ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

x
icon-filter ค้นหารถยนต์
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

การเลือกซื้อรถใหม่อย่างชาญฉลาด

icon 13 ต.ค. 58 icon 1,275,817
การเลือกซื้อรถใหม่อย่างชาญฉลาด


การเลือกซื้อรถใหม่อย่างชาญฉลาด
กว่าจะเก็บเงินซื้อรถป้ายแดงได้ซักคัน บางคนต้องทำงานแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ใช้เวลากันครึ่งชีวิตเลยก็มี เพราะฉะนั้นต้องรอบคอบ คัดสรรรอย่างพิถีพิถัน จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายเงิน เสียดายเวลา ในภายหลัง นอกจากจะค้นหารถยนต์ที่ตรงกับความต้องการของเราแล้ว คุณควรคำนึงในหลายๆ สิ่ง อาทิ งบประมาณ ค่าใช้จ่าย ยี่ห้อรถ คุณภาพ บริการหลังการขาย ฯลฯ ตราบใดที่ "เงินยังอยู่ในมือเรา เราคือพระเจ้า" บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อแนะนำท่านผู้อ่านไว้เป็นแนวทางในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถป้ายแดงกัน
สิ่งแรกที่คุณจะต้องเตรียมตัวก่อนซื้อรถ คือ การถามตัวเองก่อนว่าจำเป็นต้องใช้รถป้ายแดงมากน้อยแค่ไหน หรือแค่เห็นว่ารถรุ่นนี้สวย เท่ หรืออยากขับรถป้ายแดง ไปอวดสาว อวดหน้าตาของตัวเองในสังคม  การซื้อรถบางทีก็อย่าเห่อไป "ตามกระแส" หรือ "เชื่อโฆษณา" ว่า รถรุ่นนี้มีคนใช้เยอะ ยอดขายเป็นอันดับ 1 เอาพรีเซ็นเตอร์สวยๆ หล่อๆ มาโฆษณา ใครไม่ใช้รถรุ่นนี้เชยแน่ ฯลฯ เพราะโฆษณาย่อมเสนอแต่ด้านที่ดีเพียงด้านเดียวแก่ผู้บริโภค ขอให้เน้นที่ "ความต้องการ" และ "ความเหมาะสมในการใช้งาน" น่าจะดีกว่า เพราะความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และความชอบของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน รถแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ก็มีข้อดี มีข้อเสียไม่เหมือนกัน รถคันที่คุณอาจจะบอกว่าดี แต่อีกคนอาจจะเฉยๆ หรือบอกว่าไม่ดีก็เป็นได้ บางคนอาจจะชอบรถในสไตล์ที่ประหยัด แบบ ECO-CAR ชอบในสไตล์สปอร์ต เน้นพลังเครื่องยนต์แรงๆ หรือเน้นรถแบบครอบครัว ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และใช้ในยามไปเที่ยว หรือบางคนก็ใช้รถเพื่อการขับไปทำงาน หรือขับหาเงินอย่างเดียว ไม่ต้องอะไรมาก ซึ่งในตลาดรถยนต์เองก็มีแบ่งรถออกเป็นหลายประเภท เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าในประเภทต่างๆ

1. หาข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่ท่านสนใจ
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของรถยนต์ สามารถหาได้จากแคตตาล็อก โบรชัวร์รถ นิตยสารรถ หรือเข้าไปดูตามโชว์รูมรถ หรือง่ายที่สุด เปิดอินเตอร์เน็ต เข้าเว็บไซต์ของบริษัทรถต่างๆ หรือตามเว็บบอร์ดของคลับรถต่างๆ ที่ผู้ใช้รถรุ่นนั้นๆ มีความเห็นอย่างไรบ้าง และอีกหลายช่องทาง สิ่งที่ท่านต้องให้ความสนใจอาจเป็นเรื่องความสะดวกสบายในการขับขี่ เมื่อเราเข้าไปทดลองนั่ง ดูว่าลงตัวมั้ย นั่งด้านหลังนั่งสบาย เข้า-ออกลำบากมั้ย อุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ที่มีมาให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปหรือเปล่า สมรรถนะเครื่องยนต์ อัตราเร่งต่างๆ การประหยัดน้ำมันโดยประมาณ ขณะขับขี่ในเมือง และนอกเมืองที่บริษัทรถยนต์อ้างอิง ให้ดู และเปรียบเทียบข้อมูลหลายๆ อย่างที่กล่าวมาจากรถหลายๆ รุ่นในกลุ่มเดียวกัน แล้วค่อยมาตัดสินใจเลือกกันอีกทีว่า ตัวเองชอบแบบนี้ อย่าได้เชื่อไปทั้งหมดเสียทีเดียว
2. งบประมาณ
เป็นสิ่งสำคัญมาก หากคุณคิดจะซื้อรถสักคัน เพราะ "เงิน" คือ ตัวกำหนดว่าคุณควรจะซื้อรถแบบใด บางคนเกิดมายังไม่เคยมีรถ เพิ่งเรียนจบทำงานใหม่ๆ เห็นโครงการรถคันแรก ได้เงินคืน อยากจะซื้อรถใหม่ แต่ผู้ใหญ่อาจจะบอกว่า หากจะลงทุนซื้อทรัพย์สินชิ้นแรกในชีวิต ควรจะซื้อบ้านมากกว่าซื้อรถ เพราะบ้านนอกจากจะเป็นที่พักอาศัยแล้ว ยังให้ความรู้สึกมั่นคงในชีวิต เวลาออมหรือเก็บเงิน หรือชำระเงินค่าผ่อนบ้านนั้น เสมือนหยอดกระปุกออมสินที่มีขนาดเท่าบ้านเลย แต่ชีวิตหลายๆ คน "รถ" ก็คือสิ่งที่จำเป็น เพราะต้องใช้ทำมาหากิน ใช้หางานหาลูกค้า เพื่อเอา "เงิน" มาผ่อนรถ ถึงรถราคาจะตกลง แถมมีแต่รายจ่าย แต่ก่อนที่คุณจะซื้อรถป้ายแดงนั้น หากสภาพคล่องทางการเงินเรายังไม่อิสระ อย่างน้อยต้องมีเงินเก็บเพียงพอที่จะจ่ายเงินดาวน์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 15-25% ของราคารถ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรถประเภทไหน ราคาเท่าไหร่ และจะผ่อนนานแค่ไหน ถ้าวางเงินดาวน์มาก อัตราดอกเบี้ยก็จะต่ำหน่อย หากวางเงินดาวน์น้อย อัตราดอกเบี้ยก็สูงขึ้น ดังนั้น ควรเลือกรถให้เหมาะสมกับงบประมาณที่เรามี สมมุติเงินเดือนสองหมื่น แต่ซื้อรถคันละล้านกว่าบาท แบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน รายรับน้อย แต่รายจ่ายหนัก
ที่สำคัญ คุณควรคิดเผื่อในระยะยาวด้วย เพราะระยะเวลาผ่อนยาวประมาณ 3-4 ปี บางคนก็นานถึง 7-8 ปี คุณต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่าย 2 เท่า จะได้ไม่ต้องเหนื่อย และเครียดในการหมุนเงิน ถ้าจะซื้อรถแบบเงินผ่อน ในปัจจุบันมีให้เลือกผ่อนกันตั้งแต่ 12 เดือนไปจนถึง 84 เดือน สามารถเลือกผ่อนได้ตามกำลังทรัพย์ และความสามารถ นอกจากนี้คุณยังต้องมีรายจ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าดอกเบี้ย ค่าภาษีรถ ค่าประกันรถยนต์ที่ต้องจ่ายทุกปี ค่าซ่อมแซม ถึงจะเป็นรถใหม่ เช็คศูนย์ก็ต้องใช้เงิน ค่าน้ำมันที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ประมาณรายจ่ายต่อเดือนแล้วนำมาคำนวณ จะได้บริหารทางการเงินได้อย่างมีความสุข อีกอย่าง ยี่ห้อรถและราคาขายต่อ รถบางรุ่นราคาแพงตอนซื้อ แต่พอคิดจะขาย ราคากลับราคาตกอย่างไม่น่าเชื่อ จริงๆ แล้วเรื่องราคาขายต่อนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ราคาตก ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่สภาพหรือสมรรถนะของรถเท่านั้น แต่เกี่ยวกับเรื่องของกระแสความนิยม ความดัง สัญชาติของรถยี่ห้อนั้น จำนวนศูนย์บริการ ราคาอะไหล่ ความจุกจิกในการใช้งาน รูปลักษณ์ จำนวนคนที่รอซื้อต่อ หรือความยากในการขายต่อ รวมถึงการล้มหายไปของบางยี่ห้อ ฯลฯ มีผลกับราคาขายต่อทั้งสิ้น

3. การทดลองขับ
ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ยี่ห้อใดที่คุณมองดูหรือกำลังจะตัดสินใจซื้อ ต้องได้ทดลองขับก่อนการตัดสินใจซื้อรถยนต์ เพราะเวลาคุณใช้ชีวิตอยู่ในรถยนต์ ความสะดวกสบายและสมรรถนะการขับขี่ สมรรถนะทัศนวิสัยการขับขี่เข้ากับเราไหม เพราะบางอย่างอาจจะไม่เหมือนกับที่ในโฆษณาไว้เสมอไป
หากคุณได้มีโอกาสไปทดลองขับรถใหม่ ขณะขับขี่ควรปฏิบัติและสังเกตดังนี้ (หลักการนี้ ใช้ได้ทั้งรถใหม่และรถมือสอง)
  • ทดลองปรับเบาะนั่ง ปรับให้หมาะสมกับขนาดตัวที่เรานั่ง ปรับเข็มขัดนิรภัย พนักพิงศีรษะ ดูว่ากระชับหรือไม่ ระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ใช้ได้ปกติหรือไม่ เวลาขับ ไม่ควรเปิดวิทยุ จะได้ฟังเสียงเครื่องยนต์ในขณะขับขี่ว่าเป็นอย่างไร ดังหรือเงียบไหม หลังจากนั้นก็เปิดวิทยุเพื่อฟังคุณภาพเสียง 
  • เข้าเกียร์ขึ้น-ลง (รถ 4X4 ก็ควรลองเข้าเกียร์ขับ 4 ด้วย) ลองเหยียบแป้นคลัตช์ เบรก คันเร่ง ดูว่ากระชับไหม 
  • จอดรถเทียบข้างถนน เพื่อเช็คดูว่ามีความยากง่าย หรือจุดบอดใดหรือไม่ 
  • สตาร์ทเครื่อง แล้วฟังดูว่ามีเสียงเครื่องกระตุกหรือไม่ แล้วจึงทำการเหยียบเร่งเครื่องอย่างช้าๆ เพื่อฟังเสียงเครื่องอีกครั้ง ในระหว่างที่กำลังเร่งเครื่องอยู่นั้นให้เช็คอีกทีว่า มีลมออกจากช่องแอร์อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า และฟังเสียงที่เล็ดลอดมาในรถเพื่อตรวจสอบรอยต่อ ของกระจก และประตูด้วย 
  • หลังจากที่ขับไปสักพัก ให้ทำการทดลองขับผ่านทางชัน ด้วยความเร็วต่ำ ( ประมาณ 20 กม./ชม.) ก่อน 1 รอบ และ ความเร็วระดับปานกลาง ( ประมาณ 45 กม./ชม.) อีก 1 รอบ ในระหว่างที่ขับผ่านทางชันให้ลองฟังเสียงของช่วงล่าง เพื่อเช็คความสมบูรณ์ของข้อต่อต่างๆ โดยให้ทดลองขับดูทั้งในทางเรียบ และทางขรุขระ หากมีโอกาสทดสอบระบบเบรกด้วยก็ดี

ข้อดีของรถใหม่
  • สามารถเลือกสี การตกแต่ง และรูปแบบได้ตามต้องการ และตามกำลังเงินของคุณ 
  • ไว้วางใจได้ และมีประกันภัยคุ้มครอง 
  • สภาพและราคาง่ายต่อการตัดสินใจ 
  • ผู้ขายจะมีการจัดหาสถาบันทางการเงิน ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าคุณหาเอง หรือบางยี่ห้ออาจไม่เสียดอกเบี้ยเลย 
  • มีประกันหลังการขาย และบริการจากผู้ชำนาญงาน
ทางที่ดีหากคุณไปทดลองรถเพื่อที่จะตัดสินใจซื้อ ควรพาครอบครัวไปพร้อมกัน เพราะการที่ครอบครัวคุณได้มาลองนั่งรถที่จะซื้อ ทั้งด้านหน้าและหลัง จะได้ดูว่านั่งแล้ว สบายเนื้อสบายตัวหรือไม่ และจะได้ช่วยกันดู ช่วยตัดสินใจได้อีกทางหนึ่งด้วย
สถานที่เลือกดูรถ ควรเลือกซื้อกับผู้แทนจำหน่ายรถที่ได้มาตรฐาน หรือได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการกับบริษัทผู้ผลิตจำหน่าย เพื่อที่ว่าจะได้รถยนต์คันที่มีคุณภาพ มีการรับประกันมาจากโรงงาน และหากเกิดปัญหาในภายหลังก็สามารถเคลมได้ ในส่วนของรถเกรย์ มาร์เก็ต (Grey Market) ก็ควรที่จะเลือกซื้อกับผู้แทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ นำเข้ารถยนต์มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย มีสต๊อกอะไหล่ไว้เพียงพอต่อการให้บริการ เพราะบรรดารถที่เกรย์ มาร์เก็ตสั่งเข้ามาสารพัดเจ้านั้น ไม่ได้เป็นรถที่ผลิตสำหรับสเปคประเทศไทย หรือนำเข้าจากบริษัทแม่ สเปคต่างๆ อาจจะไม่เหมือน หรือไม่เหมาะสมที่จะใช้ในบ้านเราอย่างที่มีผู้ผลิตหลายๆ รายออกมาแถลงไม่รับซ่อมรถที่นำเข้าจากผู้จำหน่ายอิสระเหล่านี้ แม้ว่าเกรย์ มารเก็ตหลายๆ เจ้าจะนำเข้ารถที่มีออปชั่นมากกว่า ราคาถูกกว่าผู้จำหน่าย แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ทั้งเรื่องการซ่อมบำรุงหลังการขาย ช่าง หรืออุปกรณ์ต่างๆ เมื่อเทียบกับบริษัทแม่ที่นำรถเข้ามาขายโดยตรง
แต่ผู้บริโภคเองก็ย่อมมีสิทธิ์เลือกได้ เป็นการแข่งขันกันในตลาด ถ้าคุณต้องการจะซื้อรถยุโรป จาก Grey Market ขอแนะนำว่า ให้ซื้อกับบริษัทแม่เลยจะดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น
ข้อพึงระวังในการซื้อรถใหม่

การเจรจาต่อรองเงื่อนไขพิเศษในการซื้อรถยนต์
การเจรจาต่อรอง บางทีก็เป็นเรื่องง่าย และก็เป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน คุณควรเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ก่อนการจะไปเจรจาต่อรองซื้อรถยนต์ เพื่อประโยชน์สูงสุดกับตัวท่านเอง วิธีง่ายๆ เช่น ศึกษารถรุ่นที่เราต้องการจะซื้อ ข้อมูลต่างๆ (ค้นหาในเว็บ "เช็คราคา.คอม" ที่มีทั้งข่าวสาร ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของรถทุกรุ่นที่มีขายในปัจจุบัน ค้นหาราคารถยนต์ที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะเรา Update ทันทีหลังจากมีการเปิดตัวรถใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยี่ห้ออะไรก็ตาม) บรรดาเซลล์ขายรถส่วนใหญ่นั้นมีทักษะทางการพูดอยู่แล้ว มีการอบรมเทคนิคทางการพูดในเวลาขายของอยู่เสมอ ดั้งนั้นก่อนตกลงจะซื้อรถกับคนขาย หากคุณรู้สึกอึดอัด ก็พยายามป้องกันตัวเองจากโน้มน้าวของคนขาย อย่าเชื่อหรือคล้อยตามเซลล์ผู้ขาย และอย่าแสดงอาการว่าอยากได้รถรุ่นนี้จนเกิดเหตุ เพราะเซลล์อาจจับไต๋เราได้ หากคุณเจอเซลล์ขายรถที่อาจจะไม่ลดราคา หรือแถมของแถมที่คุณต้องการให้ ขอให้คุณทำใจแข็งๆ แล้วแกล้งเดินออกจากโชว์รูมไปไว้หน่อย แค่นี้คุณก็ได้ประโยชน์แล้ว แต่ทางที่ดี ชวนเพื่อนไปดูรถด้วย จะไปมีคนช่วยดู และช่วยพูดได้อีกทางหนึ่ง
ในกรณีที่ซื้อคุณจะซื้อรถเงินผ่อน สิ่งที่ท่านต้องพิจารณาคือเงินดาวน์ จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ และดอกเบี้ย อย่าเชื่อว่าดอกเบี้ยที่เซลล์ขายรถบอกคุณจะถูกต้อง คุณควรจะคำนวณด้วยตนเองหรือไม่ก็ให้บริษัทที่จัดไฟแนนซ์ยืนยันอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง เพราะว่าส่วนต่างแค่จุดทศนิยมจะเพิ่มภาระในการผ่อนชำระค่างวดของคุณ ในการต่อรองควรสอบถามเรื่องของแถม (ฟิล์มกรองแสงระบุยี่ห้อ, พ่นกันสนิม, กรอบป้ายทะเบียน, น้ำหอมติดรถยนต์, พรมปูรถ, เบาะหนังแท้ หรือของแถมอื่นๆ) ควรสอบถามเรื่องค่าดำเนินการในการจดทะเบียนรถยนต์และประกันภัยในวันออกรถยนต์ คุณอาจได้รับค่าจดทะเบียนและประกันชั้นหนึ่งฟรี และอย่าลืมให้พนักงานขายบันทึกข้อตกลงและของแถมทุกอย่างไว้ในใบจองรถยนต์นะครับ

การจองรถ
ในใบจอง ควรระบุข้อมูลที่ชัดเจนถึงวันรับรถ และของแถมที่ได้รับทั้งหมด (ระบุด้วยว่าเป็นของแท้ หรือเทียม) รวมถึงส่วนลดเงินสด ซึ่งถ้าขาดอะไรไป จะทำให้เซลล์แกล้งลืมของคุณได้ เซลล์หลายๆ คนจะไม่เขียนส่วนลดลงในใบจอง ก็ให้ระวังไว้ เพราะถ้าเซลล์บอกว่า ไม่ได้ให้ส่วนลด คุณจะเสียเปรียบ เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ ว่าคุณได้ส่วนลดกี่บาท ดังนั้นให้เซลล์เขียนรายละเอียดทั้งหมดลงไป เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในอนาคต ที่สำคัญต้องระวังใบจอง ปลอมแปลงที่ไม่ใช่เป็นใบจองจากศูนย์โดยตรง และถึงเป็นจากศูนย์ก็เป็นใบจองเก่า ที่ไม่ได้รันเลขไว้แล้ว
ตัวอย่างใบจองรถยนต์
Margin และของแถม
การซื้อรถใหม่ต้องใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ เพราะบรรดาเซลล์จะวิ่งเข้ามาหาคุณเอง ก่อนอื่นต้องตรวจสอบ Margin (Margin คือ ส่วนลดที่ทางบริษัทให้ส่วนลดเราได้ ซึ่งของแถมต่างๆ จะมีมูลค่าโดยรวม ที่เซลล์ให้ลูกค้าได้) ซึ่งสามารถหาดูตามเว็บไซต์คลับรถยนต์ หรือเว็บบอร์ดต่างๆ หรือตามศูนย์รถยนต์ได้ หรือเปรียบเทียบกับเซลล์โชว์รูมอื่นๆ แต่ส่วนมากจะไม่มีใครบอกกัน เซลล์บางคนอาจจะให้ของแถมเยอะ แต่เซลล์บางคนอาจจะคุยง่าย แต่ให้ของแถมน้อย ถ้ารถรุ่นไหนมีใน Stock เยอะส่วนลดก็จะเยอะ (ส่วนใหญ่มักจะเป็นรถที่ใกล้ตกรุ่นแล้ว พยายามระบายของเก่าออกในสต๊อกให้หมด) เซลล์บางคนก็ใจดี ให้ส่วนลด หรือของแถมนู่นนี่เพิ่มอีกได้ (แต่ของที่แถมมา ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยดีซะเท่าไหร่) ข้อควรระวัง คือ ของแถมที่แถมมาให้เป็นของแท้หรือของเทียม ควรระบุกันให้แน่ชัด และเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในใบจอง เพื่อป้องกันการมีปัญหาในภายหลังได้ ทางที่ดีควรขอส่วนลดเป็นเงินสดน่าจะดีกว่า ส่วนพวกอุปกรณ์ของแถมเราสามารถไปหาซื้อเองตามที่ต้องการได้
ดอกเบี้ยกับเงินผ่อน
การที่เราผ่อนรถกับธนาคาร หรือไฟแนนซ์ ต้องมีดอกเบี้ยแน่นอน ไม่มีแห่งไหนให้ดอกเบี้ย 0% กันตลอดไป จะมีแค่ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้เท่านั้น หากลูกค้าจ่ายเงินตรงกำหนด และเสี่ยงกับหนี้สูญมากๆ ดังนั้นการที่เราเห็นดอกเบี้ย 0% ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารหรือไฟแนนซ์ให้ดอกแค่ 0% แต่ที่มันเป็น 0% ได้ เพราะดอกเบี้ยเป็นส่วนที่เราสามารถต่อรองได้ แต่ก็หักจาก Margin ในการที่เขาให้ส่วนลดคุณไม่หมด เงินส่วนต่างที่เหลือของ Margin ก็จะนำไปทบจ่ายดอกเบี้ยให้คุณ เลยดูเหมือนว่าคุณได้ดอกเบี้ย 0% ตลอดนั่นเอง ดังนั้นบางทีการซื้อผ่อน อาจจะได้ส่วนลดมากกว่า บางครั้ง เซลล์ได้บวกดอกเบี้ยส่วนเพิ่มเข้าไป ซึ่งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั้น บริษัทไฟแนนซ์จะให้ส่วนต่างกับเซลล์อีกครั้ง ดังนั้นควรตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยดีๆ ก่อนเซ็นสัญญา ไม่ว่าจะดาวน์เยอะดาวน์น้อย ก็สามารถหาดอกเบี้ยที่ถูกใจได้ครับ
การรับรถใหม่
การรับรถใหม่ที่ดีนั้น ต้อง "ห้ามเซ็นชื่อรับรถล่วงหน้าเด็ดขาด" เพราะเรายังไม่ได้เห็นว่ารถที่เรารับสภาพจะเป็นอย่างไร อย่าคิดว่ารถป้ายแดงต้องอยู่ในสภาพใหม่เสมออย่างที่เข้าใจ การตรวจรับรถใหม่ควรทำกันในลานโล่งๆ มีแดด ขั้นตอนการรับรถใหม่ก็จะคล้ายๆ กับการดูรถมือสอง นั่นคือ ดูสีรถให้รอบทั้งคัน ตั้งแต่ด้านหน้าไล่ไปจนถึงด้านหลัง ดูเหลี่ยมดูเงา มีรอยขีดข่วนหรือเปล่า อาจมีสีเพี้ยน สีถลอกที่เกิดจากการขนส่งก็เป็นได้ ดูชายล่าง ฝากระโปรงหน้า-หลัง ขอบกันชน โดยเฉพาะขอบกันชนกับชุดไฟ ดูว่าช่องห่างนั้นเสมอกันหรือไม่ แล้วองค์ประกอบภายนอกอื่นๆ โดยรวม หากเป็นไปได้ ควรมีผู้ติดตามเพื่อช่วยกันตรวจสอบ หลังจากนั้นมาดูที่ห้องโดยสาร เปิดประตูรถทุกบาน ดูที่ขอบประตู แผงข้างต้องเรียบร้อยไม่มีร่องรอยการงัด การถอด หรือแกะพลาสติกออก เบานั่งหุ้มพลาสติก พรมปูพื้นครบ ลองหมุน เปิด/ปิด สวิตซ์ต่างๆ ทั้งแอร์ วิทยุ CD ฯลฯ ทุกอย่างภายในรถดู แล้วก็จัดแจงติดเครื่องโดยบิดกุญแจสตาร์ทมาที่ On ก่อนเพื่อดูว่าไฟเตือนและสัญญาณต่างๆ บนแผงหน้าปัดขึ้นมาครบหรือไม่ หากสงสัยอะไรก็ให้ถามเซลล์ หรือผู้จัดการโชว์รูมได้เลย พอผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว ก็ลองขับ แล้วขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรถของคุณทุกอย่าง (ใบเสร็จ, ใบรับรถ, ใบตรวจสอบรถ, ใบกรมธรรม์ประกันภัย, เอกสารพรบ. และอื่นๆ) แล้วก็เซ็นชื่อรับรถ เพราะถือว่าเราได้ตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนการรับรถเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนการตรวจรับรถใหม่ป้ายแดง

หลังจากได้รถป้ายแดงมาแล้ว ควรใช้งานอย่างไร
หลายคนอาจเข้าใจว่า ป้ายแดง ที่มีไว้สำหรับติดในรถใหม่เอี่ยม ซึ่งอยู่ในช่วงรอจดทะเบียนเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนจริง แต่ในความเป็นจริง รถป้ายแดงก็สามารถติดได้ในรถเก่า หรือรถจดประกอบที่รอจดทะเบียนด้วยเช่นกัน โดยป้ายแดงที่ถูกกฎหมาย ต้องออกจากทางราชการ ทุกป้ายต้องมีตัวย่อนูน "ขส" บริเวณมุมล่างด้านขวา 2 แผ่นสำหรับติดรถด้านหน้า-หลัง และสมุดคู่มือฯ อีก 1 เล่ม สำหรับกรอกรายละเอียดการใช้รถไปไหนมาไหนอย่างน้อย 1-2 หน้า

เนื่องจากรถป้ายแดงเป็นรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน สามารถนำมาหมุนเวียนใช้กันได้ และสังเกตยากในช่วงกลางคืน กฎหมายจึงห้ามขับตอนกลางคืน หรือหลังพระอาทิตย์ตกดิน ถ้าจะขับตอนค่ำมืดต้องขออนุญาตโดยกฎเดิม
ปัจจุบันยังมีการบังคับใช้อยู่ คือ
  • ทุกครั้งที่ใช้รถเดินทาง ต้องกรอกรายละเอียดในรายการใช้รถในสมุดคู่มือฯ ให้ครบถ้วน 
  • สามารถใช้รถได้เฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก (เวลากลางวัน) เท่านั้น (ไม่ใช่ 06.00 - 18.00 น.) 
  • หากจะใช้รถตอนกลางคืน เวลาพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น ไม่ว่าจะค่ำหรือเช้ามืด จะต้องขอรับอนุญาตจากนายทะเบียน (จะต้องมีลายเซ็นนายทะเบียนของทางราชการในรายการใช้รถ) หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 10,000 บาท
การโอนรถ
หลังจากที่ดำเนินการรับรถแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการโอนรถ เพื่อให้รถเป็นของคุณโดยสมบูรณ์ หากคุณซื้อรถด้วยเงินสด คุณสามารถเลือกได้ว่าจะดำเนินการโอนรถเอง หรือให้ทางเซลล์/ดีลเลอร์ ดำเนินการให้ (เพราะยังไงก่อนที่คุณจะได้ป้ายขาว ปกติเซลล์/ดีลเลอร์ ก็ต้องดำเนินการเรื่องทะเบียนให้คุณอยู่แล้ว พร้อมกับรอให้คุณนำป้ายแดงมาคืน) แต่หากว่าซื้อรถเงินผ่อน ก็ต้องเป็นหน้าที่ของไฟแนนซ์จัดการ โดยจะมีค่าดำเนินการที่ต้องจ่ายเพิ่ม หลังจากตกลงเรื่องการชำระเงินเรียบร้อยว่าใครจะเป็นคนจ่ายค่าโอนแล้ว หลักฐานการโอนรถก็ไม่ยุ่งยาก ผู้ซื้อต้องเตรียมเอกสารชุดโอนรถจากโชว์รูมที่ซื้อ ทะเบียนรถ บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบขับขี่ หนังสือสัญญา จะซื้อจะขาย (ถ้ามี) จำนวนเงินที่ซื้อขายต้องตกลงเพราะจะเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการโอน ฝ่ายผู้ซื้อก็ต้องเตรียมเหมือนกับผู้ขาย แล้วนำรถไปตรวจสภาพ ยื่นคำร้อง จดทะเบียนที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก
ค่าใช้จ่ายในการโอนรถ
  1. ค่าอากร 10,000 ละ 50 บาท (10,000 คือราคารถที่เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพที่ขนส่งประเมิน รถแต่ละคันราคาไม่เท่ากัน จะต่ำกว่าราคาซื้อขายอยู่พอสมควร ลองคำนวณดูว่าราคารถเท่าไหร่ จะได้เตรียมเงินไปเสียภาษีถูก) 
  2. ค่าธรรมเนียมการโอน 105 บาท
  3. ค่าสมุดเล่มทะเบียน 100 บาท
  4. ค่าป้ายทะเบียนรถ 200 บาท
ค่าใช้จ่ายและการบำรุงรักษารถป้ายแดง
ตามปกติแล้ว รถยนต์ใหม่ที่ออกจากโชว์รูม ทางบริษัทรถย่อมต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย่างน้อยการรับประกันรถในยุคปัจจุบันนั้นตั้งแต่ 3-5 ปี หรือ 100,000-300,000 กิโลเมตร แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจะถึงก่อน บางยี่ห้อก็ไม่จำกัดระยะทาง แต่ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ต้องจ่ายเอง อาทิ ค่าน้ำมันเครื่อง ยาง อะไหล่ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากรถที่คุณซื้อมา ไปตกแต่งหรือติดตั้งอะไรที่ผิดไปจากเงื่อนไข อาทิ เอารถไปติดแก๊ส ซึ่งติดได้ครับ แต่ประกันตัวเครื่องยนต์รถคุณก็จะขาดทันที เพราะหากรถเกิดอะไรขึ้นแล้ว ทางบริษัทรถที่คุณซื้อมาไม่รับผิดชอบ
สำหรับรถใหม่ป้ายแดง หลายๆ บริษัทรถยนต์มักจะแนะนำให้ผู้ใช้นำรถยนต์ วิ่งตามระยะ รัน-อิน ใน 1,000 กิโลเมตรแรก และนำรถเข้าดูแลรักษาในศูนย์บริการตามระยะทาง หรือตามเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปจะแนะนำให้นำรถมาเข้าตรวจเช็คทุกๆ ระยะทาง 5,000 กม. หรือ ทุกๆ ระยะเวลา 3 เดือน (แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน) เพื่อความมั่นใจในการใช้งานรถของคุณ ปัญหารถเสีย หรือมีปัญหาระหว่างการใช้งานก็มีน้อยลงไป และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย อีกทั้งค่าบำรุงรักษาก็ยังถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด
การบำรุงรักษารถยนต์ป้ายแดง แบบง่ายๆ นอกเหนือจากการเข้าศูนย์บริการตามกำหนดอย่างเดียวนะครับ ควรดูแลรักษารถด้วยตัวเองบ้าง อย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อ 1 สัปดาห์ ก็ยังดี
  • เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 5,000 กิโลเมตร (ถึงแม้ว่าในคู่มือจะบอกว่าไปได้ไกลกว่านี้ หรือว่าน้ำมันเครื่องจะเป็นแบบรุ่นใหม่ ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานเกินกว่า 5,000 กิโลเมตรก็ตาม) ส่วนไส้กรองน้ำมันเครื่องควรเปลี่ยนทุก 10,000 กิโลเมตร
  • ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้ถูกต้องตามกำหนดให้ได้ตามคู่มือ หรือในโบรชัวร์รถ เช่น อ๊อกเทน 91, 95 แก๊สโซฮอลล์ 91, 95 ควรใช้ให้เหมาะสม 
  • ตรวจดูระดับน้ำในหม้อน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง 
  • ตรวจดูลมยางให้ได้ความดันตามที่กำหนด (ส่วนใหญ่จะมีสติ๊กเกอร์ติดอยู่ที่เสากลางตัวรถข้างคนขับ) โดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยของความดันลมยางของรถเก๋ง จะประมาณ 28-30 ปอนด์/ตารางนิ้ว ส่วนรถกระบะ จะประมาณ 35-40 ปอนด์/ตารางนิ้ว (ขับขี่ทั่วไปไม่บรรทุกหนัก) ควรตรวจดูบ่อยๆ ตามความจำเป็นในการเดินทางไกล หรือการบรรทุกน้ำหนัก
  • เปลี่ยนหัวเทียนทุกๆ ระยะ 15,000-20,000 กิโลเมตร 
  • ตรวจดูไส้กรองอากาศว่าสะอาดดีหรือไม่ มีรูหรือไม่ 
  • ตรวจดูมาตรวัดต่างๆ ที่จำเป็น ว่ายังใช้งานได้ดีหรือไม่ เพราะสามารถบอกความผิดพลาดของรถยนต์ได้เป็นอย่างดี 
  • ตรวจดูน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ว่าอยู่ในระดับหรือไม่ ดูได้จากด้านข้างของหม้อแบตเตอรี่จะมีขีดกำหนดอยู่ 2 ขีดคือ ขีดบนและขีดล่าง อย่าให้ระดับน้ำกลั่นต่ำกว่าขีดล่างเพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสียได้  ควรรักษาความสะอาดขั้ว บนฝา และรอบๆ ให้สะอาดและแห้งอยู่ตลอดเวลา ถ้าส่วนบนของแบตเตอรี่สกปรกให้ใช้ผ้าชุบน้ำแล้วเช็ดให้สะอาด จะล้างน้ำก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในตัวแบตเตอรี่ ( ควรทำความสะอาดแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ที่สำคัญ ระวังน้ำกลั่นหกหรือล้นออกมา หากโดนตัวรถจะทำให้รถเราสีซีดหรือตัวถังผุได้) 
  • สังเกตพื้นที่เราจอดรถยนต์ไว้ ว่ามีน้ำหรือน้ำมันเครื่องหยดลงมาเลอะพื้นหรือไม่ แล้วดูว่าหยดลงในตำแหน่งใด จะบอกเราได้ว่าส่วนใดของรถที่เกิดการสึกหรอแล้วรั่วซึม 
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย ตามที่คู่มือกำหนด 
  • ตรวจดูน้ำมันเบรกที่อยู่ในกระป๋องว่ายุบเร็วกว่าปกติหรือไม่ หากยุบเร็วอาจเกิดการรั่วซึมก็ได้ ถ้าน้ำมันเบรกลด ควรเติมให้อยู่ในระดับ MAX ดีที่สุด 
  • ตรวจดูระบบไฟในรถยนต์ว่ายังใช้การได้ดีอยู่หรือไม่
ค่ายรถยอดนิยมในบ้านเรา

หากกล่าวกันถึงรถใหม่ที่ได้รับความนิยมตามท้องตลาดแล้ว ในประเทศไทยจะนิยมรถญี่ปุ่น และรถยุโรป (จากฝั่งเยอรมนี) เป็นส่วนใหญ่ ที่ใช้งานแล้วคุ้มค่าคุ้มราคา ราคาขายไม่ร่วงมาก เจ้าตลาดที่เป็นอันดับ 1 อย่าง โตโยต้า ไม่ว่าจะออกอะไรมา ก็ขายได้หมด ไม่ว่าจะรถเก๋ง รถปิคอัพ ทุกไลน์การผลิต ทุกอย่างขายได้หมด ซึ่งโตโยต้าก็ประสบความสำเร็จด้านการตลาดในไทยมานานกว่า 40 ปี หลังจากการเข้าบุกเบิกตลาดในไทยได้ไม่นาน ส่วนยี่ห้อที่เป็นพระรองลงมาก็จะเป็น อีซูซุ และ มิตซูบิชิ ที่โดดเด่นในเรื่องรถกระบะ ฮอนด้า โดดเด่นในเรื่องของรถเก๋งขนาด Sub-Compact และ นิสสัน ที่โดดเด่นในเรื่องของรถเก๋ง ECO-CAR และรถกระบะ ในส่วนของมาสด้า ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมในรถเก๋งเช่นเดียวกัน และส่วนญี่ปุ่นยี่ห้ออื่นก็ได้รับความนิยมรองๆ ลงไป โดยเป็นรถที่เล่นกันเฉพาะกลุ่มบ้าง หรือเฉพาะการใช้งาน เช่น ไดฮัทสุ กับ ซูซูกิ จะได้รับความนิยมเฉพาะรถเล็ก (แบบ K-CAR ที่เคยประกอบขายในนี้ นำเข้าโดยบริษัท และรถจดประกอบเอาเข้ามา) รถใหญ่จาก 2 ค่ายนี้จะไม่ค่อยเห็นมีวิ่งตามท้องถนนเท่าไหร่ และซูบารุ ที่แต่เดิมก็ได้รับความนิยมจากรถเล็กเช่นเดียวกัน จนหลายๆ คนเรียกรถกะป๊อว่า "รถซูบารุ" จนติดปาก แต่ในปัจจุบัน ซูบารุจะเน้นหนักไปทางขายความเป็นรถสปอร์ต รถราคาค่อนข้างแพง ลูกค้าก็จะเป็นระดับกลุ่มคนมีฐานะ เป็นต้น

ทางฝั่งรถยุโรปที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา แน่นอน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่เป็นที่พูดถึงกันมามากมายหลายสิบปี รวมไปถึง BMW, โฟล์คสวาเกน และ ออดี้ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นเดียวกัน แต่หากจะพูดถึงบรรดา "รถยอดนิยม" ในบ้านเราแล้ว จะมีอยู่แค่ 2-3 ประเภทหลักๆ นั่นคือ รถเก๋ง, รถกระบะ และรถ SUV
เหตุผลและรสนิยมของคนที่นิยมรถในแต่ละสัญชาติของคนไทย
รถญี่ปุ่น
ข้อดี เป็นรถที่คนนิยมมาก มีจุดเด่นเรื่องราคาที่ไม่แพง หน้าตาสวยถูกใจคนไทย คุณภาพชิ้นงานดี ทนทาน ศูนย์บริการ และอะไหล่สำรองมากมาย ทั้งมือหนึ่งและมือสอง
ข้อเสีย เรื่องอุปกรณ์ติดรถ ระบบความปลอดภัยอาจน้อยกว่ารถบางสัญชาติ กับบริการหลังการขายของบางโชว์รูม และความรับผิดชอบของบริษัทแม่ในกรณีรถมีปัญหา ที่อาจจะไม่ประทับใจผู้ใช้บริการซักเท่าไหร่
รถเกาหลี
ข้อดี เทคโนโลยีไม่เป็นรองใคร รถบางรุ่นดีกว่ารถญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แถมราคายังถูกกว่ามาก ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มรถตู้ MPV ขนาดใหญ่
ข้อเสีย ราคาอะไหล่แพง ศูนย์บริการมีน้อย เวลาขายต่อราคาตกค่อนข้างเยอะ เนื่องจากค่านิยมของผู้ใช้รถส่วนใหญ่ ไม่ประทับใจกับตัวดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถเกาหลีมากนัก ทำให้ตัวรถเลยไม่ได้รับความนิยมไปด้วย
รถยุโรป
ข้อดี หรูหรา ระบบความปลอดภัยสูง ระบบช่วงล่างเกาะถนน ขับสนุก ให้คุณค่า และสถานะทางสังคมแก่เจ้าของรถสูง
ข้อเสีย ราคาสูง ค่าบำรุงรักษาแพง ราคาอะไหล่แพงมาก
รถอเมริกัน (เฉพาะรถนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ไม่นับ Ford และ Chevrolet ที่ประกอบขายในไทย)
ข้อดี แข็งแรงทนทาน เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ความปลอดภัยสูง
ข้อเสีย นำเข้ามาน้อย อะไหล่หายาก ราคาขายต่อตกเยอะ
รถมาเลเซีย
ข้อดี เทคโนโลยีใกล้เคียงกับรถญี่ปุ่น เพราะมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกันหลายอย่างตั้งแต่ในอดีต และราคายังถูกกว่ามาก
ข้อเสีย การประกอบไม่ดี วัสดุคุณภาพชิ้นงานภายในไม่ดี ราคาอะไหล่แพง และศูนย์บริการน้อย
การเลือกซื้อรถยนต์ดูเหมือนง่าย แต่ก็มีอีกหลายอย่างตามมาหลังจากที่เราซื้อรถยนต์มาใช้ ไม่ใช่เพียงรูปทรงและสมรรถนะ สวยงามเท่านั้น ต้องคำนึงถึงการใช้งานระยะยาว บริการหลังขาย และค่าซ่อมบำรุง และอาจรวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ว่ามีให้ได้เลือกหามากน้อยเพียงใดอีกด้วยครับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
CAR GURU
เขียนโดย เช็คราคา.คอม CAR GURU

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)