยู่ในระบบประมาณ 105,000 คัน แต่วิ่งให้บริการจริงประมาณ 80,000 คัน กลุ่มคนขับแท็กซี่นั้นถือว่าเป็นฐานเสียงใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ในปีนี้ก็เช่นกันที่ผู้สมัครหลายๆ คนจะมาหาเสียงกับคนขับแท็กซี่ให้เราได้เห็นกัน
9. รถกระบะ
สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้สมัครผู้ว่ากทม.เกือบทุกคนเลยก็ว่าได้ นั่นคือ "รถหาเสียง" ที่ต้องติดป้ายพร้อมตัวเลขใหญ่ๆ วิ่งกระจายไปในที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งเปิดเพลงหาเสียง เปิดสปอตโฆษณา ประกาศนโยบายไปด้วย ถือเป็นการสร้างรายได้อย่างหนึ่ง ให้ชาวบ้านที่รับจ้างขับรถกระบะไปในตัว ข้อดีของรถกระบะก็คือสะดวกต่อการหาเสียงในตรอกซอยหรือแหล่งชุมชนได้เป็นอย่างดี
10. รถบรรทุก
นอกจากรถกระบะที่นำมาหาเสียงแล้ว ผู้สมัครบางคนก็เลือกที่จะใช้ รถบรรทุกเพื่อมาหาเสียงด้วยเช่นกัน วิธีในการหาเสียงไม่ต่างกับจากรถกระบะมากนัก คือ ติดป้ายหาเสียง หมายเลขของผู้สมัคร พร้อมประกาศนโยบายไปในตัว แต่อาจจะดีกว่ารถกระบะหน่อยตรงที่เวลาไปปราศรัยที่ไหนก็สามารถขนทีมงานไปได้มากกว่า อีกทั้งยังโดดเด่นสะดุดตายามอยู่บนท้องถนนด้วย