เงินฝากสีเขียว (Green Deposit) เป็นการออมเงิน หรือการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากเป็นเงินฝากปกติ ธนาคารจะนำเงินไปลงทุนหรือปล่อยสินเชื่อให้กับคนทั่วไป หรือสินเชื่อธุรกิจต่างๆ แต่หากเป็นเงินฝากสีเขียว ธนาคารจะนำเงินไปลงทุน หรือปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ESG คืออะไร
ESG ย่อมาจาก "Environmental, Social, and Governance" เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินความยั่งยืนและผลกระทบทางสังคมของการลงทุนในองค์กรหรือโครงการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่ต้องการการลงทุนที่ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักๆ ดังนี้
1. Environmental (สิ่งแวดล้อม) หมายถึง การประเมินผลกระทบที่องค์กรมีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการของเสีย การใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์ธรรมชาติ
2. Social (สังคม) หมายถึง การพิจารณาถึงผลกระทบที่องค์กรมีต่อสังคม รวมถึงการดูแลพนักงาน การส่งเสริมความเท่าเทียม การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงาน การส่งเสริมความปลอดภัยและสุขภาพ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรและชุมชน
3. Governance (การกำกับดูแล) หมายถึง การประเมินการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลองค์กร เช่น โครงสร้างคณะกรรมการ การบริหารความเสี่ยง ความโปร่งใสในการดำเนินงาน การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และการป้องกันการทุจริต
ข้อดี - ข้อเสีย ของเงินฝากสีเขียว
ข้อดีของเงินฝากสีเขียว
วัตถุประสงค์ของเงินฝากสีเขียวก็เพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อดี ดังนี้
- เป็นส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเงินฝากสีเขียวจะช่วยสนับสนุนโครงการ และธุรกิจที่มีการดำเนินงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
- สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน เงินฝากสีเขียวมักมีความเสี่ยงต่ำในระยะยาว เนื่องจากมีการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบ และมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
- ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วยส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ลงทุน และอาจมีผลดีต่อธุรกิจในแง่ของการตลาด และความสัมพันธ์กับลูกค้า
- สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เงินฝากสีเขียวช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแรงจูงใจให้กับธุรกิจอื่นๆ ให้หันมาดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ข้อเสียของเงินฝากสีเขียว
- ผลตอบแทนอาจต่ำกว่า บางครั้งผลตอบแทนจากเงินฝากสีเขียวอาจต่ำกว่าเงินฝากทั่วไป เนื่องจากการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจมีค่าใช้จ่ายสูง
- ข้อจำกัดในการลงทุน อาจมีข้อจำกัดในการเลือกโครงการหรือกิจกรรมที่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
- ความเสี่ยงจากโครงการ แม้ว่าโครงการสีเขียวจะมีความเสี่ยงต่ำในระยะยาว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาครัฐหรือการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น
- ความไม่แน่นอนในตลาด ตลาดสำหรับโครงการสีเขียวยังอยู่ในช่วงการพัฒนา ซึ่งอาจมีความไม่แน่นอนในด้านความต้องการและการสนับสนุนทางการเงิน
ความแตกต่างของเงินฝากทั่วไป และเงินฝากสีเขียว
เงินฝากทั่วไป | เงินฝากสีเขียว |
ธนาคารจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ หรือธุรกิจทั่วไป รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล | ธนาคารจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น ธุรกิจด้านการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น |
ชี้เป้า...ธนาคารที่เปิดตัวบริการเงินฝากสีเขียว
1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Deposit) บัญชีเงินฝากประจำเพื่อใช้สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) และได้รับความไว้วางใจจาก โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ในฐานะบริษัทแรกในประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน
ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน เป็นบัญชีเงินฝากประจำสกุลเงินไทยบาท สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยมียอดขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท และมีการระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สำหรับสนับสนุนโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) ของกรุงศรี อาทิ สินเชื่อเพื่อสังคม เพื่อใช้ในโครงการสนับสนุนการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือสินเชื่อสีเขียว เพื่อใช้ในโครงการที่สนับสนุนด้านพลังงานสะอาด เป็นต้น
2. ธนาคารยูโอบี
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียว (Green Term Deposit) ในสกุลเงินบาท สกุลเงินเหรียญสิงคโปร์ และสกุลเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าองค์กรและลูกค้าสถาบันรายใหญ่มีส่วนร่วมในโครงการที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
3. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ "เงินฝากสีเขียว" (Green Deposits) ทั้ง สกุลเงินบาท และ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดหาเงิน และการปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Financing Framework) โดยมี ISS Corporate Solutions (ISS-ESG) เป็นผู้สอบทานภายนอก ตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับสากล พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม (ESG Financial Solution) จับมือบริษัท ปตท.และ ปตท.สผ. ลงนาม "โครงการบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงเป้าหมายด้าน ESG ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียว" ครั้งแรกในประเทศไทย
ธนาคารจะนำเงินฝากสีเขียวจาก ปตท. และ ปตท.สผ. ไปให้สินเชื่อที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โครงการขนส่งด้วยพลังงานสะอาด (Clean Transportation) โครงการอาคารสีเขียว (Green Building) อีกทั้งมีการตั้งเป้าตัวชี้วัดด้าน ESG โดยธนาคารจะสนับสนุนผลตอบแทน หรือคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม หาก ปตท. และ ปตท.สผ. ดำเนินงานตามเป้าหมาย ESG ได้สำเร็จ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้ง 3 องค์กรในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาวในทุกภาคส่วน
4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
EXIM BANK มีแผนจะเสนอขายบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่รับรองโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เป็นครั้งแรกในประเทศไทย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาทภายในปี 2567 โดยเริ่มออกเสนอขายรุ่นแรกในเดือนเมษายนจำนวน 1,300 ล้านบาท
เงินที่ได้จากการออกบัตรเงินฝากสีเขียวจะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสีเขียว รวมถึงกิจการที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ EXIM Green Start, Solar D-Carbon Financing และ Green Guarantee เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้ง Ecosystem มากที่สุด
สรุปแล้ว สำหรับผู้ที่มีจุดประสงค์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม เงินฝากสีเขียวก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีค่ะ เพราะช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะช่วยสนับสนุนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม ทำให้ “เงินฝากสีเขียว”เป็นการลงทุนที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.krungsri.com, www. moneyandbanking.co.th, www.krungthai.com, www.exim.go.th